ความสำเร็จของพรรคพลังประชารัฐที่เพิ่งตั้ง เป็นครั้งแรก เป็นพรรคใหม่ แต่ก็ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และส่ง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะปฏิวัติ ขึ้นสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรี หลังการเลือกตั้ง ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นในยุคคสช. ทำให้พรรคการเมืองที่ตั้งโดยทหารหรือ พรรคทหาร กำลังถูกมองว่า จะยังคงไปได้ดี ตามรัฐธรรมนูญ 2560 นี้ ที่ยากจะแก้ไข นั้น ส่งผลให้มีทหารหลายกลุ่ม หันมาจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้น แน่นอนว่าความสำเร็จของพรรคพลังประชารัฐ เป็นเพราะเป็นพรรคทหาร พรรคของคสช. พรรคที่พี่น้อง 3 ป.ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ร่วมสนับสนุนในการจัดตั้ง โดยมีนายทหารเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 12 ของ พล.อ.ประยุทธ์ และ เตรียมทหาร 6 ของ พล.อ.ประวิตร เป็นผู้ริเริ่มในการก่อตั้ง รวมกับทีมของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่สำคัญพรรคพลังประชารัฐมีทุนหนา มีผู้สนับสนุนจำนวนมาก เพราะรู้ว่าเป็นพรรคของใคร แล้วในที่สุดเป้าหมายก็คือ การส่งผู้สมัครในการเลือกตั้ง สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ให้เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ร่างชึ้นในยุค คสช. เป็นเครื่องมือสำคัญ กลยุทธ์ในทางการเมืองของพี่น้อง 3 ป.ไม่ใช่แค่นี้ แต่จะเห็นได้จากการเลี้ยง “งูเห่า” ไว้ในพรรคฝ่ายค้าน การสร้างความสัมพันธ์กับส.ส.ของพรรคการเมืองอื่น รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน และพลังดูดที่มีแรงมหาศาล และระบบการแจกกล้วย และแจกงาน ในพื้นที่ ให้ นักการเมืองในพื้นที่ รวมทั้งฝ่ายค้าน พรรคพลังประชารัฐ จึงยังคงอยู่ได้ยังมีนายทุนรายใหญ่ และทุนที่เกิดจาก ระบบพรรคการเมือง และพรรคพวก ที่สำคัญ เป้าหมายของ พรรคพลังประชารัฐ หรือพี่น้อง 3 ป. คือต้องเป็นรัฐบาลคุมอำนาจรัฐ ให้ยาวนานที่สุด สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีให้ยาวนานที่สุดทั้งสมัยนี้ และในสมัยหน้า เพราะถึงอย่างไรการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ไม่น่าจะทันภายในรัฐบาลเทอมนี้ของพล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้นการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ก็จะยังคงใช้กติกาเดิมใช้รัฐธรรมนูญ 2560 นี้ที่ยังคงมีสมาชิกวุฒิสภา 250 คนอยู่ในบทเฉพาะกาล 5 ปีที่ยังจะสามารถช่วยดึง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยที่ 2 ได้อีกครั้ง ปรับเสียงสนับสนุนจากสส. พรรคร่วมรัฐบาลไม่เพียงพอ ดังนั้นอีกอย่างน้อย 6 ปีข้างหน้าก็เชื่อกันว่า พล.อ.ประยุทธ์ในนาม พี่น้อง 3 ป.จะยังคงครองอำนาจต่อไปได้ และอาจจะยาวนานกว่านั้น หาก พล.อ.ประวิตร พี่ใหญ่ และหัวหน้าพรรค ยังคงรักษาพรรคพลังประชารัฐไว้ได้ ไม่ให้มีการแตกแยก แตกตัวออกไป หรือหากพล.อ.ประยุทธ์ สามารถที่จะสร้างคะแนนนิยม ครองใจประชาชน ไปได้ตลอดรอดฝั่ง โดยเฉพาะนโยบายการแจกเงิน แจกสะบัด ที่ถึงยังไงประชาชนก็ชอบ ในอนาคตอีกไม่นาน เราอาจจะได้เห็น พล.อ.ประยุทธ์ ลงเลือกตั้งในนาม ส.ส. บัญชีรายชื่อ หรือ ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคพลังประชารัฐ หรือแม้แต่การเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐด้วยตนเอง หาก พล.อ.