วันที่ 23 มี.ค.64 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นหนังสือให้ ป.ป.ช.ดำเนินการกับ 208 สมาชิกรัฐสภา ที่ลงมติเห็นชอบ วาระ 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นการกระทำที่จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ป.ป.ช. และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่มีผลผูกพันทุกองค์กร การที่สมาชิกรัฐสภายังบังอาจลงมติเห็นชอบในวาระที่ 3 จึงเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงขอให้ ป.ป.ช.ไต่สวนและมีความเห็นส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด ฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองดำเนินการต่อไป
นายณัฐพร กล่าวว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมามีความชัดเจนอยู่แล้วว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับจะทำไม่ได้ แต่หากจะทำก็ต้องไปขอประชามติจากประชาชนก่อน และการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 15/1 เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญปี 2560 ทั้งฉบับ โดยจะมีผลให้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้งฉบับต้องถูกยกเลิกไปด้วย ซึ่งจะกระทบกับโครงสร้างทางการเมืองการปกครองและยังส่งผลให้คดีความต่างๆ โดยเฉพาะคดีความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ถูกศาลลงโทษไปแล้ว หรืออยู่ระหว่างการดำเนินคดีต้องหลุดพ้นไปด้วย เหตุเพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ถูกยกเลิกไป
นายณัฐพร กล่าวว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการหาทางออกให้ประเทศ เพราะเดิมการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำไม่ได้ แต่คำวินิจฉัยก็ออกมาบอกว่าแก้ไขได้ แต่ต้องไปทำประชามติถามประชาชนว่ายินยอมหรือไม่ ถ้ายินยอมก็แก้ไขได้
“การที่ญัตติโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตกไป แต่การที่ ส.ส.และ ส.ว. 208 คน ไปรับรองมติ ถือเป็นการจงใจปฎิบัติหน้าที่ให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งตาม พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช. ระว่า ป.ป.ช.มีอำนาจสอบสวน และส่งอัยการฟ้องร้องภายใน 108 วัน ให้ศาลสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง และตัดสิทธิ์ทางการเมือง 10 ปี “ นายณัฐพร กล่าว
เมื่อถามว่า ที่ฝ่ายการเมืองอ้างว่ามติดังกล่าวเป็นเพียงการแก้ไขรายมาตรา เพราะแก้มาตรา 256/1 เท่านั้น นายณฐพร กล่าวว่า การแก้มาตรา 256/1 เพื่อตั้ง สสร.ก็เหมือนการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งศาลระบุไว้ชัดเจนว่า การแก้ให้มี สสร. ไปร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะเป็นสิทธิของ ส.ส.ร.ที่จะทำ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้กระทบต่อโครงสร้างของประเทศ กระทบต่อการบริหารงาน รัฐบาล กระทบต่อทุกภาคส่วน แต่เรามองไม่เห็นกันว่า การแก้แบบนี้ก่อให้เกิดผลอะไรตามมา