จากเซลล์ผิวหนังอูฐเพศผู้พันธุกรรมดีเยี่ยม ได้ลูกอูฐโคลนนิ่งแข็งแรง 2 ตัว พร้อมขยายผลพัฒนาเป็นสัตว์เศรษฐกิจประจำถิ่น ทั้งเพื่อแข่งขันและสวยงาม
รศ.ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย หัวหน้าศูนย์วิจัยเทคโนโลยีตัวอ่อนและเซลล์ต้นกำเนิด สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เปิดเผยว่า จากการสั่งสมความเชี่ยวชาญ รวมถึงผลสำเร็จด้านเทคโนโลยีการโคลนนิ่งสัตว์พันธุกรรมดีเยี่ยมของศูนย์วิจัยฯ อาทิ การโคลนนิ่งโคนมโคเนื้อสายพันธุ์ดี โคแรกนาขวัญพันธุ์ขาวลำพูน แพะ สัตว์สงวนหายากของประเทศอย่างแมวดาว และกระทิง เป็นต้น เหล่านี้ได้สร้างชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและนานาชาติ กระทั่งล่าสุดห้องปฏิบัติการวิจัย Hayah Genetics Veterinarian Laboratory และ Advanced Scientific Research Group นครอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้ประสานขอความร่วมมือเชิญทีมวิจัย มทส. ร่วมแลกเปลี่ยนถ่ายทอดเทคโนโลยีการโคลนนิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอูฐสายพันธุ์ดี ซึ่งถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจในเขตภูมิภาคดังกล่าว
ศูนย์วิจัยฯ มทส. จึงได้ส่งนักวิจัย ประกอบด้วย ดร.กนกวรรณ ศรีรัตนะ นักวิจัยหลังปริญญาเอก และนายสุเมธ ชมพูธวัช นักศึกษาปริญญาเอก เดินทางไปร่วมทำวิจัยโคลนนิ่งอูฐ เมื่อเดือนพ.ย.62-เม.ย.63 ที่ผ่านมา โดยใช้เทคโนโลยีการโคลนนิ่งโคของศูนย์วิจัยฯ เป็นหลัก ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างดีในการเตรียมห้องปฏิบัติการทดลองที่ทันสมัย มูลค่ากว่า 30 ล้านบาท ความพร้อมด้านงบประมาณ วัสดุ อุปกรณ์เครื่องมือทดลอง และการมีฟาร์มอูฐขนาดใหญ่
สำหรับการโคลนนิ่งอูฐนี้ ถือเป็นการทดลองครั้งแรกของทีมวิจัย มทส. โดยได้ปรับเทคนิคและกระบวนการบางอย่างเพื่อให้เกิดความเหมาะสม ตั้งแต่ การค้นหาอุณหภูมิและระยะเวลาที่เหมาะสมกับการเก็บรังไข่ การเพาะเลี้ยงเซลล์เนื้อเยื่อ การเชื่อมเซลล์ด้วยการกระตุ้นจากกระแสไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งเทคนิคและกระบวนการเหล่านี้จะต้องใช้ทีมวิจัยที่มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และความอดทนสูงมาก
การวิจัยครั้งนี้ ประสบผลสำเร็จได้อูฐตั้งท้อง 3 ตัว ตามปกติอูฐจะตั้งท้อง 12-13 เดือน ในจำนวนนี้อูฐตัวรับอุ้มท้อง 1 ตัวแท้งลูกเมื่อตั้งท้องมาได้ 11 เดือน โดยเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2564 เวลาท้องถิ่น 22.40 น. แม่อูฐตัวรับได้คลอดลูกอูฐโคลนนิ่งตัวแรกเพศผู้ ซึ่งเกิดจากเซลล์ผิวหนังอูฐเพศผู้ชื่อ Jabar และเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา เวลาท้องถิ่น 18.40 น. ได้ลูกอูฐโคลนนิ่งตัวที่สองเพศผู้ เกิดจากเซลล์ผิวหนังอูฐเพศผู้ชื่อ Majed นับถึงปัจจุบันลูกอูฐโคลนนิ่งทั้ง 2 ตัวมีสุขภาพแข็งแรงดี
ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยได้ทำการตรวจดีเอ็นเอของลูกอูฐโคลนนิ่งทั้งสองตัวแล้ว พบว่าตรงกับของเซลล์ต้นแบบที่นำมาทำโคลนนิ่งทุกประการ ความสำเร็จครั้งนี้ นับเป็นก้าวแรกของการนำเทคโนโลยีโคลนนิ่งของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ไปใช้เพื่อเพิ่มจำนวนอูฐพันธุกรรมดีเยี่ยม ซึ่งอูฐถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจในประเทศแถบตะวันออกกลาง นำไปใช้ประโยชน์ตั้งแต่ การบริโภคเนื้อ-นม ใช้เป็นพาหนะเพื่อการขนส่ง เพื่อการวิ่งแข่งขัน และการประกวดสวยงาม เป็นต้น โดยอูฐเพศผู้ที่ชนะเลิศวิ่งแข่งจะมีมูลค่าระหว่าง 5-10 ล้านบาท ส่วนอูฐเพศเมียที่ชนะเลิศในการประกวดความสวยงาม จะมีมูลค่าตัวละ 3-5 ล้านบาท จึงเป็นที่นิยมในการเลี้ยงและสะสมในหมู่ของเจ้าผู้ครองนคร รวมถึงผู้มีฐานะในภูมิภาคดังกล่าว ทั้งนี้ ทีมงานวิจัย มทส. มีแผนไปทำวิจัยและพัฒนาเพิ่มเติมในปลายปี 2564