ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรร่วมกับเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นล้านนากว่า 30 แห่ง 8 จังหวัดภาคเหนือ จัด “มหัศจรรย์สีสันเส้นด้าย ลายผ้าล้านนา” 25 มี.ค. 64 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (ศมส.) ร่วมกับเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นล้านนา จัดมหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นล้านนา ครั้งที่ 3 “มหัศจรรย์สีสันเส้นด้ายลายผ้าล้านนา ณ วัดศรีดอนคำ ต.ห้วยอ้อ อ.ลอง จ.แพร่ โดยการร่วมมือกันจัดนิทรรศการเกี่ยวกับความเชื่อ ความศรัทธา และความหมายของผ้าในวิถีชีวิตของชาวล้านนา จากพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกว่า 30 แห่ง 8 จังหวัดภาคเหนือ มารวมจัดแสดงไว้ที่งานนี้ และยังมีการสาธิตปักผ้าและเครื่องประดับของกลุ่มชาติพันธุ์ ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ศมส. สนับสนุนทำงานด้านพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น รวมถึงสนับสนุนให้ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ ผู้ปฏิบัติการทางวัฒนธรรมได้มีพื้นที่ในการทำงานร่วมกัน โดยมีเป้าหมายหลักคือ เพื่อพัฒนาศักยภาพและเสริมพลัง (Empower) เครือข่ายให้มีความสามารถในการจัดการข้อมูลสังคมและวัฒนธรรมในระดับชุมชนท้องถิ่นที่สามารถเชื่อมโยงกับการจัดการฐานข้อมูลระดับชาติ รวมทั้งเพื่อสนับสนุนกลไกการมีส่วนร่วมของเครือข่ายที่เอื้อให้เกิดการหนุนเสริมและเรียนรู้ซึ่งกันและกันในการขับเคลื่อนงานส่งเสริมความเข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทั้งกล่าวอีกว่า การสนับกิจกรรมของเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นล้านนาในครั้งนี้ จึงเป็นภารกิจอีกประการหนึ่งของศูมส. ในการทำงานร่วมกับเครือข่ายพิพิธภัณฑ์และชุมชนท้องถิ่น ในการสร้างและจัดการความรู้ ซึ่งมีอยู่ในตัวบุคคล วัตถุสิ่งของทั้งที่มีในพิพิธภัณฑ์และชุมชน เพื่อให้นำมาเผยแพร่ และนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับผ้า และวัฒนธรรมการแต่งกาย ซึ่งมีความสำคัญกับวิถีชีวิตของคนในภาคเหนือ ผ้าแต่ละชิ้นนอกเหนือจากมีหน้าที่การใช้งานแล้ว ยังมีคุณค่า ความหมาย และเรื่องราวความทรงจำของผู้คน ที่สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตของผู้คนในช่วงเวลาต่างๆ จากความสำคัญดังกล่าวเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นล้านนาจึงได้ศึกษารวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับผ้า ที่สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตของคนล้านนาในหลากมิติ ทั้งภูมิปัญญา ความเชื่อ ประวัติศาสตร์ ความเปลี่ยนแปลง และการสืบสานต่อยอด โดยเลือกศึกษา 5 ประเด็น ได้แก่ 1.ผ้าแห่งศรัทธา หมายถึงผ้าที่สร้างและใช้ในความเชื่อและศรัทธาในพุทธศาสนา ทำให้เห็นความเชื่อและศรัทธาของชาวล้านนาต่อสิ่งต่างๆ 2. นานาเครื่องหย้อง หมายถึงเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับต่างๆ ที่ต้องสวมใส่คู่กับเสื้อผ้า เพื่อความงามและการบ่งบอกสถานะของผู้สวมใส่ 3. ผ้าพี่น้องชนเผ่า หมายถึงเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์ในภาคเหนือ ที่สะท้อนความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรม และลักษณะภูมิอากาศ 4. ภาพผ้าเก่าคนเมือง สะท้อนการแต่งกายของคนล้านนาในอดีต ผ่านภาพถ่ายและภาพจิตรกรรม เพื่อให้เห็นพัฒนาการความเปลี่ยนแปลงของเครื่องแต่งกายที่สะท้อนให้เห็นสภาพสังคม การเมือง สถานะของคนที่อยู่ในภาพ และ5. ลือเลื่องผ้าเมืองลอง เล่าเรื่องผ้าเมืองลองและภูมิปัญญาการทอผ้าของคนเมืองลองที่ยังคงมีผู้สืบสานและต่อยอดจนถึงปัจจุบัน “การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นเผยแพร่ความรู้ให้ผู้ที่มาร่วมงานได้รับความรู้และเห็นคุณค่าของศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนล้านนาแล้ว ยังแสดงเห็นถึงความสำเร็จของการทำงานแบบเครือข่าย ที่ประสานพลังความรู้ พลังกาย และพลังใจ ในการจัดงานในครั้งนี้ขึ้น แสดงศักยภาพของเครือข่ายให้สาธารณชนได้รู้จักและเข้าใจบทบาทของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นมากขึ้น และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการพัฒนาองค์ความรู้ของท้องถิ่นต่อไป ดร.นพ.โกมาตร ผอ.ศมส. กล่าวปิดท้าย