ประวิตร ไปต่อไม่ไหวอายุมาก สุขภาพไม่ดี ต้องผันตัวเองไปอยู่เบื้องหลัง ด้วยการมองการณ์ไกลไปเช่นนี้ จึง ทำให้ทหารหลายกลุ่ม หันมาตั้งพรรคการเมืองใหม่ ทั้งแบบออกหน้า และแบบสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ที่ถูกจับตามองมากที่สุดคือพรรคการเมือง ที่ “ปลัดฉิ่ง” ฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่กำลังจะเกษียณตุลาคม 2564 นี้ตั้งขึ้น แม้ ฉัตรชัย จะไม่ใช่ทหาร แต่ทว่าก็ทำงานใกล้ชิดกับพี่น้อง 3 ป.โดยเฉพาะ พล.อ.อนุพงษ์ มายาวนาน ชนิดที่เรียกว่าเป็นมือขวาใกล้ตัว เป็นเสมือนเงาของ พล.อ.อนุพงษ์ และ สามารถสนองคำสั่งของ พล.อ.อนุพงษ์ ได้ดีและรวดเร็วในทุกเรื่อง จึงไม่แปลกที่เมื่อมีข่าวยืนยันว่า ฉัตรชัย เตรียมตั้งพรรคการเมืองไว้แล้วรอเปิดตัว เมื่อเกษียณราชการหลัง 30 กันยายนนี้ จะถูกมองว่าเป็นอีกพรรค สาขาแยกของ พรรคพลังประชารัฐ แม้ว่าพล.อ.อนุพงษ์ จะออกมาปฏิเสธหลายครั้งว่า ตนเองไม่เกี่ยวข้องกับการตั้งพรรคของ ฉัตรชัย เพราะไม่เคยคิดเรื่องนี้ก็ตาม แต่โดยสายสัมพันธ์แล้วก็ทำให้ถูกมองว่าพรรคของ ฉัตรชัย ก็คือพรรคของ 3 ป.นั่นเอง พรรคของ ฉัตรชัย ตั้งขึ้นภายใต้แนวคิดที่จะรวบรวม อดีตข้าราชการที่เป็นคนเก่งคนดีมีฝีมือ มีคอนเน็กชั่น ไม่ว่าจะสีไหนตำรวจ ทหารข้าราชการพลเรือน มาร่วมทำงานกัน เพราะเป็นแนวคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เคยอยากจะตั้ง “พรรคข้าราชการ” ขึ้นมาเพื่อทำงานทางการเมืองต่อ เพราะด้วยความที่ตนเองก็เป็นข้าราชการทหารมองว่าข้าราชการประจำเป็นกลไก สำคัญที่สุดของประเทศ ไม่ใช่นักการเมือง ที่มาเป็นรัฐมนตรี และมีข้าราชการที่เกษียณราชการไปแล้วจำนวนมากที่มีความสามารถและเป็นคนเก่งที่ควรจะได้ทำงานการเมืองเพื่อทำงานให้ประเทศต่อไป ท่ามกลางกระแสข่าวชื่อพรรค “รวมไทย สร้างชาติ” ซึ่งเป็นมอตโต้ในการทำงานของพล.อ.ประยุทธ์ ในปีที่ 2 ของรัฐบาล หลังการเลือกตั้ง ลักษณะจะคล้ายเมื่อครั้งที่มีการเปิดตัวโครงการประชารัฐในรัฐบาลยุคคสช. ที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯยาวนานถึง 5 ปี แล้วมาเปิดตัวโครงการต่างๆที่ใช้ชื่อประชารัฐ นี้ในช่วง 1 ปีสุดท้ายก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ ในนาม รมว.มหาดไทย เป็นเจ้าของโครงการที่ใช้ชื่อประชารัฐต่างๆมากมาย ที่ลงไปสู่ชุมชน ก่อนที่ในที่สุด จะมีการเปิดเผยชื่อพรรคทหารที่ชื่อว่าพรรคพลังประชารัฐในที่สุดนั่นเอง โดยเฉพาะเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามนักข่าวเรื่องพรรคใหม่ รวมไทยสร้างชาติ ว่าเป็นชื่อ ที่ไม่สงวนลิขสิทธิ์ แม้จะเป็นมอตโต้ ในการทำงานของรัฐบาลก็ตาม เพราะหากเป็นคนไทยจะตั้งพรรค ก็สามารถเอาชื่อไปตั้งได้ไม่ว่าจะ “รวมไทย” อะไรก็ตาม แต่ยืนยันว่า ตนเองไม่เกี่ยวข้อง ไม่เคยมีแนวคิดที่จะตั้งพรรคการเมือง แต่มีรายงานยืนยันว่าพรรค ของ ฉัตรชัย ที่ตั้งขึ้นไม่ได้ใช้ชื่อว่า “พรรครวมไทยสร้างชาติ” แต่จะเปิดชื่อพรรคในอีกไม่ช้า เพราะได้รับความสนใจอย่างมาก ที่สำคัญ ฉัตรชัย ถือเป็น ข้าราชการประจำ ที่มีบทบาทสำคัญมีสายสัมพันธ์ กับนักการเมืองและแกนนำพรรคหลายพรรคทั้งพรรคภูมิใจไทย พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะการเป็นคนสุราษฎร์ธานี จังหวัดเดียวกับ สุเทพ เทือกสุบรรณ และ มีข้าราชการ ทหาร ที่เป็นคนสุราษฎร์ธานี จำนวนมากสนับสนุน แต่ทำงานใกล้ชิด พล.อ.อนุพงษ์ และ รัฐบาลทำให้ภาพลักษณ์ ของฉัตรชัย ถูกมองว่าเป็นตัวแทนของพล.อ.อนุพงษ์ เลยด้วยซ้ำไป แค่นั้นยังพบความเคลื่อนไหวในการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ ของคนใกล้ตัวพี่น้อง 3 ป. เช่นการจัดตั้งพรรคของ “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร. น้องรักสีกากีของ พล.อ.