หมายเหตุ : วันนี้ต้องยอมรับว่า สมาชิกวุฒิสภาได้ตกอยู่ในโฟกัสของสังคม โดยเฉพาะเมื่อเกิดปัญหา “ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ไม่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา ในวาระ 3 เมื่อวันที่ 17มี.ค.64 ที่ผ่านมา จนส่งผลให้ “84ส.ว.” กลายเป็นจำเลยสังคม ถูกโจมตีอย่างหนัก “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” มีบทสัมภาษณ์พิเศษ “สมชาย แสวงการ” สมาชิกวุฒิสภา ให้ความเห็นถึงสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งยืนยันว่าจากนี้ไปพร้อมที่จะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ต่อไป -บรรยากาศหลังการโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ในวาระ 3 เป็นอย่างไร บรรยากาศมี 2 มุม คือ คลี่คลาย ชัดเจน ในเรื่องคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่วินิจฉัยให้สภามีอำนาจในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รัฐสภามีอำนาจจริง แต่เป็นอำนาจที่ไม่สมบูรณ์ เพราะอำนาจที่สมบูรณ์ได้ต้องมีประชามติเสียก่อน ดังนั้นสภาฯยังต้องทำตามรัฐธรรมนูญเดิม ที่มีหมวด 15 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติม โดยเฉพาะ ม.256 ที่ระบุขั้นตอนการแก้ไขไว้อย่างชัดเจน รัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องแก้ยาก เป็นเรื่องแก้ง่าย แต่อยากถามว่าแก้เพื่อใคร ถ้าแก้เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์ และมีการพัฒนาประเทศที่ดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจ การศึกษา กระบวนการยุติธรรมถูกปฏิรูป ก็ควรแก้ แต่ถ้าแก้แล้วไม่ทำให้เกิดประโยชน์อะไร นอกจากผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม บางคนอยากแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์ เช่น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ10 ฉบับ ถ้าล้ม รัฐธรรมนูญก็จะล้มไปด้วย ถ้า รัฐธรรมนูญยังอยู่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ แม้จะแก้ได้ต้องเปิดเผยว่าจะแก้อย่างไร อาทิ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. คดีทุจริตไม่มีอายุความ ถ้าพวกเขาฉ้อฉลก็ไปแก้รัฐธรรมนูญ หลักของประชาชนในการขึ้นศาลควรจะต้องมีอายุความตามกฎหมาย พอเป็นแบบ นี้พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญก็ใช้ไม่ได้ ก็ต้องมีอายุความ พวกที่หนีคดีทุจริตก็จะกลับประเทศได้อีก หรือที่อยากล้มรัฐธรรมนูญบางส่วน ก็คือการล้มพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ เช่น ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง อาจจะทำให้มีการพิจารณาคดีลับหลังได้ หรือการขอรื้อฟื้นคดีภายใน 1 ปี สามารถกระทำได้ แต่ผู้ขอรื้อฟื้นคดีต้องมีตัวมาศาล หรือพ.ร.บ.คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ทำให้มีการควบคุมงบประมาณแผ่นดินได้ดีขึ้น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ เรื่อง กกต. บางคนอาจคิดว่า อยากให้กระทรวงมหาดไทยมาทำหน้าที่แทน กกต. เพื่อจะได้ควบคุมได้ ก็ไปยกเลิก กกต. ในรัฐธรรมนูญเขียนใหม่ เขาถึงบอกว่า การล้ม รัฐธรรมนูญเป็นการทำลายโครงสร้าง ซึ่งก็ยังมองไม่ออกว่าจะสร้างใหม่อย่างไร จึงมองว่า ควรแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ตรงไหนมีปัญหาก็แก้ให้ถูกจุด ถือเป็นทางเลือกที่หนึ่ง ซึ่งวันนี้การพูดกันบนถนน เวทีวิชาการ ในสภา และ กรรมาธิการ ยังไม่เห็นมีใครเสนอแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา อย่างชัดเจนมีเหตุผล ส่วนทางเลือกที่สอง ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า ถ้าจะรื้อรัฐธรรมนูญแล้วร่างใหม่ทั้งฉบับ รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจทำได้ แต่ต้องทำประชามติ ให้ประชาชนอนุมัติ จึงจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้ และต้องร่างด้วยตัวเอง หรือตั้งคณะกรรมาธิการ หรือ ส.