เมื่อวันที่ 22 มี.ค.64 ที่บริเวณป่าชุมชนบ้านป่าข่า อ.ขุนตาล จ.เชียงราย ได้มีกิจกรรมบวชป่า-สืบชะตาแม่น้ำอิง โดยนายสอน เทพสมบัติ ผู้ใหญ่บ้านกล่าวว่า ป่าชุมชนแห่งนี้มีมานานแล้วโดยชาวบ้านช่วยกันอนุรักษ์เอาไว้ วันนี้เป็นวันแรกที่มาบวชป่าเพื่ออนุรักษ์ให้ไปถึงลูกหลาน ซึ่งมีคณะกรรมการต่างๆมาดู เป็นนิมิตหมายอันดีที่ทุกภาคส่วนได้มาร่วมแรงร่วมใจกัน การสืบชะตาป่าในครั้งนี้ ป่าชุมแสงหล่อเลี้ยงผู้คนมากว่า 300 ปี การจัดกิจกรรมครั้งนี้ทำให้ชุมชนเกิดกำลังใจในการอนุรักษ์และสร้างการรับรู้จากบทเรียนและประสบการณ์ เป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่นๆ ทั้งนี้ป่าข่าซึ่งชุมชนเรียกว่า “ป่าร่องติ๊บ” เป็นระบบนิเวศชุ่มน้ำที่มีความหลากหลายมาก โดยมีพื้นที่ 85 ไร่ พบต้นส้มแสงมากที่สุดโดยต้นส้มแสงเป็นไม้ยืนต้นที่มีความทนต่อน้ำท่วมขัง นายญาณวุฒิ สุดพิมพ์ศรี อำเภอขุนตาล กล่าวว่า สถานที่แห่งนี้คือมรดกของบรรพบุรุษที่ช่วยกันรักษาถึงลูกหลานมีอายุราว 300 ปี ทั้งนี้สภาพปัจจุบันพื้นที่ป่าต่างๆของประเทศถูกบุกรุกมาก ไม่ว่าจะเป็นป่าของรัฐหรือชุมชน แม้จะออกเอกสาร นสล.(ที่ดินสาธารณะ) แล้วแต่ก็ยังมีประชาชนเข้าไปทำกินและยึดครองเป็นของส่วนตัว ถ้าผู้นำไม่เข้มแข็งไม่มีวันรักษาที่ดินสาธารณประโยชน์ไว้ได้ ดังนั้นการดูแลรักษาเป็นเรื่องสำคัญ การบวชป่าครั้งนี้จึงเป็นประวัติศาสตร์เพราะป่าที่มีอัตลักษณ์ในพื้นที่ นายสุทธิ มะลิทอง รองผู้อำนวยการสถาบันความหลากหลาย มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย กล่าวว่าเพิ่งเคยเห็นต้นชุมแสงหรือต้นส้มแสงขนาดใหญ่และมีจำนวนมากเป็นครั้งแรก ถือว่าเป็นวิสัยทัศน์กว้างไกลของบรรพบุรุษ ถือว่าเป็นป่าที่เดียวของประเทศไทยและโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นป่าชุมแสงซึ่งมีอัตลักษณ์ เพราะต้นไม้ชนิดนี้สามารถอยู่ในน้ำที่ท่วมประจำทุกปี 1-3 เดือน ซึ่งมีต้นไม้อยู่ไม่กี่ประเภทที่อยู่ได้ นายสุทธิกล่าวว่า ป่าพวกนี้เป็นป่าริมน้ำคอยดักจับตะกอน และเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ โดยอยู่ติดแม่น้ำอิงที่เชื่อมต่อแม่น้ำโขง ทำให้ปลาน้ำโขงเข้าสู่แม่น้ำอิงและป่าเหล่านี้เป็นที่อยู่อาศัย และแพร่พันธุ์ ปกติต้นชุมแสงเป็นไม้ที่โตช้า ดังนั้นป่าที่นี่จึงสุดยอดเพราะต้นชุมแสงมีอายุนานกว่า 300 ปี เป็นอัตลักษณ์เฉพาะ ที่หาป่าชุมแสงแบบนี้จากที่อื่นไม่มีแล้ว “ต้นชุมแสงเป็นไม้ฟื้นฟูของป่าหรือไม้เบิกนำทำให้ไม้ชนิดอื่นขึ้นได้ และมีสิ่งมีชีวิตอื่นตามมาเป็นกลไกต่อเนื่อง มีปลา มีผู้ล่าอื่นเข้ามา มีอีเห็น แมวดาวตามเข้ามา เราเคยเจอร่องรอยกลุ่มแมวป่าที่เป็นสัตว์หายากในพื้นที่ชุ่มน้ำอิงด้วย”นายสุทธิ กล่าว นักวิชาการผู้นรู้กล่าวถึงพื้นที่ป่าชุ่มน้ำริมแม่น้ำอิงว่า ตอนนี้มีเป็นหย่อมป่า 26 แห่ง ทำให้เกิดช่องว่างและเกิดการบุกรุกง่าย ควรมีการแนวป้องกันแบบยั่งยื่น เช่น การเชื่อมป่าเหล่านี้ที่ใกล้กันเข้าด้วยกัน โดยสร้างแนวเชื่อมด้วยปลูกต้นไม้ เพราะไม่ใช่แค่ต้นไม้เท่านั้นที่เพิ่มขึ้น แต่สัตว์ป่าก็ถ่ายเทกันไป-มาได้ แต่ความยากคือต้องผ่านพื้นที่ที่มีคนครอบครอง ขณะเดียวกันในส่วนของภาครัฐ ควรยกระดับสนับสนุนให้ป่าชุ่มน้ำอิงเป็นพื้นที่ชุมน้ำนานาชาติ