บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก (ท้องถิ่น) ย้อนอดีตปรองดองสมานฉันท์ เมื่อ 40 ปีที่แล้วจะได้ยินคำว่า “ปรองดองสมานฉันท์” (reconciliation) หรือ “ปรองดองเพื่อชาติ” ที่หมายถึง การไม่ขัดแย้ง ไม่แบ่งฝ่าย ไม่แตกแยก ไม่เกิดความเสียหายต่อประชาชนคนไทย ต่อประเทศไทยโดยรวม เป็นคำเก่าที่เล่าขานมานมนาน ย้อนไปถึงสมัย “ยุทธศาสตร์มวลชน” หรือ “นโยบายการเมืองนำการทหาร” ยุคป๋าเปรมคิดบิ๊กจิ๋วทำคือ “นโยบาย 6/2523” นโยบายการปรองดองและยุติสถานการณ์สู้รบในชนบท นำประเทศไทยไปสู่การปรองดองชาติ และดับไฟสงครามประชาชนลงในวันที่ 1 ธันวาคม 2525 ว่ากันว่าสมัยนั้นเป็น “สงครามความคิด” เช่นกัน เพราะเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ส่งผลให้นักศึกษาปัญญาชนคนหนุ่มสาวหนีเข้าป่าหาอุดมการณ์กันมากมาย ที่มีคนรุ่นก่อนย้อนความหลังนำประสบการณ์ที่ผ่านมาร่วม 40 ปีเทียบกับสงครามความคิดสมัยปัจจุบันที่ต่างกันมาก "สถานการณ์ทางการเมือง" (Political Situation) หรือ “วิกฤติการณ์ทางการเมือง” (Political Legitimation Crisis) เช่น การเดินขบวนประท้วง และการวิพากษ์วิจารณ์รัฐผ่านสื่อมวลชนในรูปแบบต่างๆ ถือเป็นวิกฤติปัญหาใหญ่ของบ้านเมือง หรือ “วิกฤติชาติ” (Difficult Situation or Crisis) เพราะเกิดถี่มาก จากการตรวจสอบคำศัพท์ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้นานมาแล้ว พบว่ามีการใช้คำว่า “สมานฉันท์” ที่หมายถึง “ความเห็นพ้องต้องกัน” ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนจากสมานฉันท์เป็น “ปรองดอง” จึงเห็นได้ว่าคำว่า “ปรองดองสมานฉันท์” ยังนำมาใช้ได้ในกรณีทั่วๆ ไปด้วย วิกฤติสองปัญหาใหญ่ ไฮไลต์วิกฤติที่สุด ณ เวลานี้ 2 เรื่องคือ (1) วิกฤตแก้รัฐธรรมนูญ และ (2) การสืบทอดอำนาจของฝ่ายอำนาจนิยมเป็นวิกฤติ ที่ฝ่ายต่อต้านเห็นพ้องว่าต้องขจัด ในขณะที่ “กลุ่มชนชั้นนำอำนาจนิยมเดิม” ก็รักษาสถานะตนเองไว้ (Status quo) อย่างเหนียวแน่น กลุ่มคนเสียรู้ที่รู้ไม่เท่าทันหลงเข้าร่วมสนับสนุนในทั้งสองฝ่ายก็มีจำนวนมาก อาจเรียก “เตะหมูเข้าปากหมา ตกกระไดพลอยโจน” ปัจจัยต้นเหตุคือ “ความขัดแย้งทางความคิดเห็น” (Conflict Crisis) เป็นต้นเหตุสำคัญ (Origin causes) ของการต่อสู้ขัดแย้งกันทางความคิด (Crisis of Thought) เช่น มี Conflict สูง ระหว่าง Gen-Z GEN-Y ต้นๆ กับพวกเบบี้บูมเมอร์ โลกปัจจุบันเป็นไซเบอร์ เป็นดิจิทัล เป็นโลกแห่งโซเซียลเน็ตเวิร์คที่ปิดกั้นข่าวสารกันไม่ได้ ท่ามกลางความขัดแย้งต่างๆ มีความขัดแย้งระหว่างวัย หรือระหว่างคนแต่ละช่วงอายุ เรียก “ช่องว่างระหว่างวัย” หรือ “มีความแตกต่างระหว่างวัย” (Generation