ประวิตร ที่เคยได้รับการสนับสนุนให้เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่ยุคคสช. ยาวนาน 5 ปี แล้ววันนี้จะลงสมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และมีการลงพื้นที่เปิดตัวหาเสียงอย่างเป็นระบบแล้ว ก็มีข่าวว่ามีการตั้งพรรคการเมืองไว้รองรับ แม้ว่าพลตำรวจเอกจักรทิพย์ จะลงสมัครชิงผู้ว่าฯกทม.ในนามอิสระก็ตาม โดยมีรายงานว่ามี “เสธ.หิ” อดีต พ.ท. หิมาลัย ผิวพรรณ นายทหารผู้กว้างขวาง ที่ตอนนี้เปิดตัวออกมาช่วย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ในการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. แบบเดินติดตัวประกบตัวไปทุกที่เลยทีเดียว เสธ.หิ ยังเป็นเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 25 ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ และ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ผู้มีบทบาทสำคัญทั้งในพรรคและในพรรคร่วมรัฐบาล อดีต พ.ท.หิมาลัย เคยเป็นเด็กสร้าง ของ “เสธ.แอ๊ว” พล.อ.อัครเดช ศศิประภา อดีตรองปลัดกลาโหม ผู้ล่วงลับส่วน ร.อ.ธรรมนัส เป็นเด็กสร้าง ของ “เสธ.ไอซ์” พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต นายทหารผู้กว้างขวางผู้ล่วงลับ อีกคน โดยมีกระแสข่าวว่ามีการตั้งพรรคที่ชื่อว่าพรรค “พลัง” เตรียมเอาไว้แล้วเพื่อเป็นพรรคพันธมิตรพรรคแนวร่วมของพรรคพลังประชารัฐของพี่น้อง 3ป.ด้วยนั่นเอง นอกเหนือจากที่มีข่าวว่า ร.อ.ธรรมนัส ก็มีการตั้งพรรคการเมืองของตนเองไว้ด้วยเช่นกันเพราะมี ส.ส.อยู่ในมือในนามกลุ่มอีสานล้านนามากกว่า 30 คนที่จะเป็นพลังอำนาจในการต่อรอง ทั้งในพรรคพลังประชารัฐเอง และในอนาคต หากแยกตัวออกไปเป็นพรรคการเมืองต่างหาก ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 พรรคการเมืองเล็กๆมีโอกาสที่จะได้รับการเลือกตั้ง เข้ามาเหมือนเช่นที่อดีตพรรคอนาคตใหม่เคยได้ส.ส.เข้ามาอย่างถล่มทลาย เพราะการเป็นพรรคเล็กมีส.ส.ในมือแค่ไม่กี่คน ก็สามารถต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีได้แล้ว ยิ่งในกติการัฐธรรมนูญ 2560 นี้และในช่วงที่ พี่น้อง3 ป. ยังคงอยู่ในอำนาจนี้พรรคพลังประชารัฐ ก็จะยังคงอยู่ เช่นที่ พล.อ.ประวิตร ประกาศว่า จะเป็นหนึ่งเดียวไม่แตกแยกเป็นพรรคถาวร ไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ แม้จะมีความขัดแย้งภายในอยู่บ้างแต่ พล.อ.ประวิตร ก็ยังคงเอาอยู่ กลยุทธ์ของ พล.อ.ประวิตร ในนามหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐคือ มีการเลือกตั้ง แม้จะไม่ได้จำนวนสส. มากที่สุด แต่จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยร่วมกับพรรคการเมืองเล็กๆที่ทั้งตั้งใหม่ และที่จะแยกตัวออกมาจากพรรคใหญ่ เช่นพรรคเพื่อไทย เพราะในทางการเมืองแล้วไม่มีมิตรแท้และก็ไม่มีศัตรูถาวร หากแต่อยู่ที่การเจรจาต่อรองผลประโยชน์และ สายสัมพันธ์ ก็จะสามารถดึงมาร่วมรัฐบาลได้ แม้แต่ พรรคสร้างไทย ของ “เจ๊หน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เองก็ตาม เพราะ พล.อ.ประวิตร ก็มีสายสัมพันธ์เดิมกันอยู่ และ รวมทั้งแกนนำ และ ส.ส. ของพรรคเพื่อไทยหลายคน ยิ่งในเวลานี้สถานการณ์ทางการเมืองไม่มีอะไรแน่นอนโอกาสของการยุบสภา ก็มีอยู่ทั้งเรื่องการเสนอพระราชบัญญัติประชามติ เข้าสู่สภาและปัญหาระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลทั้งพรรคพลังประชารัฐเอง กับพรรคภูมิใจไทย และ พรรคประชาธิปัตย์รวมถึงจุดยืนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทำให้เกิดรอยร้าวระหว่างกันมากขึ้น จึงไม่แปลกที่จะมีข่าวการตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมาอย่างคึกคักในช่วงนี้