จากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบโครงการส่งเสริมการผลิตครู ที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) ระยะที่ 4 (พ.ศ. 2564 - 2567) ของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อผลิตครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี (SMT) ที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ระบบโรงเรียนมัธยมศึกษา ให้ทันกับแผนความต้องการข้าราชการครูของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยมีเป้าหมายผลิตครู SMT คุณภาพบรรจุ ในสถานศึกษาของ สพฐ. ทุกจังหวัดทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พศ. 2566 - 2573 รวม 1,200 คน มีเป้าหมายบรรจุครู ปีละ 150 คน โดยให้ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ดำเนินงานภายใต้งบประมาณ 1,654.98 ล้านบาท แบ่งเป็น งบทุนการศึกษาประมาณ 1,377 ล้านบาท และงบดำเนินงานประมาณ 278 ล้านบาท คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า โครงการนี้มีระยะเวลา 10 ปี เพื่อสร้างบุคลากรครูผู้สอนวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ วุฒิปริญญาโทหรือ ครู SMT คุณภาพรุ่นใหม่ ทดแทนบุคลากรเกษียณอายุราชการและโยกย้ายภูมิลำเนา โดยมีหลักสูตรเฉพาะที่มุ่งพัฒนาทักษะสำคัญต่าง ๆ โดยเฉพาะในด้าน Coding การทำวิจัยในชั้นเรียน และการนำการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ หรือใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาพัฒนาการเรียนการสอน เพื่อส่งเสริมสมรรถนะวิทยาศาสตร์ สู่การปรับเปลี่ยนแนวคิดทางการศึกษาวิถีใหม่ เพื่อให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 - 2580) ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ที่ต้องการเปลี่ยนโฉมบาทบาทครูให้เป็นครูยุคใหม่ สำหรับแผนการดำเนินงานโครงการ สควค. ระยะที่ 4 ในส่วนทุนการศึกษาแบ่งเป็น 2 รูปแบบคือ รูปแบบที่ 1 ทุนระดับปริญญาตรี-โท รวม 600 ทุน โดยสรรหาคัดเลือกผู้รับทุนตั้งแต่ปี 2564 - 2567 ให้เข้าศึกษาในคณะวิทยาศาสตร์ในระดับปริญญาตรี และศึกษาต่อเนื่องในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ในระดับปริญญาโท และรูปแบบที่ 2 ทุนระดับปริญญาโท รวม 600 ทุน โดยสรรหาคัดเลือกผู้รับทุนตั้งแต่ปี 2564 - 2567 จากผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อศึกษาต่อในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ในระดับปริญญาโท ส่วนงบดำเนินงาน จะเป็นการลงทุนเพื่อสร้างความร่วมมือและความเข้มแข็งของโครงการ ซึ่งเกี่ยวข้อง สถาบันผลิตครู (คณาจารย์ อาจารย์นิเทศก์) โรงเรียนฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู (ครูพี่เลี้ยง) และเครือข่ายวิชาการครู สควค. ระดับภูมิภาค (เหนือ กลาง ใต้ ตะวันออกเฉียงเหนือ) โดยมี สสวท.เป็นผู้พัฒนา โปรแกรมเสริมทักษะเพิ่มเติมที่สอดคล้องกับสมรรถนะทางวิชาชีพครูเพื่อขอรับใบประกอบวิชาชีพครูของคุรุสภา ทั้งนี้ ภายใต้การกำกับดูแลของคณะอนุกรรมการบริหารโครงการ สควค. จำนวน 2 คณะ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการกำหนดนโยบายการดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เรียบร้อยแล้ว “ครูรุ่นใหม่ภายใต้โครงการนี้จะเป็นครูผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ของเยาวชนไทย ด้วยการเรียนการสอนฐานสมรรถนะอย่างมีมาตรฐาน มีความฉลาดรู้ทั้งเรื่องดิจิทัล วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ มีทักษะรู้เท่ากันสื่อและสารสนเทศ สามารถใช้กระบวนการวิจัยหรือนำองค์ความรู้จากงานวิจัยไปใช้ในการจัดการเรียนรู้และพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษา ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ได้ อดีตครู สควค. ใน 3 ระยะที่ผลิตมาก่อนหน้านี้ก็เป็นกำลังสำคัญของประเทศในการผลักดันการจัดการเรียนการสอน SMT และเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนโครงการด้านการเรียนการสอน เช่น การจัดการเรียนการสอน Coding และโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ เป็นต้น” คุณหญิงกัลยาย้ำความมั่นใจ ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยว่า สสวท. ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) ตั้งแต่ปี 2539 โดยได้ผลิตครูผู้สอนวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ ที่มีความรู้ความสามารถสูง เป็นผู้นำทางวิชาการ ให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนา และยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน ตลอดระยะเวลา 24 ปี ที่ผ่านมา มีผู้สำเร็จการศึกษาทุน สควค. และเข้าปฏิบัติงานในโรงเรียนและหน่วยงานทางการศึกษา 5,397 คน ซึ่งนอกจากได้ปฏิบัติงานสอน พัฒนาและส่งเสริมนักเรียนให้ได้รับรางวัลในเวทีการประกวดต่าง ๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศแล้ว ยังมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการเรียนการสอนของประเทศ โดยร่วมเป็นวิทยากรแกนนำในโครงการต่าง ๆ ของ สสวท. ร่วมเป็นคณะทำงานในโครงการต่าง ๆ ของ สพฐ. พร้อมทั้งโครงการสำคัญต่าง ๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ ครู สควค. ยังได้รับรางวัลหนึ่งครูแสนดี 44 คน รางวัลครูสอนดี ครูดีเด่น ครูดีเยี่ยม ครูดีในดวงใจ 94 คน รางวัล OBEC AWARDS 18 คน รางวัลวิจัยคุรุสภา 9 คน รางวัลครูวิทยาศาสตร์ดีเด่น 4 คน และรางวัลอื่น ๆ อีกจำนวนมาก และบางส่วนได้รับเชิญเป็นกรรมการระดับนานาชาติ ซึ่งการที่ ครม. อนุมัติโครงการ สควค. ระยะที่ 4 เป็นคุณต่อ การพัฒนาการศึกษา SMT ของประเทศอย่างยิ่ง ครู สควค. รุ่นใหม่นี้จะเป็นกำลังสำคัญต่อการจัดการเรียนการสอนฐานสมรรถนะ