ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต “ความสุขแท้ของคนเรา...เกิดขึ้นได้ภายใต้อารมณ์เฉพาะในความรู้สึกอันเบิกบานและงดงามของเรา...มันเป็นข้อประจักษ์แห่งอารมณ์รับรู้อันหยั่งลึกและมีความหมายที่ขึ้นไปอยู่เหนือจิตวิญญาณใดๆ...สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ในเชิงผัสสะอันยิ่งใหญ่ ที่เป็นตัวกระตุ้นเร้า พลังอันวิจิตรบรรจงของชีวิต...นั่นคือวิถีแห่งคุณค่าต่อการนบน้อมเพื่อจะเชิดชู...เบ้าหลอมของธรรมชาติแห่งตัวตนให้ได้ค้นพบรากเหง้าอันสำคัญในความเป็นอัตลักษณ์แห่งความสุขอันยั่งยืน...เรียบง่ายแต่แฝงเร้นและเปี่ยมเต็มไปเสน่หาจากมวลสรรพสิ่งที่สถิตอยู่รอบตัว...” นี่คือรสสัมผัส ที่ได้รับจากการอ่านหนังสือที่ปลุกตื่นความงามแห่งสุนทรียะทางใจอย่างอ่อนโยนเล่มหนึ่งในนาม “ฮุกกะ”/ปรัชญาความสุขฉบับเดนมาร์ก/(THE LITTLE BOOK OF HYGGE/THE DANISH WAY TO LIVE WELL)..ซึ่งเขียนและเรียบเรียงโดย “ไมก์ วิกิง” (MEIK WIKING)...ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยความสุข (Happiness Research Institute)../นักวิจัยตัวแทนของประเทศเดนมาร์ก ณ สถาบันความสุขโลก(World Database Of Happiness) /และเป็นผู้ก่อตั้งเครือข่ายนโยบายความอยู่ดีมีสุขและคุณภาพชีวิตแห่งละตินอเมริกา../ผลงานของไมก์ ปรากฏในสื่อต่างๆกว่าห้าร้อยสื่อ...เช่น ไทม์(ลอนดอน) /กอร์เดียน/บีบีซี/แอตแลนติก/โมโนเคิล/รวมทั้งวอชิงตัน โพสต์..เป็นอาทิ ... “ผมศึกษาเรื่องความสุข..จึงพยายามตอบคำถามอยู่ทุกวันว่า..ทำไมบางคนมีความสุขมากกว่าคนอื่น???...เคยมีคนบอกผมว่า เมื่อนักดนตรีมองโน้ต ก็จะได้ยินเสียงดนตรีในใจ สิ่งเดียวกันเกิดขึ้นกับผมเมื่อมองข้อมูลเกี่ยวกับความสุข ผมได้ยินเสียงผ่อนคลายของชีวิตที่ดี ความปิติยินดี สายสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และเป้าหมายชีวิต” “ไมก์” ได้แสดงทัศนะเชิงประสบการณ์ว่า.. มีคนอยู่เป็นจำนวนมาก ที่ยังคงกังขาเกี่ยวกับการวัดความสุข ..มีเรื่องหนึ่งที่มีผู้คนยกขึ้นมาถามเขาบ่อยๆ..คือแต่ละคนก็มีมุมมองต่อความสุขที่ต่างกันออกไป ซึ่งไมก์และผู้ร่วมงานของเขาก็พยายามแก้ปัญหานี้โดยการบอกว่า.. “ความสุข” เป็นแนวคิดที่ครอบคลุมรอบด้าน พวกเขาได้แยกส่วนมันแล้วมองดูองค์ประกอบต่างๆ พยายามวัดความสุข และคุณภาพชีวิต...ปรากฏว่าได้มีการพิจารณาความสุขโดยแยกออกเป็นสามมิติเป็นอย่างน้อย...กล่าวคือ... มิติแรก...คือความพึงพอใจในชีวิต “เราสำรวจความคิดเห็นในระดับนานาชาติว่า..คุณพอใจชีวิตในภาพรวมมากแค่ไหน?? หรือคุณมีความสุขแค่ไหนจากระดับ0-10? ลองถอยหลังไปสักก้าวแล้วประเมินชีวิตของคุณ...คิดถึงชีวิตดีที่สุดและแย่ที่สุดที่คุณจะมีได้ แล้วดูสิว่าตอนนี้คุณยืนอยู่ตรงจุดไหน?...คะแนนส่วนนี้ของชาวเดนมาร์กสูงที่สุดในโลก” มิติที่สอง..