เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 มูลนิธิ ณ ภาฯ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) ลงนามความร่วมมือการสนับสนุนการศึกษาวิจัย พัฒนาวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ชุมชน ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม หวังผลักดันผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับระดับสากล ต่อยอดประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยผู้แทน นายเอกภพ เดชเกรียงไกรสร รองประธานมูลนิธิ ณ ภาฯ ลงพื้นที่จริงดันขมิ้นชันและจันทน์กะพ้อ พร้อมลงนามความร่วมมือกับ มรส. โดย ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี ที่ได้ให้การต้อนรับและนำสู่พื้นที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนขมิ้นชันปลอดสารพิษ บ้านเขาวง ตำบลเขาวง อำเภอบ้านตาขุน และสวนน้ำจันทน์กะพ้อ ตำบลเคียนซา อำเภอเคียนซา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผศ.ดร. วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี มรส. กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้รับเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ตามข้อตกลงร่วมกับ มูลนิธิ ณ ภาฯ ในพระราชดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เพื่อส่งเสริมการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม พัฒนาวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ชุมชนในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย ให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และสามารถใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดยการลงนามความร่วมมือมีขอบเขตเพื่อบูรณาการความร่วมมือในการกำหนดทิศทางการวิจัย การเสริมสร้างศักยภาพองค์ความรู้ฐานของพื้นที่เป็นแกนหลักในการต่อยอดการวิจัยเพื่อพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการวิจัยและพัฒนาในระดับชุมชน ท้องถิ่น และนำไปสู่การเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ สังคมนวัตกรรม ตลอดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยยึดหลัก BCG Model โดยนำวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นมาพัฒนาต่อยอดให้ได้สินค้าที่มีเอกลักษณ์และมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับระดับสากล สำหรับการผลักดันผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับระดับสากลของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้นำขมิ้นชัน “เขาวง” สุราษฎร์ธานี ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นขมิ้นชันที่ดีที่สุดในประเทศไทย ที่ได้ผ่านการวิจัยจากกรมวิทยาศาสตร์ ปลูกโดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขมิ้นชันปลอดสารพิษ ตำบลเขาวง อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี สาระสำคัญของขมิ้นชันมีสารสีเหลืองชื่อ เคอร์คูมิน (Curcumin) มีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งน้ำย่อย ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ลดการบีบตัวของลำไส้ และเสริมสร้างภูมิต้านทานให้ร่างกาย นอกจากนี้ยังผลักดันสมุนไพรจันทน์กะพ้อ ตำบลเคียนซา อำเภอเคียนซา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นพืชยืนต้นขนาดใหญ่ อาศัยในพื้นที่ซับน้ำ ดอกมีสีเหลืองอ่อน หอม ต้องการพัฒนาโดยการสกัดดอก ให้เป็นน้ำหอม และอีกทั้งมีสรรพคุณทางยา เช่น ปรุงเป็นยาหอมแก้ลม บำรุงหัวใจ เนื้อไม้มีสรรพคุณแก้ลมวิงเวียน ช่วยขับลม ช่วยแก้เสมหะ เป็นต้น การดำเนินงานจากนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จะร่วมกับชุมชนในการขับเคลื่อนพืชดังกล่าวในการใช้ประโยชน์ให้มากที่สุดเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ด้วยการนำองค์ความรู้และนวัตกรรมเชื่อมโยง ให้ผ่านมาตรฐาน อย. และการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications หรือ GI) เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีความเชื่อมโยง (Links) ระหว่างปัจจัยสำคัญสองประการ คือ ธรรมชาติและมนุษย์ คือ ชุมชนได้อาศัยลักษณะเฉพาะที่มีอยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์ตามธรรมชาติ ตลอดกระบวนการผลิตให้ได้คุณภาพยิ่งขึ้นต่อไป