NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ชวนดูพื้นผิวของ #ดาวศุกร์ ดาวเคราะห์ที่สภาพอากาศโหดร้ายที่สุดในระบบสุริยะของเรา ภาพนี้เป็นมุมมองบนพื้นผิวดาวศุกร์ที่ถ่ายจากยานเวเนรา 14 (Venera 14) ยานของอดีตสหภาพโซเวียตที่ฝ่าชั้นบรรยากาศหนาทึบไปลงจอดบนดาวเคราะห์ที่ได้ฉายาว่าเป็นฝาแฝดของโลกในเดือนมีนาคม ค.ศ.1982 ภูมิประเทศรกร้างบนดาวศุกร์ที่ปรากฏในภาพนี้ เป็นบริเวณพื้นที่ฟีบี (Phoebe Regio) ที่อยู่ใกล้กับเส้นศูนย์สูตรของดาวศุกร์ แสดงก้อนหินที่มีลักษณะแบน พื้นผิวที่แทบจะว่างเปล่าไม่ค่อยมีก้อนหินระเกะระกะ และท้องฟ้าอันราบเรียบที่ไม่แสดงร่องรอยอะไรเลย บริเวณทางซ้ายของฐานยานในภาพมีอุปกรณ์ที่เรียกว่า Penetrometer มีลักษณะเป็นหัวเจาะวัดความแข็งและการบดอัดของดิน และชิ้นส่วนสีอ่อนทางขวาของ Penetrometer คือฝาครอบเลนส์กล้องที่กระเด็นออกมาจากยานเวเนรา ซึ่งภายใต้สภาวะแวดล้อมโหดร้ายบนพื้นผิวดาวศุกร์ อุณหภูมิสูงถึง 450 องศาเซลเซียส และความดันจากชั้นบรรยากาศสูงถึง 75 เท่าของโลก ยานเวเนรา 14 นี้สามารถปฏิบัติภารกิจบนพื้นผิวดาวศุกร์ได้เป็นระยะเวลา 57 นาที ถึงแม้ว่ายานเวเนรา 14 จะลงจอดบนดาวศุกร์มาเกือบ 40 ปีแล้ว แต่ปัจจุบันก็ยังคงมีการนำข้อมูลดังกล่าวกลับมาประมวลผลใหม่ และเมื่อไม่นานมานี้ นักวิทยาศาสตร์ได้วิเคราะห์ข้อมูลจากการสังเกตการณ์ดาวศุกร์ในย่านรังสีอินฟราเรดโดยยานวีนัส เอ็กซ์เพรส (Venus Express) ขององค์การอวกาศยุโรป (ESA) ผลที่ได้บ่งชี้ว่าดาวศุกร์อาจยังมีภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นอยู่บนพื้นผิวดาว เรียบเรียง : พิสิฏฐ นิธิยานันท์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร. อ้างอิง : [1] https://apod.nasa.gov/apod/ap210317.html [2] https://nssdc.gsfc.nasa.gov/planetary/venera.html