วันที่ 22 มี.ค.64เวลา 13.15 น. ที่รัฐสภา กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน(ศปปส.) นำโดยนายนพคุณ ทองถิ่น แกนนำร่วมศปปส. เข้ายื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่านนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาฯ เพื่อขอให้ตรวจสอบจรรยาบรรณ ความเหมาะสม และทัศนคติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ นายนพคุณ กล่าวว่า ทางศปปส.ขอให้ตรวจสอบ 2 ประเด็นคือ 1.ส.ส.กลุ่มหนึ่งไปร่วมชุมนุมกับผู้ชุมนุมที่มีพฤติกรรมจาบจ้วงสถาบันฯ และมีการใช้ตำแหน่งส.ส.ไปประกันตัวบุคคลที่ถูกจับกุมในการชุมนุม ทางประธานสภาฯจะมีบทลงโทษตามข้อบังคับ และอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้อย่างไร 2.กลุ่มส.ส.นำเอารูปผู้ต้องหาตามมาตรา 112 พร้อมด้วยถ้อยคำ “ปล่อยเพื่อนเรา” รวมถึงเรียกร้องให้มีการปล่อยผู้ต้องหาดังกล่าว มาแสดงในการประชุมร่วมรัฐสภา เมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ทางศปปส.สงสัยว่า สิ่งที่ส.ส.กลุ่มดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าอาจอยู่เบื้องหลัง มีส่วนรู้เห็น ยุยงปลุกปั่นให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา112หรือไม่ และประธานสภาฯมีความคิดเห็นในเรื่องนี้อย่างไร “ศปปส. และกลุ่มคนรักสถาบันฯ ได้เคยนำข้อสงสัยดังกล่าวยื่นร้องเรียนต่อสภาฯมาแล้ว แต่ยังไม่เห็นบทลงโทษ หรือมาตรการใดๆที่แสดงความชัดเจนต่อการทำผิดวินัย ทางประธานสภาฯยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ ทำให้ระยะหลังสภาฯมีมลทิน สังคมเบื่อหน่าย และมีความรู้สึกว่านี่หรือคือผู้แทนของประชาชน จึงขอให้มีการตรวจสอบตามอำนาจของเขตด้วยว่าจะมีบทลงโทษอย่างไร ทางศปปส.ยังคงขับเคลื่อนภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่จะไม่มีการเคลื่อนตัวชุมนุมลงบนท้องถนน” แกนนำร่วมศปปส. กล่าว ด้านนายสมบูรณ์ กล่าวว่า ในการประชุมสภาฯมีข้อบังคับบัญญัติไว้ ส.ส.สามารถอภิปราย พูดถึงสถาบันฯได้หรือไม่ตามข้อบังคับที่กำหนดไว้ ยืนยันว่าประธานสภาฯได้ปฏิบัติหน้าที่ตามข้อบังคับแล้ว นอกจากนี้สภาฯยังมีคณะกรรมการจริยธรรมด้วย หากประชาชนพบเห็นพฤติกรรมส.ส.ที่น่าจะกระทำผิด สามารถยื่นเรื่องมาที่ประธานสภาฯ เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการฯ ทั้งนี้ตนจะนำเรื่องดังกล่าวแจ้งต่อประธานสภาฯ เพื่อดำเนินการต่อไป