ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล อำนาจนั้นเป็นมายาและไม่จีรัง แต่หลายคนก็งมงายและติดยึดเสียเหลือเกิน ที่ปรึกษานรินทร์มีความสุขกับการที่ได้ติดตามคณะกรรมาธิการไปตรวจราชการในที่ต่าง ๆ ทุก ๆ ครั้งเขามักจะแสดงตัวเป็น “ผู้กว้างขวาง” ด้วยการออกตัวว่าเขารู้จัก “คนโน้นคนนี้” ทั้งที่เป็นข้าราชการในพื้นที่ เป็นพ่อค้านักธุรกิจ จนถึง “ผู้มีอิทธิพล” และ “เพื่อนเก่า” ของเขา โดยเขามักจะนัดหมายให้ผู้คนเหล่านั้นมาพบปะกับคณะกรรมาธิการ หรือถ้ามีงานเลี้ยงรับรองก็จะเชิญผู้คนเหล่านั้นมาร่วม จนถึงให้บางคนมาเป็นเจ้าภาพหรือ “ดูแล” ท่าน ๆ กรรมาธิการทั้งหลาย ซึ่งพวกเราค่อนข้างจะอึดอัดและไม่ค่อยชอบพฤติการณ์แบบนี้ แต่ดูเหมือนว่าท่านนรินทร์จะไม่สนใจ จนบางครั้งก็ “ปล่อยไก่” หรือ “จุดไต้ตำตอ” ในคณะกรรมาธิการของผมมีจำนวนกรรมาธิการ 21 คน ส่วนใหญ่เป็นอดีตข้าราชการ กรรมาธิการท่านหนึ่งเป็นอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดใหญ่ใกล้ ๆ กรุงเทพฯ แต่ท่านเป็นคนเงียบ ๆ ไม่ค่อยคุยโม้โอ้อวดหรือทำตัวให้โดดเด่น แต่ก็เป็นที่รักใคร่นับถือของทุก ๆ คนในคณะกรรมาธิการ ครั้งหนึ่งคณะกรรมาธิการได้จัดให้มีการสัมมนาคณะกรรมาธิการและคณะอนุกรรมาธิการที่จังหวัดที่ท่านเคยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านก็เป็นธุระจัดแจงทุกสิ่งทุกอย่างเป็นที่เรียบร้อยด้วยดี รีสอร์ทที่ไปสัมมนาออกแนว “บ้านทุ่ง” อยู่ริมแม่น้ำในอำเภอรอบนอก จึงเงียบสงบและสุขสบายดีมาก ท่านผู้ว่าฯ(พวกเรามักจะเรียกท่านแบบนี้ เพราะท่านเพิ่งจะเกษียณออกมาได้ไม่ถึงเดือน และท่านก็ยังมีพาวเวอร์มาก ๆ)ได้จัดหาอาหารอร่อย ๆ มาเสริมให้พวกเราทุกมื้อ ที่ยังจำได้ดีก็เช่น ขนมจีนน้ำยาป่า ซึ่งออกแนวอีสานเพราะใส่น้ำปลาร้า รสชาติอร่อยมาก และมีเครื่องเคียงประกอบด้วยผักพื้นบ้านหลายอย่าง โดยเฉพาะเมล็ดกระถินสด ๆ ที่แกะมาโรยหน้าขนมจีนนั้น และที่ขาดไม่ได้ของทุกมื้อก็คือ “ปลาสลิดดอนกำยาน” ที่ทั้งแบบทอด ปิ้ง อบกรอบ และทำเป็นฝอยฟู ทานแล้วอร่อยติดลิ้นลงไปจนถึงกระเพาะอาหาร(สำนวนคุณพี่นักหนังสือพิมพ์ที่ร่วมคณะไปด้วย) ซึ่งพวกเราคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า ปลาสลิดที่นี่อร่อยทุกบ่อ ไม่เหมือนบางจังหวัดที่อร่อยเพียง “บางบ่อ” เท่านั้น (เป็นการพูดล้อเลียนปลาสลิดที่อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ที่มีชื่อเสียงมานาน) การสัมมนาจัดอยู่ 2 วัน คือวันศุกร์และวันเสาร์ และทุกคืนก็จะมีงานเลี้ยงที่มักจะมีข้าราชการและ “คนสำคัญ” ในพื้นที่มาร่วมงานด้วยเสมอ ๆ ซึ่งก็มีบรรยากาศเช่นดังเคย ที่พวกเรามักจะเห็นท่านนรินทร์ ผู้ที่ไม่ได้เป็นกรรมาธิการ แต่ในตำแหน่งที่ปรึกษากรรมาธิการก็ดูเหมือนจะยิ่งใหญ่พอเพียง ที่จะทำให้ตัวท่านนรินทร์เองรู้สึกว่าอย่าง “ใหญ่โต” เสียเหลือเกิน เขาเที่ยวเดินทักทายคนโน้นคนนี้อย่างสนิทสนม รวมถึงที่พามาแนะนำให้พวกเราที่เป็นกรรมาธิการได้รู้จัก เพียงเพื่ออวดว่าเขารู้จักผู้คนมากมาย แต่ก็ต้องมาเจอดีเข้าจนได้ เมื่อเขาได้แนะนำพ่อค้าคนหนึ่งกับพวกเรา โดยเล่าถึงสรรพคุณของพ่อค้าคนนั้นว่าเป็นคนที่สามารถช่วยเหลือดูแลในเรื่องโน้นเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี จนกระทั่งเขาได้พูดออกมาว่า “นี่แหละคนที่ผู้ว่าฯทุกคนยังต้องเกรงใจ” ท่านผู้ว่าฯที่นั่งฟังอยู่ด้วย จนท่านนรินทร์พูดประโยคนั้นจบแล้ว ก็ได้ลุกออกไปหาพ่อค้าคนนั้น ซึ่งพอพ่อค้าคนนั้นพอมองเห็นหน้าท่านผู้ว่าฯได้ชัด ๆ แกก็ทรุดลงคุกเข่า พนมมือไหว้ท่านผู้ว่าฯ พร้อมกับพูดว่า “ท่านก็มาด้วยหรือ” ก่อนที่ท่านผู้ว่าฯจะจูงมือแกออกไปคุยในอีกมุมหนึ่งห่างออกไป สักพักท่านผู้ว่าฯก็กลับมา โดยพ่อค้าคนนั้นไม่ได้กลับมาร่วมโต๊ะด้วย ครั้นพอมองไปที่ท่านนรินทร์ก็เห็นเขาทำหน้าเจื่อน ๆ ซึ่งหลายวันต่อมาในช่วงรับประทานอาหารกลางวันในระหว่างการประชุมที่รัฐสภา ผมได้มีโอกาสนั่งรับประทานกับท่านผู้ว่าฯเพียงสองต่อสอง จึงอดถามไม่ได้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นเมื่อคืนนั้น แล้วท่านก็เล่าให้ผมฟังว่า พ่อค้าคนนั้นเป็นคนสนิทของคนดังเมืองสุพรรณ ซึ่งท่านผู้ว่าฯก็เคยทำงานร่วมด้วย เพราะตอนที่ท่านผู้ว่าฯมาเป็นผู้ว่าที่จังหวัดนั้นใหม่ ๆ ก็ต้องเข้าไป “คารวะ” คนดังท่านนั้นด้วย จึงได้เจอกับพ่อค้าคนนั้น ซึ่งอดีตเคยเป็น “ไอ้เสือ” หรือนักเลงอยู่แถวด่านช้าง ก๊วนเดียวกันกับ “โจ ด่านช้าง” ที่เสียชีวิตไปก่อนหน้านั้น ซึ่งคนดังเมืองสุพรรณได้รับเอามาเลี้ยงไว้ หลังจากที่มีคนที่เคารพนับถือกันเอามาฝากฝัง โดยที่ไอ้เสือคนนี้ได้รับปากว่าจะกลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดี ซึ่งเขาก็ทำได้จริง ๆ จึงเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจของคนดังเมืองสุพรรณมาก กระทั่งให้ดูแลเรื่องการจัดตลาดให้ชาวบ้านได้มีที่ทางค้าขายเป็นชื่อเสียงอยู่หลายแห่ง ที่ดังที่สุดก็คือ “ตลาดร้อยปีสามชุก” ซึ่งท่านผู้ว่าฯก็มาช่วยบุกเบิกด้วย โดยท่านผู้ว่าฯเป็นคนที่คิดคำขวัญที่ว่า “รักสุพรรณ สร้างสุพรรณ” ดังที่ติดอยู่ในป้ายหน้าตลาด และสถานที่สำคัญ ๆ ในจังหวัดสุพรรณบุรีนั้น ด้วยการทำงานด้วยกันตลอดเวลาในทุกโครงการนี้ จึงทำให้ท่านผู้ว่าฯมีความสนิทสนมกับพ่อค้าคนนี้เป็นอย่างยิ่ง รวมถึงการสร้างศูนย์กีฬาของจังหวัดสุพรรณ ที่คนดังเมืองสุพรรณมาตรวจงานด้วยตนเอง “แม้แต่ห้องส้วมก็ให้คนมาเช็ดถูให้สะอาดอยู่เสมอ” ท่านผู้ว่าฯเน้นเพื่อให้เห็นว่าคนดังเมืองสุพรรณท่านเอาใจใส่ทุกรายละเอียดจริง ๆ แต่แล้ววันหนึ่งก็เกิดเรื่องใหญ่ พ่อค้าคนนี้ละล่ำละลักมาหาท่านผู้ว่าฯ แล้วเล่าให้ฟังว่าคนดังเมืองสุพรรณหาว่าเขาโกงเงินค่าก่อสร้างและมุบมิบเรียกเก็บผลประโยชน์จากพ่อค้าแม่ค้าในตลาด โดยมีผู้รับเหมาคนหนึ่งกับพ่อค้าแม่ค้าในตลาดบางคนไปเป่าหู ตอนนี้เขาเข้าหน้า “หลงจู๊” คนดังเมืองสุพรรณนั้นไม่ได้ และกลัวว่าจะเกิดอันตรายขึ้นได้กับครอบครัว จึงมาขอให้ท่านผู้ว่าฯช่วยเหลือ ท่านผู้ว่าฯจึงขอสืบสาวราวเรื่องดูก่อน ครั้นสอบสวนแล้วก็พบว่าพ่อค้าคนนี้ไม่ได้โกง เพียงแต่ช่วงนั้นหลงจู๊มีงานยุ่งเรื่องการเมืองในรัฐบาล ไม่ค่อยได้กลับมาสุพรรณ เขาเลยไม่ได้ไปรายงานอย่างที่เรียกเป็นภาษาชาวบ้านว่า “เสนอหน้า” ให้หลงจู๊ได้เห็นบ่อย ๆ เหมือนแต่ก่อน ทำให้คนที่คิดร้ายต่อเขาได้โอกาสคาบความเท็จไปบอกหลงจู๊และทำร้ายเขาดังกล่าว พอท่านผู้ว่าฯพบกับหลงจู๊จึงเล่าความจริงทั้งหมดนี้ให้ฟัง หลงจู๊ก็ให้อภัยเขา พ่อค้าคนนี้จึงนับถือท่านผู้ว่าฯมาก เพราะได้ช่วยชีวิตเขาที่ตายแล้วได้เกิดใหม่ ดังนั้นเมื่อมาพบกันเมื่อวันที่มีการสัมมนานั้นเขาจึงมาคุกเข่าและยกมือไหว้ ด้วยความตื้นตันในพระคุณที่มีมาตั้งแต่ครั้งนั้น พ่อค้าคนนี้ยังบอกด้วยว่าท่านนรินทร์ที่แนะนำเขากับคณะกรรมาธิการในงานเลี้ยงในคืนนั้น ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลย เพียงแต่มีเจ้าหน้าที่รัฐสภาโทรศัพท์มาเชิญให้มาร่วม และเขาทราบว่าท่านผู้ว่าฯอยู่ในงานนี้ในฐานะกรรมาธิการคนหนึ่งนั้นด้วย เขาจึงรีบตกลงและมาร่วมงานในคืนนั้น หลังจากวันนี้ท่านนรินทร์ก็ดูเงียบ ๆ ไป แต่เงียบได้ไม่นานก็ “ซู่ซ่า” ขึ้นมาอีก