ส.ร. ทั้งนี้ ได้เสนอให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ โดยขอเสียง ส.ส. และ ส.ว. ให้ได้ 1 ใน 5 คือการแก้ให้รัฐสภารับผิดชอบต่อการปฏิรูปประเทศ แทนที่จะให้ ส.ว. ทำฝ่ายเดียว เพราะทำมา 2 ปีแล้ว อาจไม่ได้รับความร่วมมือที่ดีจากฝ่ายการเมือง หรือฝ่ายข้าราชการประจำ ซึ่งเขามีหน้าที่ในการรายงานการปฏิรูป เพราะ ส.ว. ไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเหมือนกับ ส.ส. ทำให้การปฏิรูปในเรื่องต่างๆ ยังคงค้างอยู่จำนวนมาก เช่น ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ การศึกษา พร้อมปรับเวลาการรายงานของหน่วยปฏิบัติจากทุก 3 เดือน เป็น 6 เดือน ส.ส. และส.ว. ที่มี กมธ. ก็จะไปช่วยตามความคืบหน้าในการปฏิรูป เชื่อว่าจะทำให้การปฏิรูปเดินหน้าไปได้ ระยะเวลาที่เหลือของส.ว. 2 ปีครึ่งก็จะเห็นผล -มีโอกาสเป็นไปได้สูงที่จะมีการแก้รัฐธรรมนูญ เป็นรายมาตรา ใช่หรือไม่ มีโอกาสตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว และเป็นทางที่ถูกต้อง แต่วันนี้เราไปเสียเวลาเกือบปีกับความพยายามร่าง รัฐธรรมนูญ ขึ้นมาใหม่ โดยข้ออ้างว่าเป็นการสืบเนื่องมาจากเผด็จการ คสช. ซึ่งไม่เป็นความจริง ไม่เช่นนั้น สื่อคงไม่มีสิทธิเสรีภาพออกมาวิพากษ์วิจารณ์ได้ตลอดเวลา หรือประชาชนมีสิทธิในการออกมาชุมนุมเรียกร้องได้ขนาดนี้ ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นรายมาตราจึงเป็นหนทางที่ถูกต้อง -84 เสียงของ ส.ว. คือเงื่อนไขรับ-ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ในวาระ 3 จึงตกเป็น “จำเลยสังคม” ไม่รู้สึกว่าเป็น “จำเลย” หรือ “พระเอก” แต่เป็นการทำหน้าที่ตามเอกสิทธิ์ ซึ่ง ส.ว. มีการโหวต 4 แบบ เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย งดออกเสียง และไม่ประสงค์ลงคะแนน รวมทั้งส่วนที่ 5 บางท่านไม่อยู่ในห้องประชุม เพราะเห็นว่าร่วมสังฆกรรมไม่ได้ เหมือนเช่น ส.ส. เป็นเอกสิทธิ์ท่านไม่อยากอยู่ร่วม ส.ส.อยู่ร่วมองค์ประชุมในการโหวต 225 จาก 487 ท่าน คิดเป็นร้อยละ 46 ขณะที่ ส.ว. อยู่ 217 จาก 250 ท่าน คิดเป็นร้อยละ 86.8 ที่อยู่ทำหน้าที่ แต่มีสิทธิที่จะโหวตตามความเห็นทางกฎหมาย ถือว่าทำหน้าที่ของตนเองครบถ้วนแล้ว ส่วนกระบวนการที่สังคมจะเห็นต่อไป คือการร่วมกันในการทำหน้าที่แก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชน -หากมีการแก้รัฐธรรมนูญ ได้ อาจมีโอกาสยุบเลิก ส.ว. 250 คน ได้หรือไม่ ไม่มีโอกาสเป็นไปได้ ประเทศไทยเริ่มเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 มีสภาเดียวมาตั้งแต่ต้น จนกระทั่งปี 2489 ใช้รัฐธรรมนูญ มา 14 ปี คณะราษฎรเองเห็นปัญหา ความขัดแย้งทางการเมืองในอดีตก็เห็นปัญหาว่า ถ้าปล่อยให้สภาผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดียวเขียนกฎหมาย จะกระทบต่อระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะสภาผู้แทนราษฎรอาจเขียนกฎหมายที่ไปละเมิดพระราชอำนาจ หรือเขียนกฎหมายม้วนเดียวจบ และแก้ไขไม่ได้ เราจึงได้นำ “พฤฒิสภา” มาใช้ในประเทศไทย และเปลี่ยนมาใช้ “วุฒิสภา” ในปี 2491 เป็นต้นมา กระบวนการ 2 สภา เป็นกระบวนการที่หลายประเทศในโลกยังมีใช้อยู่ แม้จะเหลือประมาณ 60 จาก 200 ประเทศ แต่ก็เหมาะกับประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ทำหน้าที่กลั่นกรอง ถ่วงดุล ถามว่าวันนี้จะยุบ ส.