วันที่ 20 มี.ค. 64 ที่โรงแรมนิรันดร์แกรนด์ เขตบางนา กทม. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานการประชุมใหญ่สามัญสาขาพรรคประชาธิปัตย์ กรุงเทพมหานคร โดยกล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ว่า เป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ แต่ทิศทางของพรรคประชาธิปัตย์ ในเรื่องการเดินหน้างานของพรรคถัดจากนี้ไป จะเดินหน้าผลักดัน 2 เรื่องคู่ขนานกัน เรื่องแรกคือการผลักดันการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน และผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น ซึ่งทั้งสองเรื่องคือหัวใจสำคัญที่จะเป็นทิศทางการเดินหน้าในการทำหน้าที่จากนี้ของพรรคประชาธิปัตย์
“แก้ไขรัฐธรรมนูญคือการแก้ไขปัญหาในทางการเมือง ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่า การเมืองประเทศไทยยังไม่นิ่ง และส่งผลกระทบต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ตราบใดที่ติดหล่มอยู่ในเรื่องการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเมือง ก็จะเป็นอุปสรรคที่คอยจุดระเบิดการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ การเมืองกับเศรษฐกิจจึงต้องคู่ขนานกันไป”นายจุรินทร์ กล่าว
นายจุรินทร์ ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้ตนได้สั่งการหลังจากที่รัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่ผ่านวาระ 3 ให้ฝ่ายกฎหมายได้ยกร่างการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราขึ้น เพราะเมื่อการตั้งส.ส.ร. ยกร่างทั้งฉบับมีปัญหา ถกเถียงในข้อกฎหมายและแม้แต่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญก็ยังถกเถียงกันอยู่ว่าสามารถเดินหน้าได้หรือไม่
ตนคิดว่าทางออกที่ดีที่สุดของปัญหานี้คือต้องเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา และจะยกร่างอย่างน้อยที่สุดบริเวณที่แก้ไขคือจุดยืนเดิมที่ตนได้ประกาศไว้ตั้งแต่มาเป็นหัวหน้าพรรคว่าจะต้องแก้ไขมาตรา 256 ซึ่งเป็นมาตราที่ว่าด้วยวิธีการแก้ไขและเงื่อนไขการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนไว้แก้ยากมาก โดยระบุเงื่อนไขต่างๆไว้ในมาตรา 256 ที่ระบุว่าเสียงส.ส. ต้องเกินกึ่งหนึ่งของส.ส.และส.ว.รวมกัน และในเสียงเกินกว่าครึ่งหนึ่งมันต้องมีเสียงของส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 อยู่กับส.ว.เป็นเงื่อนไขสำคัญ และเสียงของฝ่ายค้านไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ซึ่งหากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขดังกล่าวร่างนั้นก็จะตกไป
ทั้งนี้ แม้ว่ารัฐธรรมนูญนั้นจะพังจะต้องมีการทำประชามติหลังจากนั้นจึงนำขึ้นทูลเกล้าเพื่อลงพระปรมาภิไธย ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขข้อจำกัด เสมือนกุญแจดอกใหญ่ที่ล็อคประตูประชาธิปไตย ตราบใดที่ไม่แก้มาตรา 256 ประตูประชาธิปไตยไม่สามารถที่จะเปิดออกได้ เพื่อทำให้การเมืองนั้นนิ่งได้ในอนาคตและแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่ถูกนำมาเป็นเงื่อนไขในการก่อเหตุทางการเมือง
“ส่วนอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดไว้ว่า ให้ผู้ที่มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมรัฐสภาในช่วง 5 ปีแรกคือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา เป็นการตั้งคำถามว่าเราจะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญย้อนกลับหรือเดินหน้าไปสู่การเป็นประชาธิปไตยปกติได้หรือไม่ โดยให้ประชาชนที่เลือกผู้แทนเข้ามา เป็นผู้มีสิทธิ์ในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีแทนประชาชน โดยไม่รวมส.ว.ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง
นอกจากนี้ผมยังสั่งการให้ ฝ่ายกฎหมายได้ยกร่างแต่ละประเด็นมีการแยกร่างเป็นเรื่องเรื่องไปอย่าเอาหลายประเด็นมามัดรวมกันในแต่ละร่าง ไม่เช่นนั้นในประเด็นที่เห็นด้วย หากมีคนประเด็นนั้นไม่เห็นด้วยก็จะทำให้ทั้งร่างนั้นตกไปทั้งหมด” นายจุรินทร์ กล่าว
นายจุรินทร์ กล่าวย้ำว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาธิปัตย์ ต้องเดินหน้าไปสู่การเป็นประชาธิปไตย ขีดเส้นใต้ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีเงื่อนไขอยู่ 2-3 เรื่อง ไม่ว่าจะแก้รูปแบบใดต้องไม่แตะหมวด1 และหมวด 2 ในเรื่องรูปแบบของรัฐและ สถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีความสมบูรณ์ในตัวเองอยู่แล้ว พร้อมกับระบุว่าเห็นด้วยให้คงมาตรา 112 เนื่องจากมาตรา 112 เป็นมาตราที่ว่าด้วยการให้ความคุ้มครองประมุขของประเทศ ไม่มีประเทศใดไม่มีบทบัญญัติในการคุ้มครองประมุข เช่นเดียวกับประเทศไทยที่จะต้องมีบทบัญญัติในการให้ความคุ้มครองประมุขของประเทศ ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ นี่คือจุดยืนที่ชัดเจน