ตั้งเป้าศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลโบราณวัตถุวัฒนธรรมบ้านเชียง และโบราณวัตถุยุคก่อนประวัติศาสตร์ร่วมสมัยวัฒนธรรมบ้านเชียงในพื้นที่อีสาน เชื่อมโยงงานขุดค้นศึกษาวิจัยต่างประเทศ เปิดให้บริการปี 66 19 มี.ค. 64 นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง จ.อุดรธานี ว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง ได้มีการจัดเก็บรวบรวม และอนุรักษ์ โบราณวัตถุที่ค้นพบในแหล่งโบราณคดีต่างๆในจ.อุดรธานี และจังหวัดใกล้เคียง ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงโบราณวัตถุที่สถาบันวิจัยของต่างประเทศส่งกลับคืนมา โดยได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้วจำนวนมากกว่า 10,000 รายการ ดังนั้นกรมศิลปากรจึงดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์วิจัยโบราณคดีบ้านเชียง มุ่งเน้นการขุดค้นศึกษาและเก็บรวบรวมโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมตลอดจนด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อยกระดับงานโบราณคดีในประเทศ และจะมีการเชื่อมโยงกับต่างประเทศด้วย นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กรมศิลปากร ได้จัดสร้างศูนย์วิจัยโบราณคดีบ้านเชียงเป็นแห่งแรก เนื่องจากบ้านเชียงถือเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญของโลก โดยตั้งเป้าการดำเนินงานให้ศูนย์วิจัยนี้เป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูล การจัดเก็บโบราณวัตถุในวัฒนธรรมบ้านเชียงและโบราณวัตถุยุคก่อนประวัติศาสตร์ร่วมสมัยวัฒนธรรมบ้านเชียงในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และโบราณวัตถุที่อยู่ในการดูแล เพื่อให้สามารถบริหารจัดการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ปลอดภัย ได้มาตรฐานระดับสากล และให้บริการทางการศึกษาสำหรับนักวิจัยหรือนักวิชาการ ซึ่งจะช่วยบ่มเพาะและพัฒนานักวิชาการที่มีความรู้ความสามารถ และนำองค์ความรู้ดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ด้านการอนุรักษ์และพัฒนา ตลอดจนเพื่อให้เกิดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ การอนุรักษ์ กับนักวิจัย นักวิชาการและนักโบราณคดีทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมไปถึงในอนาคตจะมีการสร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาสถาบันวิจัยมรดกทางวัฒนธรรมระดับนานาชาติด้วย “รูปแบบอาคารศูนย์วิจัยโบราณคดีบ้านเชียง เป็นอาคารคอนกรีต 2 ชั้น พื้นที่ 1,440 ตารางเมตร โดยอาคารชั้น 1 ประกอบด้วยพื้นที่คลัง ห้องบริการข้อมูลสารสนเทศ ห้องนิทรรศการถาวร ส่วนปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่ และห้องสุขา ส่วนอาคารชั้น 2 ประกอบด้วย พื้นที่คลังจัดเก็บโบราณวัตถุ ห้องปฏิบัติงานสำหรับนักวิจัย และห้องอเนกประสงค์ ขณะนี้ดำเนินการก่อสร้างอาคารระยะแรกไปแล้วใช้งบประมาณจำนวน 30 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการในระยะที่ 2 ใช้งบประมาณ 43 ล้านบาท รวม 73 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถให้บริการได้ในปี 2566” นายประทีป อธิบดีกรมศิลป์ กล่าว