รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ลงพื้นที่อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน เพื่อประเมินสถานการณ์การลุกลามไฟป่าเป็นเวลาติดต่อกัน 3 วัน หลังพบไฟป่าไหม้ป่าบ้านน้ำเพียงดินติดชายแดนไทย-เมียนมาร์ ทำพื้นที่ป่าเสียหายจำนวนกว่า 1,000 ไร่ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2564 นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้มอบหมายให้ นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน และคณะลงพื้นที่ตรวจสอบกรณีการเกิดไฟป่าในเขตพื้นที่อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ที่ บ้านน้ำเพียงดิน ต.ผาบ่อง ฯ โดยได้ร่วม ประเมินสถานการณ์ กับชุดปฏิบัติการระดับหมู่บ้าน อาสาสมัคร และชุดทหารหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 7 หลังที่ได้เกิดไฟป่าลุกลามต่อเนื่อง กว่า 3 วัน ส่งผลให้พื้นที่ป่าถูกไฟป่าไหม้เสียหายกว่า 1,000 ไร่ ทั้งนี้จากการสรุปการประเมิน ของหมู่บ้านน้ำเพียงดิน พบว่า พื้นที่ป่าดังกล่าวอยู่ในเขตที่สูงชัน และไม่มีการจัดทำแนวกันไฟในเขตพื้นที่ป่าไว้แต่อย่างใด ประกอบกับ ห้วงนี้อากาศร้อนเมื่อเกิดไฟป่า ทำให้เกิดลมกรรโชกรุนแรง ทำให้การส่งกำลังภาคพื้นดินเข้าไปดับไฟจะเกิดอันตรายขึ้นได้ นอกจากนี้ ชุดหมู่บ้าน และ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ได้ประเมินสถานการณ์ให้ทราบว่า บริเวณพื้นที่ป่าด้านล่างจะมีแม่น้ำปายกั้น ส่งผลให้จะสามารถควบคุมไฟป่าได้ในท้ายที่สุด. เว้นแต่คืนนี้จะมีลมกระโชกแรง จะทำให้ไฟลุกลามหรือสะเก็ดไฟข้ามเข้าเขตพื้นที่หมู่บ้านได้ง่าย ในที่ประชุมร่วมจึงมีมติ ว่าในเบื้องต้นขอให้หมู่บ้านน้ำเพียงดินจัดทำแนวกันไฟให้รอบหมู่บ้าน มอบหมายให้ชุดหมู่บ้านเตรียมความพร้อมเผชิญเหตุหากไฟลุกลามเข้าเขตพื้นที่หมู่บ้าน การให้ชุดกำลังทหารเฝ้าระวังเหตุเนื่องจากมีฐานที่ตั้งอยู่ใกล้พื้นที่เสี่ยง หากพบการลุกลามของไฟป่าใกล้พื้นที่เสี่ยงให้แจ้งเตือน ชาวบ้านต่อไป ทั้งนี้ข้อสังเกตของที่ประชุม ระบุว่าบริเวณพื้นที่ป่า วนอุทยานนี้ ไม่ได้รับจัดสรรจัดทำแนวกันไฟป่า และแนวกันไฟที่ชาวบ้านจัดทำขึ้นเองก็มีขนาดเล็ก ในพื้นที่หมู่บ้านสมควรได้รับการสนับสนุนสร้างการเรียนรู้การนำใบไม้ที่ร่วงมาเพิ่มมูลค่าแทนการเผา. และการจัดทำแนวกันไฟป่าที่ถูกต้องต่อไป โดยจัดกิจกรรมปรับเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับการเผาป่าจาก “เรื่องปกติที่ใครๆก็ทำ” เป็น “เรื่องกระทบคุณภาพชีวิต ที่จำเป็นต้องควบคุมการเกิดไฟป่าตามหลักวิชาการต่อไป สำหรับสถานการณ์ไฟป่า จากการสำรวจจุดความร้อนของดาวเทียม สรุปจุดความร้อนช่วงเช้าของวันที่ 22 มี.ค.64 จำนวน 119 จุด อ.ปาย 20 จุด , อ.ปางมะผ้า 13 จุด , อ.เมืองแม่ฮ่องสอน 42 จุด , อ.ขุนยวม 10 จุด , อ.แม่ลาน้อย 10 จุด , อ.แม่สะเรียง 18 จุด และ อ.สบเมย 6 จุด ในส่วนของจุดความร้อนของวันที่ 21 มี.ค.64 พบว่าสูงถึง 244 จุด ประกอบด้วย , อ.ปาย 38 จุด , อ.ปางมะผ้า 52 จุด , อ.เมืองแม่ฮ่องสอน 75 จุด , อ.ขุนยวม 11 จุด , อ.แม่ลาน้อย 30 จุด , อ.แม่สะเรียง 21 จุด และ อ.สบเมย 17 จุด