จากกรณีที่เพจเฟสบุ๊คได้เผยแพร่รูปภาพระบุข้อความว่า “โปรดทราบตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไป ยกเลิกตั๋วรถไฟฟรีทุกขบวนรถทั่วประเทศ โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย” จนเป็นที่วิจารณ์ของโซเชียลมีเดีย และเกิดข้อสงสัยของประชาชนผู้ใช้บริการ วันนี้ทีมไขประเด็นได้นำข้อมูลข้อเท็จจริงของประเด็นดังกล่าวมาเพื่อให้ทุกคนได้ทราบความจริงกันว่าเป็นอย่างไร โดย นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. ชี้แจงประเด็นการยกเลิกนโยบายรถไฟฟรี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้ จนนำไปสู่การวิพากวิจารณ์ในสังคมออนไลน์ว่าเป็นการตัดสิทธิประโยชน์ของประชาชน ว่า นโยบายดังกล่าวรัฐบาลได้เริ่มดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาเศรษฐกิจตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2551 และได้มีการขยายระยะเวลาการดำเนินมาตรการฯ เป็นระยะๆ จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2560 การดำเนินการดังกล่าวแม้จะเป็นประโยชน์กับประชาชนในวงกว้าง แต่ก็เป็นการช่วยเหลือบุคคลที่ไม่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายผู้มีรายได้น้อยอย่างแท้จริง ดังนั้นเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนผู้มีรายได้น้อยอย่างแท้จริงและทั่วถึงรัฐบาลจึงมีมติเห็นชอบในหลักการแนวทางการจัดประชารัฐสวัสดิการ การให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยให้ความช่วยเหลือผู้ที่ลงทะเบียนรายได้น้อยและผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติแล้วจำนวน 11.67 ล้านราย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน โดยบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแบ่งเป็น 2 ส่วน โดยส่วน 1 นอกเหนือจากลดค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพจะเป็นเรื่องของการลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ผู้มีสิทธิ์สามารถใช้สิทธิ์ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้งภายในวงเงินที่กำหนด แบ่งเป็น วงเงินค่าโดยสารรถเมล์ ขสมก. /รถไฟฟ้า รายละ 500 บาทต่อเดือน ชำระค่าโดยสาร ด้วยระบบตั๋วร่วม หรือ e-Ticket /โดยสาร บขส. รายละ 500 ต่อเดือน ใช้ในการซื้อบัตรโดยสารรถ บขส. ได้ภายในวงเงิน 500 บาทต่อเดือน และวงเงินค่าโดยสารรถไฟรายละ 500 บาทต่อเดือน ใช้ในการซื้อบัตรโดยสารรถไฟได้ภายในวงเงิน 500 บาทต่อเดือน โดยผู้มีสิทธิ์สามารถนำบัตรสวัสดิการมาใช้บริการรถเมล์ ขสมก. รถโดยสาร บขส. และรถไฟ ได้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตามภายใต้วงเงินดังกล่าวหากประชาชนใช้ไม่หมดจะถูกตัดยอดทันทีไม่มีการสะสมในเดือนถัดไป และเมื่อถึงรอบวันที่ 1 ของทุกเดือน วงเงินจะถูกปรับเป็นค่าเริ่มต้นของวงเงินแต่ละสวัสดิการเสมอ ซึ่งวิธีดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนผู้มีรายได้น้อยอย่างแท้จริง และทั่วถึง และช่วยให้รัฐประหยัดค่าใช้จ่ายงบประมาณ และเป็นไปตามจริงของการใช้บัตร ดังนั้นก่อนที่จะวิจารณ์หรือมีการให้ความเห็นอะไรก็ควรดูข้อเท็จจริงให้ละเอียดเสียก่อนเพราะการที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้มีการยกเลิกตั๋วรถไฟฟรีนั้นไม่เป็นความจริงเพียงแต่ย้ายไปอยู่ในบัตรสวัสดิการของรัฐเพื่อให้การช่วยเหลือของภาครัฐได้ตรงเป้าหมายและตรงกลุ่มของผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ต่อผู้มีรายได้น้อยได้อย่างแท้จริง