"นักโบราณคดี" สำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น กรมศิลปากร สำรวจพบแหล่งภาพเขียนสีศิลปะถ้ำอายุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ราว 6,000–5,000 ปี จำนวน 25 แหล่งใหม่ ในพื้นที่ภูเก้า ภูพานคำ และภูเวียง รวมสำรวจพบก่อนหน้านี้เป็น 49 แหล่ง ทำให้ปัจจุบันพื้นที่บริเวณแนวเทือกเขาภูพาน กลายเป็นจุดที่พบแหล่งศิลปะถ้ำมากและหนาแน่นที่สุดในประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 มี.ค.64 นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า สำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น ได้ดำเนินโครงการสำรวจศิลปะถ้ำ (Rock Art) ประจำปีงบประมาณ 2564 ในพื้นที่ภูเก้า ภูพานคำ และภูเวียง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจแหล่งศิลปะถ้ำในเขตพื้นที่ดังกล่าวซึ่งเคยมีการสำรวจพบแล้วจำนวน 24 แหล่ง และค้นหาแหล่งใหม่ๆ เพื่อนำข้อมูลทางวิชาการที่ได้จากการสำรวจไปใช้เพื่อการศึกษา อ้างอิง และเผยแพร่ให้แก่ผู้สนใจ รวมไปถึงพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของ จ.ขอนแก่น อุดรธานี และหนองบัวลำภู โดยกรมศิลปากรได้ทำการสำรวจร่วมกับเจ้าหน้าที่จากอุทยานแห่งชาติภูเวียง อุทยานฯน้ำพอง อุทยานฯภูเก้า-ภูพานคำ ป่าสงวนแห่งชาติป่าหมากหญ้า และหน่วยงานอื่นๆ ในท้องถิ่น ผลการดำเนินงานสำรวจพบแหล่งภาพเขียนสีจำนวน 49 แหล่ง ในจำนวนนี้เป็นแหล่งที่สำรวจพบใหม่ถึง 25 แหล่ง ทำให้ปัจจุบันพื้นที่บริเวณแนวเทือกเขาภูพานนี้ กลายเป็นจุดที่พบแหล่งศิลปะถ้ำมากและหนาแน่นที่สุดในประเทศไทย นักโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น กรมศิลปากร ร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติในพื้นที่ภูเก้า ภูพานคำ และภูเวียง สำรวจพบแหล่งภาพเขียนสีศิลปะถ้ำ 25 แหล่งใหม่ บางแหล่งมีอายุอยู่ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เริ่มตั้งแต่ราว 6,000 – 5,000 ปีมาแล้ว แหล่งภาพเขียนสีภูตะเภาทอง อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวอีกว่า บางแหล่งมีศักยภาพในการส่งเสริมและพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต ที่สำคัญเช่น แหล่งภาพเขียนสีถ้ำแมงป่อง มีการสำรวจพบใหม่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูเวียง ลักษณะเป็นภาพสีแดงเขียนยาวต่อเนื่องประมาณ 15 เมตร ตลอดแนวผนังหินปรากฏภาพเขียนสีจำนวนมากเช่น ภาพลายเส้นคดโค้ง ลายจุดประ ลายตาราง ภาพฝ่ามือมนุษย์ ภาพเชิงสัญลักษณ์ ภาพสัตว์ ได้แก่ วัว กวาง แมงป่อง และภาพสัตว์คล้ายตัวเลียงผาหรือตัวเซาลา และแหล่งภาพเขียนสีถ้ำทินกร ลักษณะเป็นภาพสีแดงรูปคล้ายคน รูปสัตว์คล้ายสุนัขจิ้งจอก รูปวัว รูปสัญลักษณ์ และลายเส้นเรขาคณิต อยู่ในแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่จ.ขอนแก่น เนื่องจากตั้งอยู่ในพื้นที่จุดชมวิวหินช้างสี ในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำพอง นอกจากนี้สำรวจพบแหล่งภาพเขียนสีภูตะเภาทอง ตั้งอยู่ในพื้นที่วัดภูตะเภาทอง อ.หนองวัวซอ จ. อุดรธานี มากถึง 14 แหล่ง แหล่งภาพเขียนสีถ้ำพระนาหลวง ในเขตอ.บ้านผือ จ.อุดรธานี จำนวน 12 แหล่ง เป็นต้น ภาพเขียนสีถ้ำแมงป่อง ใช้ application DStretch ถ่าย “ทั้งนี้การกำหนดอายุสมัย จากลักษณะของภาพเขียนสีที่ปรากฏมีทั้งภาพสัตว์ ภาพฝ่ามือ ลายเรขาคณิต ลายเส้นตาราง และภาพเชิงสัญลักษณ์ที่พบนั้น สันนิษฐานในเบื้องต้นว่าภาพในกลุ่มนี้น่าจะถูกเขียนขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน มีอายุอยู่ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เริ่มตั้งแต่ราว 6,000–5,000 ปีมาแล้ว และอาจมีการทำต่อเนื่องมาจนถึงราว 3,000–2,000 ปีมาแล้ว อย่างไรก็ดีการกำหนดอายุสมัยของภาพเขียนสีจะต้องมีการดำเนินการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป โดยเฉพาะการกำหนดอายุด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อหาค่าอายุสัมบูรณ์ของภาพเขียนสี รวมไปถึงควรมีการขุดค้นแหล่งโบราณคดีที่อยู่ใกล้เคียงกับภาพเขียนสีเพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์และวัฒนธรรมของผู้คนในสมัยอดีตที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องในการสร้างสรรค์ภาพเขียนสีเหล่านี้ด้วย” อธิบดีกรมศิลป์ กล่าว