จากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อคนทั่วโลก และในอุตสากรรมต่างๆ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว ซึ่งในประเทศไทยจากเดิมมีนักท่องเที่ยวมากกว่า 40 ล้านคนในปี 2562 แต่การปิดพรมแดนในช่วงที่ผ่านมาทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยสะดุดลง ซึ่งจข้อมูลของธนาคารโลกระบุว่าก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 อุตสาหกรรมนี้สร้างรายได้ให้ประเทศเป็นมูลค่าสูงถึง 16-17% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือ จีดีพี ดังนั้นในมุมมองของกลุ่มผู้บริหารธุรกิจท่องเที่ยวในวันนี้ คือ วิธีที่จะฟื้นท่องเที่ยวได้ ต้องเอานักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาให้เร็วที่สุด โดยไม่ต้องกักตัว อีกทั้งหวังที่จะให้ต้องการให้รัฐบาลใช้ภาวะความเป็นผู้นำในสถานการณ์ดังกล่าว ยอมรับข้อเสนอของภาคเอกชนท่องเที่ยวที่เสนอโมเดลต่าง ๆ เพื่อเป็นทางออกให้กับธุรกิจการท่องเที่ยวและการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ เปิดช้าขาดทุนระยะยาว โดย นายบิล บาร์เน็ต กรรมการผู้จัดการ ซีไนน์โฮเทลเวิร์คส์ กล่าวว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อหลายๆ ประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทยแม้จะควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อได้ดี แต่การระบาดครั้งใหญ่นี้ ได้ส่งผลต่อการท่องเที่ยว และรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่มีมากกว่า 70% ส่วน นาย แจสเปอร์ ปาล์มควิส ผู้อำนวยการประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกของ STR นักวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรมโรงแรม กล่าวถึง ข้อมูลและการวิเคราะห์ประสิทธิภาพของโรงแรมในไทยล่าสุด พบว่า อัตราการเข้าพักในช่วงไตรมาสแรก 2564 จะมีอัตราเฉลี่ยคล้ายกับช่วงเดียวกันในปี 2563และมีสัญญาณการจองล่วงหน้าในเดือนมิถุนายน และเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคมของโรงแรมในกรุงเทพฯ ดังนั้นจึงคาดว่า ในปี 2565 จะเป็นปีที่ธุรกิจโรงแรมในไทยจะกลับมาเจริญเติบโตทั่วประเทศอย่างแน่นอน แต่ในขณะที่ประเทศไทย ยังไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศ เดินทางเข้ามา ทางผู้ประกอบการ และกลุ่มผู้บริหารธุรกิจท่องเที่ยว จึงได้มีการเสนอแนะที่จะทำให้ฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวและบริการของไทยได้เร็วที่สุด โดย นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า วัคซีน คือตัวการเปลี่ยนเกมการแข่งขันทางธุรกิจท่องเที่ยว ดังนั้นถ้าหากรัฐบาลจะเปิดประเทศในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ ด้วยแผนการกระจายวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรประมาณ 50% ภายในปีนี้ด้วยจำนวนวัคซีนที่จัดหามาไว้แล้วราว 61 ล้านโดสจากผู้ผลิตเพียงสองราย คือ วัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้าของสหราชอาณาจักรและจากซิโนแวคของจีน เพราะฉะนั้น เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันในกลุ่มธุรกิจโรงแรม และบริการสามารถรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ โดยไม่ต้องกักตัว จึงน่าจะให้ทางภาคเอกชนนำเข้าวัคซีน เพื่อช่วยฉีดและสนับสนุนเงินทุน แบ่งเบาภาระรัฐบาล พร้อมๆ กับที่รัฐบาลจะได้เร่งการฉีดวัคซีนเร็วขึ้น โดย นางมาริสา กล่าวต่อว่า เวลานี้แม้จะมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยรัฐบาลผ่านมาตรการต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นให้คนไทยออกเดินทาง เพื่อช่วยผู้ประกอบการท่องเที่ยว ถึงกระนั้นก็ยังไม่สามารถทดแทนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขาดหายไป โดยเฉพาะยิ่งปล่อยให้เกิดการขาดทุนระยะยาว จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยว และโรงแรมในระยะยาวอย่างแน่นอน จัดหาวัคซีนจากผู้ผลิตให้เร็ว ด้าน นายวิลเลียม อี ไฮเน็ค ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการ บริษัทไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT ผู้บริหารโรมแรมในเครือไมเนอร์ โฮเทล และธุรกิจร้านอาหาร กล่าวว่า เวลานี้ ทางรัฐบาลต้องนำเสนอแนวทางในการจัดหาวัคซีนจากแหล่งผู้ผลิตต่าง ๆ ให้รวดเร็วกว่านี้ และเร่งกระบวนการฉีดวัคซีนมากขึ้น ซึ่งตามหลักความเป็นจริง ทางรัฐบาลไทย น่าจะใช้กระบวนพิจารณาเช่นเดียวกันกับประเทศอื่นๆ สหราชอาณาจักร สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสหรัฐอเมริกาด้วยการใช้วัคซีนที่ได้รับการอนุมัติแล้วจากประเทศอื่น ๆ โดยไม่ต้องรอการอนุมัติ จากองค์การอาหารและยาในประเทศก็ได้ เพราะติดระเบียบราชการและใช้เวลานานเกินไป ลุ้นครม.อนุมัติภูเก็ตโมเด็ล ขณะที่ นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ได้เคยนำเสนอภูเก็ตโมเดลมาก่อนหน้านี้ แต่เวลานี้ได้เสนอต่อนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งทางนายกสมาคมโรงแรมไทย ได้ผลักดันเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 30 มีนาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งข้อเสนอดังกล่าว ต้องการให้รัฐบาลอนุมัติให้จัดหาวัคซีนทั้งจากซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้าจำนวน 933,174 โดส สำหรับประชากรบนเกาะภูเก็ตจำนวน 466,587 คน โดยแบ่งตามกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ เช่น ประชากรที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป แรงงานในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ไม่ได้ย้ายทะเบียนบ้าน แรงงานในธุรกิจอื่น และรวมถึงแรงงานต่างด้าว เป็นต้น ซึ่งถ้าหากสามารถทำได้ตามแนวทางที่วางไว้ ก็จะทำให้เกิดการเปิดประเทศแบบไม่ต้องกักตัวเริ่มต้นได้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ด้วยการฉีดวัคซีนชุดแรกจากซิโนแวคในวันที่ 15 เมษายน จำนวน 3 แสนโดส ตามมาด้วยวัคซีนชุดที่สองในวันที่ 15 พฤษภาคม ก่อนที่จะฉีดอีกครั้งจากวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าในวันที่ 1 มิถุนายน 2564 โดยการดำเนินงานตามแนวทางดังกล่าว จะทำให้ประเทศไทยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศจากการเปิดประเทศแบบไม่ต้องกักตัว ช่วงสิ้นปี 2564 ประมาณ 84,290 ล้านบาท จากกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพซึ่งได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว เช่น จีน สหราชอาณาจักร สิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิสราเอลและรัสเซีย ส่วนอีกโมเดลหนึ่ง เป็นการนำเสนอโดยยึดตามแผนการเปิดประเทศของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ใน เดือนตุลาคม ถ้าหากได้รับการอนุมัติวัคซีน ก็จะทำให้มีรายได้จากการท่องเที่ยวอย่างน้อย 54,967 ล้านบาท