คือมิติด้านอารมณ์และความรื่นรมย์ (Affective or hedonic dimension)..นั่นคือ..คุณมีอารมณ์แบบไหนในแต่ละวัน? ลองนึกย้อนไปเมื่อวานว่า...รู้สึกโกรธ เศร้า หรือโดดเดี่ยวหรือไม่?...ได้หัวเราะบ้างหรือเปล่า..? มีความสุขไหม?..รู้สึกว่าเป็นที่รักบ้างหรือไม่? มิติที่สามเรียกว่ามิติยูเดโมนิก (eudaimonic dimension) ซึ่งตั้งชื่อตามภาษากรีกโบราณ –ยูเดโมเนีย-(eudaimonia)ที่แปลว่า”ความสุข”...”คำนี้มาจาก...แนวคิดเรื่องความสุขของ”อริสโตเติล”..สำหรับเขาแล้วชีวิตที่ดีคือชีวิตที่มีความหมาย...ซึ่งแสดงว่า คนเราสัมผัสได้ถึงเป้าหมายในชีวิตใช่ไหม?” “...“HYGGE”...ฮุกกะ(น.)..ศิลปะในการสร้างความใกล้ชิด ผูกพัน ความรู้สึกผ่อนคลายในจิตวิญญาณ การหาความสุขจากสิ่งรอบตัวในปัจจุบัน...” หากจะอธิบายถึงว่า...ทำไมเดนมาร์กถึงเป็นประเทศที่มีความสุขมากกว่าประเทศอื่นได้ถึงสามในสี่ส่วน..ทั้งในด้านของความมีน้ำใจอิสรภาพ จีดีพี ธรรมาภิบาลที่ดี และอายุเฉลี่ยที่สูง...มันเกิดขึ้นได้ด้วยองค์ประกอบสำคัญคือ...แรงสนับสนุนทางสังคม..โดยเฉพาะที่คนในสังคมมีเครือข่ายความสัมพันธ์ที่พึ่งพาได้ยามจำเป็น..รวมทั้งมีความสมดุลที่ดีระหว่างงานกับชีวิต..ที่เปิดโอกาสให้คนมีเวลาสำหรับครอบครัวและเพื่อน..จากข้อมูลดัชนีที่ดีขึ้น(BETTER LIFE INDEX)ของโอซีดีซีระบุว่า..ชาวเดนมาร์ก33เปอร์เซ็นต์บอกว่ารู้สึกสุขสงบตลอดเวลาหรือเกือบตลอดเวลา..ในขณะที่เยอรมันนีมีแค่23เปอร์เซ็นต์ ฝรั่งเศส 15เปอร์เซ็นต์..และสหราชอาณาจักร 14 เปอร์เซ็นต์...จึงถือว่านโยบายก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ ขณะเดียวกับที่ “ฮุกกะ” ก็ได้ช่วยสร้างวิธีพิเศษ ที่ช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์กับคนที่คุณรัก...ประกอบกับคนเดนมาร์กมีระดับความไว้วางใจกันสูง...พวกเขามีระดับความเป็นอิสรภาพสูง...ชาวเดนมาร์กจะบอกว่า..พวกเขาสามารถควบคุมชีวิตตนเองได้ในระดับสูงมาก..อีกทั้งยังมีระดับทรัพย์สินและคุณค่าของธรรมาภิบาลเป็นเลิศ...รวมถึงภาคประชาสังคมที่ทำงานได้ดี... แท้จริง “ฮุกกะ” จะเกี่ยวกับแสงมาก..อันหมายถึงว่าแสงที่สว่างเกินไปไม่ฮุกกะ...รวมทั้ง “ฮุกกะ” ยังเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปด้วย...เหตุนี้คนเราจึงต้องเน้นย้ำประสบการณ์ดังกล่าวนี้ด้วยการเฝ้ามอง.สิ่งต่างๆเคลื่อนไหวอย่างเชื่องช้า..เช่น หิมะลอยละล่องมาแบบชาวอินูอิตเรียกว่า.อะคิโลคอก...หรือเปลวไฟที่ลุกไหม้ช้าๆ..ในกองฟืน สรุปง่ายๆว่า...การเคลื่อนไหวอย่างช้าๆของสรรพสิ่งและสีสันธรรมชาติที่ไม่สว่างไปนักคือความฮุกกะ..ภาพโรงพยาบาลขาวโพลนปลอดเชื้อ..หรือการมองรถแล่นฉิวบนถนนหลวงไม่ฮุกกะ.. “ฮุกกะ” คือ..ภาพที่มีแสงสลัว เรียบง่าย และเชื่องช้า... “ไม่มีศาสตร์ฮุกกะใด จะสมบูรณ์ได้หากขาดเทียนไข...