บรรยากาศของการหาเสียงเลือกตั้ง ของผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองฉะเชิงเทรา ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนถึงวันเลือกตั้ง 28 มี.ค.64 นี้ โดยที่ผู้สมัครทั้งสองฝ่ายนั้น ได้ต่างโหมกระแสขึ้นป้ายแสดงถึงนโยบายต่างๆ ที่จะนำไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ หากเป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้ง ที่มีการปิดประกาศขึ้นป้ายไปตามเสาไฟฟ้าทั่วทั้งเขตเทศบาลเมืองฉะเชิงเทราทั้ง 3 เขตแล้ว แต่ผู้สมัครหมายเลข 2 นายวัชระ ปิ่นเจริญ วัย 38 ปี อดีตผู้สมัคร ส.ส.เขต 1 จ.ฉะเชิงเทรา จากพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมทีมผู้สมัคร “แปดริ้วยุคใหม่” หมายเลข 7-12 ทั้ง 3 เขตเลือกตั้ง ยังได้มีการพัฒนานำเอาเทคโนโลยีในการหาเสียงในรูปแบบใหม่ๆ มาใช้อย่างหลากหลาย นอกจากการเดินย่ำด้วยเท้าไปขอคะแนนตามแหล่งชุมชน และตลาดนัดต่างๆ แล้ว ยังได้มีการนำเอาจอภาพแอลซีดีขนาดใหญ่ ที่สามารถปรับตำแหน่งเปลี่ยนทิศทางหันไปหาผู้คนได้ มาติดตั้งไว้บนรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก โดยมีทีมงานขับเคลื่อนไปจอดตามชุมชนต่างๆ พร้อมเปิดเสียงและภาพคำกล่าวปราศรัยแถลงถึงแนวนโยบายที่อยากจะทำ หลังจากผ่านการเลือกตั้งไปแล้วหากได้รับการเลือกตั้งให้ได้เป็นนายกเทศมนตรีคนต่อไป จึงทำให้ดูแปลกตา เรียกความสนใจจากผู้คนให้หันมาดูจอโทรทัศน์แบบเคลื่อนที่ได้ พร้อมกับรับฟังถึงนโยบายในการหาเสียงได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งถือเป็นพัฒนาการใหม่ของการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น ที่ได้มีการลงทุนใช้วิธีการหาเสียงในลักษณะนี้ และไม่เคยปรากฏมาก่อนในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา โดยนโยบายที่นำมาเปิดแถลง ได้มุ่งเน้นในการเปลี่ยนแปลงเมืองฉะเชิงเทราใหม่ให้ทันยุคทันสมัย ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ควบคู่กับการพัฒนาคนให้เกิดการเรียนรู้ภาษาต่างชาติ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่โดยตรง โดยที่ประชาชนสามารถเสนอแนะด้านการบริหารงานผ่านทางสภาประชาชน พร้อมกับการตรวจสอบประเมินผลงานของฝ่ายบริหารได้ ขณะเดียวกันอดีตแชมป์เก่าที่ครองตำแหน่งมาอย่างยาวนานถึง 6 สมัย คือ นายกลยุทธ ฉายแสง คนตระกูลการเมืองดังระดับชาติ “ฉายแสง” ผู้สมัครหมายเลข 1 วัย 62 ปีแกนนำ “กลุ่มรวมใจพัฒนา” ที่ได้นำทีมงานลงสมัครสมาชิกสภาเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา ครบทั้ง 3 เขตเลือกตั้งหมายเลข 1-6 นั้น ไม่ได้เน้นการเดินหาเสียงหรือเดินเท้าเพื่อขอคะแนนเสียงจากชาวบ้านมากนัก แต่ได้ไปเน้นเกี่ยวกับในเรื่องของผลงานเก่าๆ ที่เคยทำมาในอดีต โดยมีการขึ้นป้ายถึงความสำเร็จในด้านต่างๆ ที่เคยทำมา ด้วยการชูสโลแกนให้เลือกคนทำงานเป็นให้ได้กลับเข้ามาทำงานต่ออีกครั้ง พร้อมกับมีการขึ้นป้ายโชว์ผลงานเก่าไปจนทั่วทั้งเมืองตามเสาไฟฟ้ารายทางทั่วไป ++++++++++++++