ศูนย์กีฬาบางกอกอารีน่า หนองจอก ถือเป็นสนามกีฬาในร่มของประเทศไทย ที่ได้รับการกล่าวอ้างว่าหากสร้างเสร็จจะถือเป็นสนามที่ได้มาตรฐานสูงในเอเชีย พื้นที่สนามกว้างขวาง 50ไร่ จุดประสงค์ที่ตั้งไว้เพื่อจัดการแข่งขันกีฬาฟุตซอลชิงแชมป์โลก ครั้งที่ 7พ.ศ.2555 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยกทม.ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ก่อสร้างภายใต้งบประมาณ 1,239ล้านบาทที่จัดสรรมาให้ โครงการนี้มีปัญหามากมายสารพัด จน กทม.ต้องเร่งงานก่อสร้างหามรุ่งหามค่ำ 24 ชม. ชนิดไฟลนก้นเต็มพิกัด ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานามากมาย และเมื่อฟีฟ่ามาตรวจมาตรฐานสนาม ประกาศยกเลิกการใช้สนามแห่งนี้แข่งขัน ด้วยไม่มีความปลอดภัย จึงตามมาด้วยกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานาชนิดถล่มทลาย ว่าทั้งทำให้สูญเสียเงินงบประมาณไปอย่างน่าเสียดาย และทั้งทำประเทศไทยเสียฟอร์มไปไม่น้อย ผ่านมาเกือบ 5 ปี ถึงวันนี้สนามแห่งนี้เป็นเช่นไร ได้ใช้ประโยชน์ไปมากน้อยแค่ไหน... เฉลิมพล โชตินุชิต ผอ.สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กทม.ได้มีคำตอบ โดยว่า สนามฟุตซอลบางกอกอารีน่า หนองจอกนี้เปิดให้ใช้บริการได้ประมาณปี 2558 แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังใช้ประโยชน์ได้ไม่คุ้มค่านัก ยังต้องมีการตรวจรับส่งมอบงานอีกหลายรายการที่ยังไม่แล้วเสร็จ รวมไปถึงแนวทางจัดทำแผนการใช้ประโยชน์สนาม ระเบียบการใช้ แนวทางประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้จักสนามแห่งนี้อย่างแพร่หลาย ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ในการสร้างนั้นชัดเจนอยู่แล้ว แต่เมื่อต้องเร่งมือสร้างจากเดิมต้องใช้เวลา500วัน ก็เร่งรัดให้เหลือ250วัน ทำให้ต้องตัดงานบางส่วนออกไป เช่น สร้างลานจอดรถ สนามฝึกซ้อม เป็นต้น ส่งผลให้เมื่อเปิดใช้จริงจึงเกิดปัญหาที่จอดรถที่ตอนนี้รองรับได้ 160คันโดยประมาณเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงหากเราจัดการแข่งขันระดับนานาชาติเป็นไปไม่ได้เลยที่จะรองรับประชาชนหรือกองเชียร์ได้สมบูรณ์ แม้ กทม.จะได้รับอนุเคราะห์จากหน่วยงานของเราเองที่มีพื้นที่เชื่อมกับสนามใช้เป็นที่จอดรถได้ทั้งศูนย์ฝึกอบรมข้าราชการกทม.และศูนย์ฝึกอาชีพ รวมก็ได้ที่จอดรถประมาณ500คัน ทำให้การใช้ประโยชน์สนามทำได้ไม่ดีนัก ผอ.สำนักวัฒนธรรมฯยอมรับว่า “วันนี้สนามแห่งนี้เหมือนสร้างเสร็จแต่ไม่สมบูรณ์ ยังมีงานที่ต้องปรับทำอีกมาก แต่เราก็ต้องพยายามให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่าที่สุด ซึ่งตัวผู้รับเหมาก็ดีไม่ได้หนีหายไปไหน พยายามช่วยกันแก้ปัญหากันไป หากย้อนไปก็คิดว่าเป็นเรื่องที่ดีที่กทม.