สหกรณ์ เป็นวิธีการหนึ่งในการส่งเสริมการทำงานร่วมกันของคนในสังคม ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นทางเศรษฐกิจและสังคม การพัฒนากิจกรรมสหกรณ์นักเรียนในโรงเรียนถือเป็นก้าวแรก แห่งการเรียนรู้ด้านการสหกรณ์ในสถานศึกษา เพื่อนำไปสู่การนำแนวทางการสหกรณ์ไปปรับใช้ในวิถีชีวิตและการสร้างรากฐานแห่งงานสหกรณ์ที่เป็นจริงในสังคม สืบสานงานสหกรณ์จากคนรุ่นอดีตรับช่วงต่ออุดมการณ์ หลักการและวิธีการสหกรณ์ไปสู่คนรุ่นต่อไป
การขับเคลื่อนกิจกรรมสหกรณ์ในโรงเรียน ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องภายใต้ทำงานร่วมกัน ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดกิจกรรมทั้งด้าน
การประชุมสัมมนา การพัฒนาองค์ความรู้ในการจัดการเรียนรู้การสหกรณ์ในสถานศึกษาให้แก่ครูและบุคลากรสถานศึกษาผู้รับผิดชอบงานสหกรณ์ นักเรียน และการประเมินผลการดำเนินกิจกรรมสหกรณ์ในสถานศึกษาภายใต้โครงการคัดเลือกกิจกรรมสหกรณ์นักเรียนต้นแบบประจำเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งนับเป็นความพยายามในการยกระดับงานพัฒนากิจกรรมสหกรณ์นักเรียนภายใต้การทำงานร่วมกันของทุกฝ่าย โดยการพัฒนากิจกรรมสหกรณ์นักเรียนประกอบด้วยกิจกรรมที่เกี่ยวข้องในสองลักษณะคือ กิจกรรมเกี่ยวกับการเรียนรู้การสหกรณ์ของนักเรียนและกิจกรรมการขับเคลื่อนงานกิจกรรมสหกรณ์นักเรียน ซึ่งทั้งสองลักษณะดำเนินการไปอย่างสอดคล้องต่อกัน โดยบริบทการพัฒนากิจกรรมสหกรณ์นักเรียนนอกจากอาศัยบุคลากรของภาครัฐแล้ว การสร้างการเชื่อมโยงกับสหกรณ์ในชุมชน ในท้องถิ่น หรือสหกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียน เป็นแนวทางหนึ่งที่จะสร้างรากฐานความมั่นคงแก่กิจกรรมสหกรณ์นักเรียน ให้สามารถมีศักยภาพในการดำเนินการและสร้างการเรียนรู้แก่นักเรียนในสถานศึกษา ภายใต้การเชื่อมโยงร่วมกันระหว่างกิจกรรมสหกรณ์นักเรียน กับสหกรณ์ที่เกี่ยวข้อง อันเป็นสหกรณ์ในสภาพจริงของสังคมที่ใกล้นักเรียนมากที่สุด นับเป็นการสร้างระบบงานสหกรณ์พัฒนาภายใต้การสร้างเครือข่ายร่วมกันในการสร้างสังคมสหกรณ์แก่คนรุ่นต่อไป
กิจกรรมสหกรณ์ในโรงเรียนจะเริ่มจากการครูผู้รับผิดชอบสอนวิชาสหกรณ์ในโรงเรียนจะได้รับการอบรมเพื่อกำหนดหลักสูตรการสอนให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการสหกรณ์ในเบื้องต้น ทั้งประเภทและโครงสร้างสหกรณ์ อุดมการณ์ หลักการและวิธีการสหกรณ์ก่อน เพื่อกำหนดหลักสูตรการสอนและผลิตสื่อการสอนวิชาสหกรณ์ เพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสหกรณ์ได้อย่างถูกต้อง และสามารถนำไปปรับใช้ได้ในการเรียน การดำเนินชีวิต ควบคู่กับกิจกรรมสหกรณ์นักเรียนในภาคปฏิบัติ
ซึ่งประกอบด้วย 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่
1.กิจกรรมส่งเสริมการเกษตรและอาชีพ เพื่อฝึกทักษะให้เด็กได้ปลูกพืชผัก เลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงปลา ทำปุ๋ยอินทรีย์ ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพของครอบครัวของนักเรียนในการปลูกพืชบริโภคในครัวเรือนเหลือนำส่งจำหน่ายผ่านกิจกรรมร้านค้าสหกรณ์นักเรียนได้อีกทางหนึ่ง
