กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 30.65-31.10 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 30.82 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 30.66-30.99 บาท/ดอลลาร์ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ยกเว้นเงินเยนและฟรังก์สวิส ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)คงกรอบเป้าหมายดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0-0.25% รวมถึงโครงการซื้อสินทรัพย์อย่างน้อย 1.2 แสนล้านดอลลาร์ต่อเดือนไว้ตามเดิม
อย่างไรก็ดี ประมาณการจากเจ้าหน้าที่เฟดหลายรายบ่งชี้ว่าจะไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงปี 2567 ทางด้านธนาคารกลางอังกฤษ(บีโออี)คงดอกเบี้ยไว้ที่ 0.1% และคงขนาดโครงการซื้อพันธบัตรที่ 8.95 แสนล้านปอนด์ ขณะที่ผู้กำหนดนโยบายของบีโออีมีความเห็นต่างกันไปเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจระยะยาว ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ)คงเป้าหมายดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ -0.1% และคงเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นประเภทอายุ 10 ปีไว้ที่ระดับราว 0% แต่ระบุว่าอัตราผลตอบแทนดังกล่าวสามารถปรับขึ้นหรือลงได้กว้างขึ้นเป็น 0.25% จากเป้าหมายที่ 0% นอกจากนี้บีโอเจจะเข้าซื้อกองทุน ETF และกองทุนทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) เมื่อจำเป็นแทนการกำหนดตัวเลขไว้อย่างเฉพาะเจาะจงแบบเดิม ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยมูลค่า 11,300 ล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตรสุทธิ 2,900 ล้านบาท
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า อัตราผลตอบแทนระยะยาวของสหรัฐฯยังเป็นปัจจัยชี้นำหลัก ขณะที่ข้อมูลการใช้จ่ายบริโภคส่วนบุคคลและถ้อยแถลงประธานเฟดจะอยู่ในความสนใจของนักลงทุนเช่นกัน ทั้งนี้ เฟดปรับประมาณการอัตราการเติบโตของจีดีพีสหรัฐฯในปีนี้เป็น 6.5% ซึ่งถือเป็นการขยายตัวที่สูงสุดในรอบ 37 ปี จากแรงหนุนของมาตรการกระตุ้นทางการคลังขนาดใหญ่และการกระจายวัคซีน นอกจากนี้ ตลาดไม่แน่ใจว่าบอนด์ยิลด์ที่ระดับใดจึงจะสร้างความกังวลให้กับเฟด ขณะที่เฟดประกาศไม่ต่ออายุการผ่อนปรนเกณฑ์ Supplementary Leverage Ratio ซึ่งจะหมดลงในเดือนนี้ ส่วนยุโรปเผชิญการแพร่ระบาดและมาตรการปิดเมืองรอบใหม่ ทำให้ในระยะนี้ภาพการฟื้นตัวของฝั่งสหรัฐฯดูสดใสกว่า
สำหรับปัจจัยในประเทศ ตลาดจะให้ความสนใจกับตัวเลขการค้าเดือนกุมภาพันธ์ และการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 24 มีนาคม ซึ่งคาดว่าจะมีมติคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 7 และส่งสัญญาณมุ่งเน้นการใช้เครื่องมือที่สนับสนุนการกระจายสภาพคล่องอย่างตรงจุด ท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจซึ่งมีลักษณะไม่ทั่วถึงและตลาดแรงงานที่ยังคงเปราะบาง