กลุ่มลดความเหลื่อมล้ำทางเพศ ร้องกมธ.ยกเลิกเก็บภาษีผ้าอนามัย ลดเหลื่อมล้ำทางเพศ-คืนความเป็นธรรมให้สตรีไทย
เมื่อวันที่ 24 มี.ค. ที่รัฐสภา นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร รับยื่นหนังสือจาก นายปภาณษิณ ปิ่นแก้ว หัวหน้ากลุ่มลดความเหลื่อมล้ำทางเพศ และคณะ เรื่อง ข้อเรียกร้องในการแก้ไขการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจำพวกผ้าอนามัยให้มีความเป็นธรรมต่อเพศหญิงมากขึ้น สืบเนื่องจากผ้าอนามัยในประเทศไทยถูกจัดเป็นสินค้าควบคุมและเป็นสินค้าที่จำเป็น ซึ่งต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ร้อยละ 7 ซึ่งถือเป็นการดำเนินการเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรมต่อสตรี โดยการมีประจำเดือนเป็นเรื่องที่ไม่สามารถควบคุมหรือหลีกเลี่ยงได้ เพราะเป็นกลไกตามธรรมชาติของเพศหญิง ซึ่งต้องมีการดูแลให้ถูกสุขลักษณะเพื่อสุขภาพของสตรีทุกคน ดังนั้นการดำเนินการจัดเก็บภาษีผ้าอนามัยจึงไม่เป็นธรรมสำหรับเพศหญิง อีกทั้งยังส่งผลกระทบให้การใช้ผ้าอนามัยที่ถูกตามหลักสุขลักษณะลดลง และทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพของประชาชนที่เป็นเพศหญิงอย่างเห็นได้ชัดเจน
นายปภาณษิณ กล่าวต่อว่า ประกอบกับในปัจจุบันประชาชนกำลังประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 การยกเลิกเก็บภาษีผ้าอนามัยจึงเป็นการลดภาระทางภาษีให้กับเพศหญิงทุกคน และในหลาย ๆ ประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย แคนาดา และมาเลเซีย เป็นต้น มีการยกเลิกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในสินค้าจำพวกผ้าอนามัยทุกรูปแบบ รวมไปถึงการหาทางออกในรูปแบบอื่น อาทิ ประเทศสกอตแลนด์กำหนดให้ผ้าอนามัยเป็นสินค้าฟรีจากรัฐ ในการนี้ ทางกลุ่มจึงขอเสนอข้อคิดเห็นต่อคณะ กมธ. เพื่อดำเนินการศึกษาปัญหาดังกล่าวให้เกิดความเท่าเทียมและเป็นธรรมต่อสตรี ดังนี้ 1.ยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่มในสินค้าจำพวกผ้าอนามัยทุกชนิด เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเพศ และคืนความเป็นธรรมให้สตรีทุกคนในประเทศไทย 2.ต้องมีการจัดหาผ้าอนามัยแจกในสถานศึกษาระดับโรงเรียน เพราะเป็นวัยที่ยังไม่มีรายได้
ด้านนายธัญวัจน์ กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า คณะ กมธ. ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่ได้เกิดเฉพาะในประเทศไทย แต่ในหลายประเทศก็กำลังประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสุขภาวะที่ดีของเพศหญิงเช่นกัน ทั้งนี้ จะนำข้อเสนอของกลุ่มลดความเหลื่อมล้ำทางเพศเข้าสู่การพิจารณาศึกษาของคณะ กมธ. อย่างรอบด้านในทุกมิติตามกรอบอำนาจหน้าที่ และจะหาทางผลักดันเพื่อให้เกิดความเสมอภาคทางเพศ ซึ่งเมื่อได้ผลการพิจารณาศึกษาแล้วจะนำเสนอต่อสื่อมวลชนต่อไป