2.กิจกรรมร้านค้าสหกรณ์ เพื่อส่งเสริมและฝึกฝนนักเรียนในการให้บริการเพื่อนร่วมโรงเรียน การฝึกทักษะในการทำงานร่วมกัน การบันทึกข้อมูลทางบัญชีอย่างง่าย โดยอยู่ภายใต้การกำกับของครูที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมร้านค้า ซึ่งกิจกรรมร้านค้าดำเนินการในรูปแบบการจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องเขียนและผลิตภัณฑ์ของนักเรียน และรับซื้อผลผลิตการเกษตรจากแปลงเกษตรของโรงเรียน เพื่อนำไปผลิตเป็นอาหารกลางวันให้กับนักเรียน
3.กิจกรรมออมทรัพย์ เป็นกิจกรรมที่ต้องการฝึกนิสัยรักการออม สร้างวินัยทางการเงิน รู้จักวางแผนใช้จ่ายเงินและมีความซื่อสัตย์ของนักเรียน โดยครูที่เกี่ยวข้องต้องมีความรับผิดชอบและจัดการสมุดบัญชีเงินฝากรายบุคคล พร้อมทั้งจัดทำทะเบียนคุมเงินฝากรายบุคคลไว้ทุกคน หรือฝึกฝนนักเรียนทำหน้าที่ในการบันทึกข้อมูลการฝากเงิน ภายใต้เงื่อนไขการกำกับของครูที่รับผิดชอบเป็นรายชั้นและส่งจำนวนเงินแก่ครูที่เกี่ยวข้องที่รับผิดชอบกิจกรรมการออมในภาพรวม เพื่อนำฝากต่อธนาคารหรือนำฝากต่อสหกรณ์
4.กิจกรรมการศึกษาและสวัสดิการ เป็นการส่งเสริมความรู้ให้แก่คณะกรรมการสหกรณ์นักเรียนหรือสมาชิก โดยพาไปทัศนศึกษาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานสหกรณ์จากพื้นที่จริง ซึ่งกิจกรรม
สหกรณ์ในโรงเรียนเป็นการดำเนินการเพื่อสาธิตการส่งเสริมการเรียนรู้แก่นักเรียน ฝึกทักษะให้มีศักยภาพในการทำงานร่วมกันและปลูกฝังแนวคิดเกี่ยวกับการสหกรณ์ เตรียมความพร้อมไปสู่สังคมที่เป็นจริง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องสร้างการเชื่อมโยงกับสหกรณ์ในสภาพจริงของสังคมที่เป็น สหกรณ์ในท้องถิ่น และสหกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมสหกรณ์นักเรียน
กิจกรรมทั้งสี่ลักษณะ เป็นกิจกรรมการดำเนินงานของกิจกรรมสหกรณ์นักเรียน ซึ่งเป็นเครื่องมือชี้วัดศักยภาพการจัดการเรียนรู้การสหกรณ์ของโรงเรียน โดยต้องมีลักษณะการเชื่อมโยงกิจกรรมเข้าด้วยกัน
นอกจากนี้วิชาสหกรณ์ยังช่วยเพิ่มพูนความรู้ ทักษะให้แก่นักเรียนทางด้านภาษาไทย คณิตศาสตร์ ด้วยการสอดแทรกวิชาสหกรณ์เข้ากับวิชาสังคมศาสตร์ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ ฝึกให้นักเรียนได้รู้จัก
การจัดประชุมคณะกรรมการสหกรณ์ การบันทึกรายงานการประชุม การบัญชี การตั้งราคาสินค้า การจ่ายเงินปันผล เงินเฉลี่ยคืนของกิจกรรมสหกรณ์ ที่สำคัญช่วยปลูกฝังประชาธิปไตย ความซื่อสัตย์ ความประหยัด เอื้ออาทรต่อผู้อื่น
สหกรณ์โรงเรียนจึงถือว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สามารถเพิ่มโอกาสคนในชุมชนให้เข้าถึงความรู้ และเกิดความคิดในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม รวมกันจัดตั้งกลุ่มที่ดำเนินการด้วยหลักการและวิธีการสหกรณ์ หรือจัดตั้งสหกรณ์ หรือสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มหรือสหกรณ์ที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ได้อีกด้วย