ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง : อีกหนหนึ่งในรอบหลายปีมาเดินทอดน่องอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี ครั้งนี้มีสิ่งที่เพิ่มเติมนั่นคืออาคารศูนย์บริการนักท่องเที่ยว นัยว่ากรมศิลปากรดำเนินการปรับปรุงเพื่อเพิ่มศักยภาพอำนวยความสะดวกในการให้บริการและข้อมูลแหล่งโบราณสถาน พืชพันธุ์ธรรมชาติของอุทยานฯ ในรูปแบบนิทรรศการ และเตรียมความพร้อมสู่การยกระดับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีมาตรฐานในระดับสากลในฐานะแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมในอนาคต มาแล้วก็ต้องเข้าไปเดินชมภายในอาคารศูนย์ฯ ดูว่ามีการจัดแสดงนิทรรศการอะไรกันบ้าง หลักๆ ว่าด้วยเนื้อหาพัฒนาการด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเชื่อและศาสนาของผู้คนในพื้นที่ภูพระบาทและบริเวณใกล้เคียง รวมทั้งมีห้องบริการสืบค้นค้นข้อมูลสารสนเทศอุทยานฯ ภูพระบาท ในส่วนของห้องจัดแสดงนิทรรศการแบ่งออกเป็น 6 ส่วน ประกอบด้วยห้องจัดแสดงธรรมชาติบนภูพระบาท เกี่ยวกับพืชพันธุ์และสัตว์ป่านานาชนิดที่พบในอุทยานฯ เช่นค้นพบพืชพันธุ์ใหม่ของโลก ซึ่งปรากฏบนภูพระบาทแห่งเดียวคือ “ต้นครามอุดร” และ “ต้นมุกอุดร” ถัดมาห้องจัดแสดงธรณีวิทยาแห่งเทือกเขาภูพาน ให้ความรู้ลักษณะภูมิลักษณ์อันน่าอัศจรรย์ของโขดหิน เพิงหินที่ปรากฏบนภูพระบาท ต่อด้วยห้องจัดแสดงภูพระบาทภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการนับถือพุทธศาสนา ซึ่งปรากฏหลักฐานทางโบราณคดี เช่น การสกัดเพิงหินธรรมชาติเป็นศาสนสถาน สกัดเพิงหินเป็นพระพุทธรูป มีพุทธลักษณะเป็นศิลปะผสมผสานระหว่างศิลปะทวารวดีและศิลปะเขมรโบราณ ห้องจัดแสดง MIXED REALITY ROOM แสดงข้อมูลทางด้านโบราณคดีของภูพระบาทผ่านสื่อผสมด้วยเทคโนโลยี VR (Virtual reality) AR (Augmented reality) และ MR (Mixed reality) หรือเสมือนจริง ถัดมาห้องพระเกจิอาจารย์สำคัญของภาคอีสาน ให้ข้อมูลประวัติหลักธรรมคำสอนของพระเกจิสำคัญๆ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน และห้องจัดแสดงชาติพันธุ์ไทพวน ซึ่งเป็นกลุ่มหลักของอ.บ้านผือ อันเป็นที่ตั้งของภูพระบาท ชมนิทรรศการเสร็จ มุ่งหน้าสู่แหล่งโบราณสถานบนภูพระบาท จะเดินทอดน่องชมป่าตามเส้นทางเดินหรือจะนั่งรถไฟฟ้าทางอุทยานฯ มีให้บริการ จะไปส่งแค่บริเวณลานหอนางอุสา ซึ่งเป็นจุดเช็กอินที่ใครมาเที่ยวต้องถ่ายภาพ จะเดี่ยวหรือหมู่คณะไว้เป็นที่ระลึก หอนางอุสานี้ถือเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของภูพระบาท เป็นโขดหินสูงประมาณ 9.5 เมตร ตามข้อมูลแผ่นพับว่าคนโบราณดัดแปลงทำเป็นห้องขนาดเล็ก มีประตูหน้าต่างไว้ใต้เพิงหินด้านบน ซึ่งมีตำนานพื้นบ้านว่าเป็นที่อยู่ของนางอุสาเมื่อครั้งมาเรียนวิชากับฤๅษีจันทา จากจุดเช็กอินหอนางอุสาแล้วยังมีโบราณสถานลักษณะสกัดเพิงหิน เช่น หีบศพนางอุสา หีบศพท้าวบารส หีบศพพ่อตา ถ้ำวัว – ถ้ำคน ฯ ภาพเขียนสีโบราณเพิงหิน ถ้าเดินให้ชมทั่ว 23 จุด ส่วนตัวเที่ยวนี้เช็กอินที่หอนางอุสาพอ อนึ่ง อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทมีโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนแล้ว 78 แห่ง ทั้งอยู่ในบัญชีชั่วคราว Tentative Lists มรดกโลกตั้งแต่ปี 2547 (Phuphrabat Historical Park , 2004) ต่อมามีการจัดทำเอกสาร Nominations File อันเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการจะเสนอขึ้นเป็นมรดกโลก แต่หลักเกณฑ์คุณสมบัติความโดดเด่นสากลไม่ผ่านการพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 40 (2559) หวังว่ายื่นเอกสาร Nominations File รอบใหม่นี้คงไม่ตกม้าตาย