ประธานคณะกรรมการพัฒนาเพื่อความมั่นคง ในระดับพื้นที่ทัพเรือภาคที่ 1 กองทัพเรือ เปิดประชุมคณะกรรมการ เขตรับผิดชอบพื้นที่อ่าวไทยตอนบน 11 จังหวัด 2 เขตปกครองพิเศษ 6 หน่วยงานความมั่นคง กำหนดมาตรการ และแนวทางการพัฒนาพื้นที่ ต้องประเมิน ติดตาม ขยายผล บังคับใช้ตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด แรงงานเถื่อนอาจนำพาการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด 19 สะกัดเส้นทางการลำเลียงยาเสพติดข้ามชาติ เพื่อเสริมความมั่นคงอย่างยั่งยืน
พลเรือโท โกวิท อินทร์พรหม ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 กองทัพเรือ และประธานคณะกรรมการพัฒนาเพื่อความมั่นคงในระดับพื้นที่ในเขตทัพเรือภาคที่ 1 ได้เป็นประธานในการเปิดประชุมคณะกรรมการ โดยมีผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัด ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สมุทรปราการ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี ตราด และผู้แทนจาก กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา พร้อมทั้ง สภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน กรมกิจการชายแดนทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย และกองทัพภาคที่ 1 กองทัพบก ณ ห้องประชุม โรงแรมโคโคนัท บีท รีสอร์ท เกาะช้าง จว.ตราด ครั้งที่ 1 ประจำปี 2564 เพื่อกำหนดมาตรการ แนวทางการพัฒนาพื้นที่ เสริมความมั่นคง โดยร่วมกันพิจารณาเพื่อขับเคลื่อนแผนพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้ความสำคัญโครงการที่สามารถแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้อย่างตรงประเด็น อีกทั้งต้องติดตาม พัฒนา ขยายผล ประเมินผล รักษาจนกว่าภารกิจจะบรรลุผลสำเร็จ
พลเรือโท โกวิท อินทร์พรหม กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้เป็นครั้งแรกของปี 2564 เพื่อเป็นการบูรณาการสรรพกำลังในเขตรับผิดชอบของคณะกรรมการพัฒนาเพื่อความมั่นคงในระดับพื้นที่ในเขตทัพเรือภาคที่ 1 เพื่อช่วยกันกำหนดทิศทาง เป้าหมาย บูรณาการ แนวทางการขับเคลื่อน กิจกรรมทางทะเลทั้งทางตรงและทางอ้อม ในระยะสั้น และระยะยาว ที่สามารถขับเคลื่อนแก้ไขในพื้นที่ที่ส่งผลต่อความมั่นคงทางทะเล ทั้งในเชิงป้องกัน ป้องปราม แก้ไขปัญหา เพื่อผลสัมฤทธ์ในเป้าประสงค์ให้ประชาชน ชุมชน ร่วมกันช่วยเสริมสร้างพื้นฐานทางทะเลให้เกิดความมั่นคง ยั่งยืน โดยเฉพาะทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ให้เกิดระบบการบริหารจัดการ การควบคุมให้เกิดความสมดุล ประชาชนตระหนักรู้ ให้ความสำคัญทะเล รวมถึงการปลุกจิตสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงได้รับทราบถึงสิทธิ หน้าที่ พระราชบัญญัติ กฎหมายที่เกี่ยวข้องซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องในระดับสากล
และกล่าวอีกว่า สำหรับผลการประชุมในวันนี้ ได้รับทราบปัญหาของแต่ละจังหวัดแตกต่างกันไปตามภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ ตลอดจนแนวทางการแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน ต่อเนื่องไปสู่อนาคตได้อย่างเป็นรูปธรรม ยังมีปัญหาอีกมากมายที่มีแนวโน้มในเรื่องผลกระทบภาพรวมของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการพัฒนาของประเทศเพื่อนบ้านที่รุดหน้าไปไกล ส่วนปัญหาทางด้านหัวเมืองชายฝั่งทะเลก็คือ การเฝ้าระวังพื้นที่ทับซ้อนกับประเทศเพื่อนบ้าน การกัดเซาะชายฝั่ง การบุกรุกที่ดินสาธารณะ พื้นที่ป่าชายเลน การทิ้งขยะลงทะเล ส่วนในทะเลเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกฝ่ายต้องตระหนักรู้ในเรื่องผลกระทบ อุปสรรคในเรื่องการปฏิบัติการทางทหาร โดยเฉพาะเรื่องการทิ้งปะการังเทียมในทะเลจะต้องผ่านการพิจารณาในระดับจังหวัดที่รับผิดชอบ และกองทัพเรือ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสิ่งกีดขวางเส้นทางเดินเรือในระดับน้ำตื้น และน้ำลึก ถ้ามีสิ่งกีดขวางในทะเล จะยากต่อการพิสูจน์ทราบ เมื่อเกิดวิกฤติด้านการทหารทางทะเล เพราะภารกิจทางการทหารยังมีหน้าที่อีกมากมายในการตรวจทั้งผิวพื้น และใต้ทะเล อีกทั้งได้เน้นย้ำในเรื่องของการเฝ้าระวัง การปฎิบัติการเชิงรุกในเรื่องของการปราบปรามยาเสพติดที่มีการลำเลียงทางทะเล สู่ประเทศที่สาม อีกด้วย