เมื่อวันที่ 19 มี.ค.นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะคณะกมธ.พิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ รัฐสภา กล่าวถึงกรณี ส.ว.เเพ้โหวตในมาตรา 9 ของร่างพ.ร.บ.ประชามติ ว่า ต่อจากนี้ จะมีนิมิตหมายใหม่ในการทำประชามติ จากเดิมที่ประชามติ จะเกิดขึ้นได้เพียง 2 แบบ คือ 1.ครม.ทำประชามติ ตามมาตรา 166 และ2.รัฐสภาเป็นผู้จัดทำประชามติ หลังร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่าน วาระ3 ไปแล้ว ตามมาตรา 256 (8) พูดง่ายๆคือก่อนหน้านี้การทำประชามติ จะขึ้นอยู่กับอำนาจการตัดสินใจหรือดุลพินิจของ ครม.ฝ่ายเดียว แต่ในการประชุมรัฐสภา เมื่อวานนี้ (18 มี.ค.) นายชูศักดิ์ ศิรินิล กมธ.เสียงข้างน้อย เสนอแก้ไขเนื้อหาให้มีช่องทางอื่นในการริเริ่มทำประชามติ ดังนั้น ต่อจากนี้การจะทำประชามติไม่ได้มีเเค่ 2 ช่องทาง แต่จะทำให้ต่อจากนี้รัฐสภา สามารถเป็นจุดตั้งต้นทำประชามติได้ และประชาชนสามารถเข้าชื่อเพื่อให้ทำประชามติได้เช่นกัน
นายอิสระ กล่าวว่า ผลโหวตที่ออกมาไม่ใช่เเค่เรื่อง การเตือนสติว่าอย่าคิดว่ามีเสียงมากจะทำอะไรที่ฝืนความต้องการประชาชนได้ ตามที่หลายฝ่ายวิเคราะห์เท่านั้น แต่ข้อดีของผลโหวต จนเกิดการเปลี่ยนเเปลง ในมาตรา9 นั้น ยังสามารถอุดช่องข้อถกเถียงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ที่ระบุว่า “หากรัฐสภาต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องจัดให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ออกเสียงประชามติเสียก่อนว่า สมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่” ก่อนหน้านี้รัฐสภาไม่มีอำนาจใดไปจัดให้มีการลงประชามติดังกล่าว แต่ต่อจากนี้ รัฐสภาจะมีอำนาจทำได้อย่างถูกต้อง ซึ่งเนื้อหาใหม่ในมาตรา 9 ตรงกับเเนวคิดของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ต้องการส่งเสริมสถาบันฝ่ายนิติบัญญัติ และให้ประชาชนมีบทบาทและอำนาจในการเสนอทำประชามติได้ ดังนั้น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เราจึงยกมือเห็นด้วยกับกมธ.เสียงข้างน้อยในมาตรา 9 อีกนัยหนึ่งก็เพื่อ เตือนสติให้เห็นว่าอย่าชะล่าใจ ว่ามีส.ว.250 คนในมือเเล้วจะคว่ำรัฐธรรมนูญที่สวนทางกับความรู้สึกประชาชนก็ได้อีกด้วย