เพราะเมื่อถามชาวเดนมาร์กว่า...พูดถึงฮุกกะแล้ว...แล้วนึกถึงอะไรมากที่สุด คน85เปอร์เซ็นต์จะนึกถึงเทียนไข.. คำที่แปลว่า... “ผู้ขัดขวางความสนุก” ในภาษาเดนมาร์กคือ...ลิเซะสลูกเออกะ แปลว่า... “ผู้ดับเทียน” นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญสิ่งสำคัญคือว่า..ไม่มีวิธีใดที่จะได้ความฮุกกะ เร็วไปกว่าการจุดเทียนสองสามเล่ม หรืออย่างที่เรียกเป็นภาษาเดนมาร์กว่า..ลีเวนเดอ ลูส(levende lys)หรือ “แสงมีชีวิต”...เทียนไขกับชาวเดนมาร์กไม่ได้อยู่เพียงในห้องนั่งเล่นเท่านั้น...มันเป็นความสัมพันธ์อันลึกซึ้ง.. “มันอยู่ในทุกแห่ง..ทั้งในห้องเรียน ในห้องประชุม ถ้าเป็นคนอเมริกัน ก็คงคิดว่า...มันเสี่ยงจะทำให้ไฟไหม้ชัดๆ...จุดไฟทิ้งไว้ในห้องเรียนได้ยังไง?...จริงๆแล้ว มันเป็นเหมือนความสุขและความผ่อนคลายสบายใจในเชิงอารมณ์ความรู้สึก” สมาคมเทียนไขยุโรป (European Candle Associasion)...ได้ยืนยันว่าคนเดนมาร์กมีปริมาณการจุดเทียนต่อหัวมากกว่าทุกหนทุกแห่งในยุโรป...แต่ละคนจุดเทียนไขปีละประมาณ 6 กิโลกรัม...หากจะให้เห็นภาพก็คงต้องเทียบกับปริมาณเบคอนที่ชาวเดนมาร์กบริโภคปีละประมาณ 3 กิโลกรัม ที่ต้องเทียบแบบนี้ก็เพราะว่า...คนเดนมาร์กบริโภคเบคอนปีละประมาณ 3 กิโลกรัม ปริมาณการจุดเทียนไขนี้ ถือเป็นสถิติสูงสุดในยุโรป..อันที่จริงคนเดนมาร์กจุดเทียนมากกว่าออสเตรียซึ่งเป็นที่สองเกือบสองเท่า...สถิติของออสเตรียอยู่3.16 กิโลกรัมต่อคน...คนเดนมาร์กไม่นิยมจุดเทียนหอม..โดยมองว่าเป็นของเทียม...พวกเขาชอบผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกมากกว่า.. “ผลการสำรวจความคิดเห็นโดยหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของเดนมาร์ก ระบุว่า...ชาวเดนมาร์กเกินครึ่งจุดเทียนแทบทุกวันในฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว...มีเพียง 4 เปอร์เซ็นต์ที่บอกว่า ไม่จุดเทียนเลย...ในเดือนธันวาคม...โดยในช่วงนี้จะจุดเทียนพิเศษขึ้นมาด้วย..และจะจุดเทียนเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่า..โดยจะจุดเป็นพิเศษในช่วงก่อนถึงวันคริสต์มาส...เทียนพิเศษนี้มีชื่อว่า..คาเลนเดอลูส(kalendelys) หรือเทียนแอดเวนท์ (Advent Candle) บนแท่นเทียนที่มี 24 ขีด..ซึ่งแต่ละขีดเป็นตัวแทนของแต่ละวันในเดือนธันวาคมก่อนถึงวันคริสต์มาส...สิ่งนี้ทำให้เป็นเวลานับถอยหลังที่เดินช้าที่สุดในโลก”... “ฮุกกะ”..ปรากฏในภาษาเขียนของเดนมาร์กเป็นครั้งแรกตอนต้นศตวรรษที่19 แต่คำนี้แท้จริงเกิดขึ้นที่นอร์เวย์...ช่วงปี ค.ศ 1379-1814 เดนมาร์กกับนอร์เวย์เป็นอาณาจักรเดียวกัน ทุกวันนี้ชาวเดนมาร์กและชาวนอร์เวย์ก็ยังสามารถเข้าใจภาษาของอีกฝ่าย คำดั้งเดิมในภาษดั้งเดิมคำนี้แปลว่า.. “ความอยู่ดีมีสุข” แต่คำว่า “ฮุกกะ” อาจมาจากคำว่า “hug” ก็เป็นได้..