Gap) เพราะคนแต่ละรุ่นมีชุดความคิดหรือมโนทัศน์ (Conceptualization) ของตนเองที่แตกต่างกันเห็นได้ชัดเจน ปัญหาวิกฤตรัฐธรรมนูญที่นำไปสู่ “ทางตัน” (Dead-end) ไม่มีทางออกเหมือนถนนที่ตัน จนมีบางคนล้อเลียนว่า “เราไม่ต้องการทางเลือก แต่เราต้องการทางออก” (We want a better solution) “เราไม่อยากติดกับดัก (Trapping) ติดทางออกประเทศไทย” จนถึงขนาดกล่าวหาว่าประเทศไทยเป็น “รัฐพันลึก” (deep state) ที่อธิบายยากหรือไม่มีคำอธิบาย เราคงเปรียบเทียบหยาบๆ ได้ว่า ระหว่างเผด็จการ กับ ประชาธิปไตย ต่างกันที่ เผด็จการ มักจะทำอำนาจมารวมศูนย์ ผลประโยชน์ส่วนรวม กอบโกยเข้าตนเอง กลุ่มตนเอง เป็นหลัก ส่วนประชาธิปไตย จะเป็นการต่อรองประโยชน์ส่วนรวม ให้ตกอยู่กับคนส่วนใหญ่ หรือส่วนกลาง แต่ประชาธิปไตยไทย ไปไม่ถึงไหน เพราะไปค้างคาอยู่ที่คนกลาง ไม่ไปถึง ชนชั้นรากหญ้าได้จริง ส่วนหัวๆ ก็คอยแต่สร้างโอกาสช่วงชิงกันเอง ขอยกตัวอย่างการบริหารจัดการใน อปท. ในกลุ่มคนผู้มีอำนาจตัดสินใจบริหารจัดการส่วนรวม โดยเฉพาะการอนุมัติ อนุญาตที่สามารถแยกความมุ่งหมายได้ดังนี้ (1) เพื่อผลประโยชน์ส่วนตน รวมประโยชน์ทับซ้อน (2) เพื่อฐานเสียง หรือการได้รับการยอมรับจากคนในสังคม (3) เพื่อมุ่งแก้ปัญหาสำคัญๆ อย่างตรงจุด ตรงเวลา และตามลำดับความสำคัญของปัญหา ซึ่งในการตัดสินใจของผู้มีอำนาจว่าจะเรียงลำดับจุดมุ่งหมายใดมาก่อนเป็นสำคัญ การเลือกจุดมุ่งหมายมุ่งหมายเพื่อการแก้ไขปัญหาย่อมต้องมาก่อนอื่นใด เป็นต้น ปรัชญาขี้โกง “งบประมาณมีไว้กิน แผ่นดินมีไว้ขาย กฎหมายมีไว้เลี่ยง คะแนนเสียงมีไว้ซื้อ สื่อมีไว้ใส่ไฟ ประชาธิปไตยมีไว้บังหน้า” เป็นวาทะสโลแกนที่เขียนกล่าวไว้สะใจพวกโกงแผ่นดินมากกว่า ในสถานการณ์จริงมิได้เลวร้ายเป็นเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม “ฝ่ายคุณธรรม” ก็ต้องหาคำตอบและแก้ไขให้ได้ว่า เหตุใดจึงยังคงปรากฏเหตุการณ์ดังกล่าวอยู่ เราจะแยกอย่างไรระหว่าง "โจร" หรือ"คนดี" ในเมื่อความทุกข์ยากลำบากของประชาชนยังไม่ทีท่าลดลง นี่ยังไม่รวมปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเลวร้ายที่เกิดเป็นวิกฤติขึ้นอีกต่างหากนานัปการ อาทิ ฝุ่นพิษ PM 2.5 ภัยแล้ง โรคโควิด พิษเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อคนรากหญ้าและ SME ฯลฯ ที่อาจเป็นวิกฤติระเบิดเวลา ด้วยความเหลื่อมล้ำนานาประการได้นำไปสู่การมีกรอบความคิดใหม่แนวต่อต้านของอีกฝ่ายอย่างเลี่ยงไม่ได้ กระแสแนวคิดความถูกต้อง เป็นธรรม สิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย จึงเกิดในกลุ่มคนที่เหลื่อมล้ำมากๆ ขึ้นทีละเล็กละน้อย เป็นกลุ่มต่อต้านที่แฝงตัวจากมุมมืดเริ่มปรากฏตัวออกมาทีละน้อยตามเวทีการแสดงออก