ตัวแทนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร 5 อำเภอที่บุรีรัมย์กว่า 200 ราย ที่ตกเป็นแพะถูกบริษัทปุ๋ยฟ้อง สุดดีใจหลังศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ยกฟ้อง หลังต่อสู้มานานกว่า 5 ปี วอนบริษัทปุ๋ยหยุดฎีกา เพราะรู้ดีว่าเกษตรกรไม่เกี่ยวข้อง พร้อมขอบคุณหน่วยงานที่ยื่นมือช่วยเหลือเชื่อกระบวนการยุติธรรมมีจริง เมื่อเวลา 09.30 น. (19 มี.ค.64) ตัวแทนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรจาก 5 อำเภอ มี อ.โนนสุวรรณ ,หนองหงส์ ,นางรอง , ปะคำ และ อ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์กว่า 200 คน ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ที่ศาลจังหวัดนางรอง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ หลังจากถูกบริษัทผลิตปุ๋ยฟ้องร้องให้ชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายจากการเข้าร่วมโครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ ปี 2558 ซึ่งกลุ่มเกษตรกร ได้ปฏิเสธมาตั้งแต่ต้น ว่าเป็นโครงการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ เกษตรกรทั้งหมดเป็นเพียงผู้เซ็นชื่อรับสินค้าเท่านั้น แต่บริษัทปุ๋ยไม่ยอม และมีการฟ้องร้องทั้งหมด 88 คดี จําเลยรวม 222 คน ในข้อหา “ผิดสัญญาซื้อขายปุ๋ยอินทรีย์” จํานวน 100,945 กระสอบ มูลค่า 40,378,000 บาท โดยทุนทรัพย์ที่ฟ้อง 42,821,410.01 บาท โดยทางศาลได้มีการติดตั้งจอทีวีวงจรปิด ขณะอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ท่ามกลางเกษตรกรที่ถูกฟ้องร้องมานั่งฟังเพื่อรอลุ้นอย่างใจจดใจจ่อ เพราะที่ผ่านมายืนยันมาตลอดว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็นในโครงการเลย เพียงเซ็นรับสินค้าตามที่หน่วยงานราชการที่รับผิดชอบโครงการให้เซ็นเท่านั้น ซึ่งหลังจากศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษายืนยกฟ้องตามศาลชั้นต้น เกษตรกรทุกคนที่มารอฟังคำตัดสินต่างก็ดีใจ เพราะที่ผ่านมาก็เดินเรื่องต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมมาตลอดระยะเวลากว่า 5 ปี นางหนูแดง ทองใบ หนึ่งในตัวแทนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรชาว อ.โนนสุวรรณ ที่ถูกบริษัทปุ๋ยฟ้อง กล่าวว่า รู้สึกดีใจมาก ที่ศาลอุทธรณ์ มองเห็นและเข้าใจว่าเกษตรกรไม่ใช่คู่ค้ากับบริษัทปุ๋ย เป็นเพียงคนรับปุ๋ยที่ อบจ.ส่งมาให้เท่านั้น ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง DSI ยุติธรรมจังหวัด รวมถึงทนายอาสา ที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ แต่ถ้าจะให้สบายใจก็ขอวอนบริษัทปุ๋ยอย่ายื่นฎีกาต่ออีกเลย เพราะบริษัทปุ๋ยเองก็รู้ดีว่าเกษตรกรไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ก็ขอให้สงสารเกษตรกรด้วย สำหรับคดีดังกล่าวสืบเนื่องจาก อบจ.บุรีรัมย์ มีโครงการโครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ โครงการและเงินงบประมาณซึ่งสภา อบจ.บุรีรัมย์ โดยความเห็นชอบของผู้ว่าราชการจังหวัด ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมจากรายได้ที่จัดเก็บจากประชาชนในพื้นที่ในแต่ละปี เป็นโครงการต่อเนื่องตามนโยบายการแก้ปัญหาความยากจนของนายก อบจ. บุรีรัมย์ โดยเริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2555-2558 โดยบริษัทปุ๋ยได้ส่งปุ๋ยมาให้กับเกษตรกร ก่อนที่โครงการฯ จะได้รับการอนุมัติ ซึ่งเหลือขั้นตอนเพียงผู้ว่าราชการจังหวัดเซ็นลงนาม แต่ได้รับการทักท้วงจาก สตง. ทำให้ผู้ว่าฯ ที่ดำรงตำแหน่งในขณะนั้นไม่กล้าเซ็นรับรอง ทำให้บริษัทปุ๋ยขาดผลประโยชน์ หันมาฟ้องประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรแต่ละกลุ่มที่ลงชื่อเซ็นรับปุ๋ยไว้