จำเป็นต้องมีฮอลล์ดีๆ เป็นหน้าเป็นตา ที่ไม่จำเป็นต้องใช้สำหรับแข่งกีฬาเท่านั้น ยังใช้ประโยชน์เรื่องอื่นๆ ได้ เพียงแต่ต้องวางแนวทางให้ดี เพราะทุกวันนี้ค่าธรรมเนียมถูกมาก3ชั่วโมง600บาท หากใช้ทั้งวันไม่คุ้มค่าไฟที่ใช้วันละเป็นแสน กทม.ขาดทุน จึงต้องแก้ข้อบัญญัติเพื่อกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมที่เป็นธรรม สมดุลกับการใช้ประโยชน์” อย่างไรก็ตาม สนามแห่งนี้มีศักยภาพมาก สามารถจัดแข่งขันกีฬาในร่มชนิดอื่นๆ อาทิ ปิงปอง เทควันโด แบดมินตัน รวมไปถึงจัดแสดงสินค้า คอนเสิร์ต ซึ่งหากเราต้องพัฒนาให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์เดิมก็จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องเพิ่มที่จอดรถเข้าไปเพื่อรองรับ สำหรับปัญหาอีกอย่างที่อาจจะนอกเหนืออำนาจ กทม.ไปคือ การจัดระบบขนส่งสาธารณะเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสนาม เพราะปัจจุบันมีรถเมล์ผ่านเพียงสายเดียว จึงจำเป็นต้องจัดระบบขนคนเข้าสู่สนามได้อย่างไม่ติดขัด โดยกทม.สามารถทำได้ เช่น จัดรับส่งโดยใช้รถชัตเตอร์บัสจากศูนย์กลางเมืองเข้าสู่สนาม “เราพยายามให้ใช้สนามอย่างหลากหลายเท่าที่จะทำได้ ส่งเสริมให้หน่วยงานกทม.ใช้สนามแห่งนี้จัดแข่งกีฬาภายใน ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดี ซึ่งตั้งแต่ปี 2559 เรื่อยมาก็มีการใช้สนามฟุตซอลอารีน่ามากขึ้น ซึ่งตอนนี้ได้หารือกับสมาคมฟุตซอล เพื่อให้มาจัดแข่งขันที่สนามบางกอกอารีน่า หนองจอกด้วย” ผอ.เฉลิมพลยังเผยต่อว่า ทิศทางพัฒนาต่อจากนี้ ภายหลังกทม.ประกาศให้เป็นศูนย์กีฬาอีกแห่ง เพื่อให้เป็นศูนย์ฝึกกีฬาฟุตซอลของกทม.ครบวงจร ก็มีแนวคิดใช้พื้นที่ทำเป็นโรงเรียนกีฬากทม. เพราะอาคารสถานที่พร้อม ขณะสภากทม.เสนอแนวทางมาว่า หากจะทำโรงเรียนกีฬากทม.ก็ใช้อาคารของศูนย์ฝึกอบรมข้าราชการ กทม.ที่อยู่ด้านข้างมาใช้ให้เกิดประโยชน์ แต่ทางศูนย์ฝึกอบรมฯก็ต้องไปใช้สถานที่ใหม่ ซึ่งสภากทม.มองว่า ที่ผ่านมาศูนย์แห่งนี้แทบจะไม่ใช้ประโยชน์อะไรเมื่อมีการอบรมส่วนใหญ่ก็ไปอบรมที่โรงแรมไม่เคยมาใช้สถานที่เลย “หากเปลี่ยนเป็นโรงเรียนกีฬาจะเหมาะสมกว่า โรงเรียนกีฬากทม.ก็จะเป็นโรงเรียนกีฬาอย่างแท้จริง ไม่ใช่ฝากเด็กไปเรียนกับโรงเรียนในสังกัดเหมือนเช่นทุกวันนี้ เด็กที่จบก็จะมีรุ่นพี่รุ่นน้องโรงเรียนกีฬา สามารถมาแบ่งปันประสบการณ์ในอาชีพกีฬากันได้” ผอ.สำนักวัฒนธรรมกล่าวทิ้งท้าย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น…สุดท้ายแล้วสนามฟุตซอลบางกอกอารีน่า จะกลายเป็นที่บ่มเพาะนักกีฬารุ่นใหม่ภายใต้โรงเรียนกีฬากทม.ได้หรือไม่นั้น ก็ต้องจับตามองกันต่อไป… “นารีนาฏ ภัยวิมุติ”