การชุมนุมเรียกร้องต่างๆ เช่น กลุ่มเสื้อแดง ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย กลุ่มแรงงานฯ กลุ่มหลากหลายทางเพศ เป็นต้น จิตวิทยาความขัดแย้ง “วังวน วังเวียน ตีกรรเชียง ฝ่ายอำนาจ” ความขัดแย้งแนวคิดเกือบศตวรรษ 88 ปียังเป็นขั้วเดิมมาตลอด 2 กลุ่ม คือ สายอนุรักษ์จารีต (Conservative) ที่ขาดความชอบธรรมมารองรับมากขึ้น ส่วนเด็กรุ่นใหม่สายประชาธิปไตย (Liberal) หัวก้าวหน้าถูกมองว่าเป็นพวกก้าวร้าว เอาแต่ชุมนุมประท้วงเรียกร้องสิทธิฯ และเป็นพวกชังชาติ (Hate Speech) ในความเห็นนี้ “คนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้า” กับ “รุ่นเก่าหัวอนุรักษ์” จึงไม่ได้วัดกันที่รุ่นอายุแต่วัดกันที่ “ความคิดทางการเมือง” ฉะนั้น ในกลุ่มคนรุ่นใหม่จึงพบเห็นคนรุ่นป้ารุ่นลุงมาสมทบด้วย หรือในขณะเดียวกันรุ่นเก่ากลุ่มอนุรักษ์ก็มีวัยรุ่นสายโจ๋มาร่วมกลุ่มพิทักษ์ด้วยปะปนกันไป เราอาจพบว่าการเมืองแบบเก่ายังเป็น “การเมืองแบบจักรกลการเมือง” ที่ผูกขาด “ความเป็นคนดี” ยังคงมีความเข้มแข็งในระดับฐานรากอยู่ แต่ในขณะเดียวกัน การเมืองรุ่นใหม่หัวก้าวหน้าเป็น “แบบอุดมการณ์สู้ด้วยนโยบาย” ที่ยังไม่ถึงฝั่ง เพราะยังเอาชนะการเมืองแบบรุ่นเก่าไม่ได้ อาจเป็นเพราะจำนวนประชากรของคนกลุ่มนี้อาจยังมีจำนวนไม่มากพอ หรือยังไม่สามารถสร้างแนวร่วมได้มากพอ ในทางจิตวิทยาสังคมความขัดแย้ง (Conflict) หรือ "การไม่ลงรอยกัน" มีใน 3 ระดับ คือ (1) ระดับบุคคลที่เห็นได้ง่าย (2) ระดับโครงสร้างที่สำคัญ เห็นยากขึ้นแต่ยังพอเห็นได้ (3) ระดับที่สามเรียกว่าระดับวัฒนธรรมมองเห็นได้ยาก แต่มีอยู่และลึก โดยมีสาเหตุหลายประการ ที่สำคัญมาจากการสื่อสาร (Communication) ที่ไม่ต้องตรงกัน และ “ความคับข้องใจ” (Frustration) จากเหตุต่างๆ บุคคลจึงสร้างกลไกในการป้องกันตนเองขึ้น (defense mechanism) เกิดพฤติกรรมและปฏิกิริยา (Behavior & Reactions) ต่างๆ เช่น การก้าวร้าว (Aggression) การต่อต้าน การขัดขวาง รวมทั้งการประนีประนอม (Compromise) ได้ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมามีการบัญญัติศัพท์ “Civil Disobedience” ว่า “อารยะขัดขืน” ซึ่งคำนี้ฝ่ายกลุ่มพันธมิตรนำมาใช้อ้างในการขับไล่รัฐบาลทักษิณปี 2549-2551 ที่จริงคำนี้ไม่ต้องแปลเลย ความหมายเนื้อๆ ก็คือ การดื้อแพ่ง ไม่เชื่อฟังรัฐ ต่อต้านฝ่ายปกครองนั่นเอง ณ เวลาปัจจุบันนำมาใช้ในประเทศเมียนมาเรียกว่า “CDM : Civil Disobedience Movement” และมวลชนรุ่นใหม่ฝ่ายต่อต้านยังได้เรียกร้อง “R2P : Responsibility to Protect” ด้วย อันเป็นผลพวงมาจากการรบต่อสู้กันทางความคิดของคนสองกลุ่มนั่นเอง ที่โลกไร้พรมแดนแห่งข่าวสารนั้น “คุกจะใช้ขังความคิดของคนไม่ได้” ต้องเปิดใจยอมรับ open minded ในทุกฝ่าย บ้างก็ว่าการปรองดอง (reconciliation) ทำได้ยาก เพราะผลประโยชน์ที่ยังมีกุมเกาะอยู่ในแต่ละกลุ่ม ที่ช่วงชิงกันตลอดเวลา ระบบเอกชน ภาคธุรกิจ การลงทุน มักนำหน้าภาคราชการมาตลอด โดยภาคราชการก็อาศัยฐานจากเอกชนพวกนี้ มาเป็นเงินเดือน สวัสดิการต่างๆ อีกคำ “กะลาแลนด์” เป็นคำพูดของคนภาคธุรกิจที่มองโครงสร้างใช้ภาคราชการนำ ซึ่งค่อนข้างปรับเปลี่ยนบริบทได้ยาก เพราะมีความเป็นรัฐราชการ (Bureaucratic Polity) ตามสำนวนพื้นบ้าน “ตะเตือนไต” ที่หมายถึง การกระทบสะเทือนถึงผู้มีอำนาจ บารมี ฉะนั้น พลังขับเคลื่อนการปฏิรูปโครงสร้างเดิม จึงย่อมอาศัยพลังที่เหนือกว่า หรือไม่ก็ต้องลดทอนพลังเก่าลงให้ได้ ซึ่งยากมาก ทุกฝ่ายต้องเปิดใจยอมรับ (open minded) ทุกฝ่าย เพื่อเปิดใจยอมรับความ “แตกต่าง” ย่อมทำให้เกิดการ “เรียนรู้” แล้วจึงนำไปสู่ “การพัฒนา” เพราะความเห็นต่างไม่ใช่ความขัดแย้ง ความคิดแตกต่างได้ แต่ไม่ได้แตกแยกกัน นพลักษณ์ศาสตร์แห่งคนตะวันออกที่ต้องการความปรองดอง ปัญหาว่าคนเรามักคิดตามรูปแบบที่มีอยู่ (conventional thinkers) แต่ก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่ชอบคิดอิสระ (independent thinkers) เพราะ โลกคือทุกสิ่งที่เราคิดได้ แค่เราเปลี่ยนมุมมองความคิด เราต้องคิดเป็นและคิดต่าง เป็นการคิดต่างที่แตกต่างกันแบบสร้างสรรค์ เป็นงานริเริ่มสิ่งใหม่ ที่คิดต่างจากคนทั่วไป แต่ก็มีคนแห่งความหวังที่ชาติต้องการ คือ ENNEAGRAM (เอ็นเนียแกรม) หรือ นพลักษณ์ (คน 9 แบบ) เป็นศาสตร์ตะวันออกร่วมพันปีที่อธิบายถึงบุคลิก ความนึกคิด การแสดงออกของคนเรา 9 รูปลักษณ์ (Type) เพื่อให้ง่ายต่อการรู้จักตนเองและเข้าใจผู้อื่น โดยคนในแต่ละลักษณ์จะมีความใส่ใจและแรงจูงใจในชีวิตแตกต่างกันไป มีคนรูปลักษณ์หนึ่งที่น่าสนใจ คือ รูปลักษณ์ “ผู้ประสานไมตรี” (The Peacemaker) หรือ “นักไกล่เกลี่ย” (The mediator) จะเป็นคนสองจิตสองใจตลอดเวลา แต่ขณะเดียวกันก็สามารถวิเคราะห์มุมมองต่างๆ อย่างรอบด้าน คนประเภทนี้จะให้ความสำคัญกับความต้องการของคนอื่น จนบ่อยครั้งละเลยความปรารถนาของตนเอง วุ่นอยู่กับเรื่องไม่สำคัญ จนลืมเป้าหมายแท้จริงของตน นักไกล่เกลี่ยหรือผู้ประสานไมตรีที่เยี่ยมยอด จะเป็นที่ปรึกษาที่ดี และเป็นนักเจรจาต่อรองที่คล่องตัวสุดๆ วิกฤติของประเทศไทยสู่ New Normal ยกตัวอย่างวิกฤติปัญหาเดิมมาปัจจุบันเพื่อไปสู่แนวทางแก้ไขปัญหาที่เป็น “New Normal” ที่ไม่พ้นปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจอย่างแน่นอน ชัยอนันต์ สมุทวนิช (2556) สรุป 7 วิกฤติ คือ (1) วิกฤติระบบการเมืองและระบอบประชาธิปไตย (2) วิกฤตทางภาวะผู้นำ (3) การดำเนินนโยบายประชานิยมสุดกู่ (4) วิกฤตการคอร์รัปชันที่มีอย่างกว้างขวางมากกว่าสมัยใดๆ (5) แนวโน้มการเป็นเผด็จการของรัฐ เผด็จการโดยการเลือกตั้ง (6) วิกฤตความชอบธรรมของรัฐบาล (7) วิกฤตที่คนส่วนหนึ่งถูกปลุกระดมให้ปฏิปักษ์ต่อประมุขของรัฐ อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เรื่องที่เราต้องทบทวนคือ(1) ตัวแบบการปกครอง ควรได้รับการทบทวน (2) ทบทวนอำนาจนิติบัญญัติ ขอบเขตของฝ่ายนิติบัญญัติมีมากตรงที่นึกจะออกกฎหมายที่ขัดต่อหลักนิติธรรมก็ออกมาได้โดยผ่านกระบวนการที่ถูกต้อง (3) เราจะป้องกันประชานิยมสุดขั้วได้อย่างไร สุรชาติ บำรุงสุข (2563) สรุป 10 วิกฤติ หลังโควิดได้แก่ (1) เป็นวิกฤติซ้อนวิกฤต (2) เศรษฐกิจพังทลาย (3) ว่างงานและยากจน (4) เชื้อโรคไม่เคยหมด (5) เสริมสร้างสุขภาพไทย (6) มหันตภัยฝุ่นพิษ (7) ร้อนจัดและแล้งหนัก (8) ความยากลำบากในการเป็นรัฐบาล (9) ได้เวลาทบทวนตัวเองแล้ว (10) ไทยในยุคหลังโควิดจะเป็นประเทศที่อ่อนแอ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (2564) เสนอ 7 มาตรการเร่งด่วนสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน คือ (1) ปฏิรูประบบคิดของราชการ จากการทำตัวเป็นผู้กำกับควบคุม (คือทั้งกำกับและควบคุม) มาเป็นผู้ “สนับสนุนส่งเสริม” ให้ประชาชนทำมาหากิน ได้อย่างสะดวก(2) การ “ปฏิรูปกฎหมาย” ที่ซ้ำซ้อน และเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การออกกฎหมายใหม่ที่ส่งเสริมการค้าและการลงทุน สำหรับคนตัวเล็ก ให้เร็วที่สุด(3) เร่งดำเนินการเรื่อง ข้อตกลงการค้าเสรี เพื่อโอกาสของการส่งออกสินค้าไทย เช่นในขณะนี้เวียดนามมีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) 16 ฉบับกับ 53 ประเทศ ส่วนไทยมีเพียง 14 ฉบับกับ 18 ประเทศ (4) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน การพัฒนาระบบการศึกษา ส่งเสริมให้เด็กได้รับการศึกษาถ้วนหน้า ต้องทำให้เด็กไทยมีความรู้ที่จะเป็น “พลเมืองของโลก” มีความรู้เรื่องภาษา เทคโนโลยีสมัยใหม่ และส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ส่งเสริมให้เกิด Start up (5) พัฒนาแรงงานไทย ให้มีความรู้และทักษะ ตรงความต้องการของผู้ประกอบการ บริษัทข้ามชาติต่างๆ จึงจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย (6) ต้องสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนเรื่องความโปร่งใส ธรรมาภิบาล และความเป็นนิติรัฐของรัฐบาล และระบบราชการไทย และ (7) เร่งปรับปรุงการบริหารราชการ เข้าสู่ E-Government อย่างแท้จริง มันช่างเป็นปัญหาโลกแตกที่ต้องการอัศวินม้าขาวมาจัดการ ก่อนอื่นขอให้จัดการตัวเองก่อนให้ได้