ว. ได้ไหม ก็เป็นข้อเสนอได้ แต่เชื่อว่าสังคมไม่เอาด้วย และเชื่อตามหลักวิชาการประเทศไทยยังต้องมีสภาที่ 2 ในการ กลั่นกรอง -แรงกดดันแก้รัฐธรรมนูญ ส่วนใหญ่มาจากฝ่ายค้าน แต่ม็อบที่ว่ารุนแรงกลับเงียบลง เพราะสาเหตุใด ม็อบเดินเกินธง ถ้าภาษา อาจารย์วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ บอกว่า “เหาะเหินเกินลงกา” มวลชนตามไม่ทัน และข้อเรียกร้องสะเปะสะปะ ตอนแรกมี 3 ข้อเรียกร้อง คือ ไล่พล.อ.ประยุทธ์ ล้มรัฐธรรมนูญ ให้ร่างใหม่ และปล่อยเพื่อนเรา แต่วันนี้ข้อเรียกร้องของม็อบไม่มีเรื่องรัฐธรรมนูญ ไปยุ่งกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และปล่อยเพื่อนเรา ซึ่งเป็นความสับสนของม็อบเอง และมวลชนไม่เอาด้วย เพราะข้อเรียกร้องที่เขาเชื่อว่า สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลง ถือเป็นข้อเรียกร้องที่อันตราย โดยดูได้จากโพลเกือบ 98% ไม่เห็นด้วย แสดงให้เห็นว่าประชาชนไม่เอาด้วยกับการเคลื่อนไหวของมวลชนในขณะนี้ แม้การเคลื่อนไหวในโซเชียลจะดูรุนแรง แต่ข้อเท็จจริงการเคลื่อนไหวของม็อบอยู่แค่หลักร้อยหลักพัน จากหลักหมื่น ลดลงเรื่อยๆ และผู้เข้าร่วมก็ลดคุณภาพลง แต่เปลี่ยนเป็นความรุนแรงที่มากขึ้น ซึ่งยิ่งทำก็ยิ่งเสีย รวมทั้งถูกดำเนินการตามกฎหมาย และไม่เชื่อว่าม็อบจะสะสมปริมาณไปสู่คุณภาพได้ ฉะนั้นเรื่องก็จะกลับเข้าสู่สภา จะดำเนินการอย่างไรในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ -แรงกดดันที่ ส.ว. ได้รับผิดไปจากที่คาดการณ์หรือไม่ สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ผิดคาด คิดว่าเขาก็พยายามโยนบาปให้ ส.ว. เป็น “แพะ” แต่ความจริงถ้าพิจารณาให้ดี คุณขึ้นร่างก็กลัดกระดุมผิดเม็ดแล้วตั้งแต่ต้น ผมพยายามทักท้วงเรื่องนี้ตั้งแต่ต้น แต่สภาฯก็ไม่ฟัง เมื่อไม่ฟังก็เดินไปในจุดที่เสียเวลาเปล่ามานาน ในที่สุดเราต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้ง คำวินิจฉัยศาลก็ออกมาตามที่เราเห็นทางข้อกฎหมายว่า การกระทำดังกล่าวผิดขั้นตอน ทั้งกระบวนการ และเนื้อหาสาระ เมื่อผิดเช่นนี้ ก็ต้องถอยมานับหนึ่งใหม่ แรงกดดันที่พยายามบอกว่าให้ ส.ว. เป็นแพะ เพราะ ส.ว. 84 คนไม่เห็นชอบ ต้องย้อนกลับไปดูว่า ใครทำเรื่องนี้ให้ผิดพลาด ตั้งแต่เสนอผิด และไม่อยู่ร่วมลงมติ แต่เราพยายามดึงกลับมาให้ถูกทาง จึงไม่กังวลว่าจะให้เราเป็นแพะ เพราะเราเดินหน้าตามแนวทางที่ถูกต้อง คือ แก้รัฐธรรมนูญ รายมาตรา และทำประชามติ -อยากฝากถึงทุกฝ่ายในการร่วมเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ ให้เสร็จสมบูรณ์อย่างไร รัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุดของประเทศ ใช้กับคนทั้งประเทศ ถ้าแก้รัฐธรรมนูญ ต้องเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง สร้างการพัฒนาให้กับประเทศ ไม่ใช่เพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายหลักที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งอำนาจฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ องค์กรอิสระ ถ้าแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ดี ก็จะทำให้ดุลของอำนาจต่างๆ เปลี่ยนไป สร้างปัญหาให้กับประเทศ และวิกฤติก็จะวนกลับมา จึงอยากให้ประชาชนติดตามการแก้รัฐธรรมนูญ ด้วยการรับรู้ข้อมูลที่มีวิจารณญาณ อย่าฟังเพียงวาทกรรม และดูเนื้อหาว่าเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนหรือไม่ ถ้าจะร่าง รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา ก็อยากให้ประเมินดูว่ารัฐธรรมนูญฉบับเก่ามีปัญหาตรงไหน มีปัญหาทั้งหมดจริงหรือเปล่า อย่างที่โบราณว่า “อย่าติเรือทั้งโกลน” ให้ดูเรือรั่วตรงไหน ก็ซ่อมตรงนั้น ถ้าเราล่มเรือเรื่อยๆ ประเทศจะเดินต่อไม่ได้