คำว่า “hug” มาจากคำว่า “hugge”..ในทศวรรษ 1950...ที่แปลว่า “กอด”...แต่เราก็ไม่รู้ว่า.. “hygge” มีที่มาจากไหนกันแน่ บางทีอาจมาจาก “hygga” ในภาษานอร์สโบราณที่แปลว่า “ปลอบประโลม”..คำนี้ก็มาจาก “hugr”..ที่แปลว่า อ”ารมณ์”..อีกด้านหนึ่งคำนี้มาจากคำว่า “hugjan” ที่แปลว่า “คิดพิจารณา”...โดยสิ่งที่น่าสนใจก็คือว่า...ทั้งการพิจารณา/อารมณ์/การปลอบประโลม/กอด/และความอยู่ดีมีสุข/ทั้งหมดนี้..อาจสามารถใช้บรรยาย “ฮุกกะ”..ในปัจจุบันได้ทั้งสิ้น.. “ฮุกกะ” สื่อสารถึง..ภาวะแห่งการมีสติอยู่กับปัจจุบันที่ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่งของช่วงเวลาฮุกกะ...ฮุกกะเปี่ยมล้นด้วยแนวทางและความมุ่งมั่นอันแรงกล้า..เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์และดื่มด่ำกับปัจจุบัน..เป็นมิติที่มีลักษณะของความเป็นตัวตนเฉพาะในความมีอยู่และเป็นอยู่ของชีวิตที่แจ้งชัดเสมอ... “พลอยแสง เอกญาติ”...นักแปลฝีมือดีผู้เคยสร้างชื่อจากงานแปล...ความลับของดอกไม้../ประวัติศาสตร์ก้นครัว/หรือโลกเร้นลับของกลิ่นหอม..เธอ.แปลหนังสือเล่มนี้ออกมาอย่างหยั่งลึกและเข้าใจต่อประเด็นต่างๆที่คาบเกี่ยวกันระหว่างชีวิต อารมณ์ ความรู้สึก และความเป็นจริงในนัยรับรู้ที่แท้จริง...เป็นความงามทางจิตวิญญาณ เป็นศิลปะแห่งความเข้าใจขั้นสูงที่ส่งผลต่อการรังสรรค์โครงสร้างของหนังสือเล่มนี้..ให้อิ่มเต็มไปด้วยสำนึกแห่งใจที่ไร้กาลเวลา...เป็นฮุกกะในฮุกกะ...แม้จะอยู่ต่างมิติทางภาษากันมากมายสักเพียงใดก็ตาม...นี่คือหนังสือที่ชวนอ่านอย่างยิ่ง..ในยามที่โลกมักจะเปลี่ยนแปลงเราด้วยพายุใหญ่แห่งอคติที่ไร้ความอ่อนโยน..ตลอดจนวาระที่ไร้ร้างความอิ่มเอมทางจิตวิญญาณเหมือนเช่นเวลานี้...มันคือความเรียบง่ายแห่งวิถีอันกว้างใหญ่ในพื้นที่แคบแห่งการรับรู้ในรู้สึกที่เคลื่อนขยายไปข้างหน้าอยู่ตลอดเวลา เนิบช้า แผ่วเบา..แต่ก็เต็มไปด้วยความแม่นตรงในรื่นรมย์...เสมอ “ฮุกกะ...มีนิยามมากมาย ตั้งแต่ศิลปะในการสร้างความใกล้ชิด/ความสบายของจิตวิญญาณ/การปราศจากความรำคาญ/การหาความสุขเมื่อมีสิ่งปลอบประโลมจิตใจ/การรวมตัวกันที่แสนสบาย/ไปจนถึงนิยามต่างๆที่เกิดขึ้นอย่าง..โกโก้ใต้แสงเทียน...ฮุกกะเกี่ยวข้องกับประสบการณ์มากกว่าสิ่งของ มันเกี่ยวข้องกับการได้อยู่กับคนที่เรารัก...ความรู้สึกของบ้าน ความรู้สึกว่าเราปลอดภัย ว่าเราได้รับการปกป้องคุ้มครองจากภายนอก จนสามารถลดกำแพงป้องกันลง...เราอาจสนทนาต่อเนื่องไม่จบสิ้นเกี่ยวกับเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ในชีวิต หรือแค่สบายใจเมื่ออยู่เงียบๆด้วยกัน..หรือรื่นรมย์กับชาสักถ้วยตามลำพังก็ยังได้”...มันคือรูปรอยแห่งศิลปะของการตามหาจิตวิญญาณที่สงบงามโดยแท้