เมื่อวันที่ 19 มี.ค.นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงการลงมติมาตรา 9 ของร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติพ.ศ..ว่า ตนเป็น 1 ใน 267 เสียงที่ลงมติสนับสนุน แก้ไขปรับปรุงตามข้อเสนอของกรรมาธิการ (กมธ.) เสียงข้างน้อย ซึ่งเนื้อหาได้เปิดช่องให้รัฐสภา , ประชาชน มีสิทธิเสนอเรื่องให้ทำประชามติ เพราะเห็นว่าควรเปิดกว้างให้ทำประชามติที่ไม่ควรมีแค่จากฝั่งรัฐบาลเท่านั้น หากกฎหมายประชามติผ่านรัฐสภาจะมีสิทธิ์เสนอให้ทำประชามติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ หากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ตกไป เชื่อว่าจะเป็นทางออกตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญได้ อย่างไรก็ตามการเปิดช่องให้การทำประชามติไม่ถูกจำกัดเฉพาะดุลยพินิจของฝ่ายบริหารนั้น ตนกังวลว่าร่างพ.ร.บ.ประชามติอาจถูกคว่ำในวาระ 3 ได้
นายนิกร ยังกล่าวถึงจุดยืนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคชาติไทยพัฒนาว่า เบื้องต้นพูดคุยกับ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์, นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และนายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจ ฐานะเป็นกมธ.แก้รัฐธรรมนูญ มีความเห็นร่วมกันว่าในการเปิดสมัยประชุม เดือนพ.ค. จะเสนอญัตติขอแก้รัฐธรรมนูญ ในมาตรา 256 ที่รัฐสภา ได้ผ่านการรพิจารณาและเห็นพ้องกันในวาระ 2 โดยจะปรับเงื่อนไขการใช้เสียงรับหลักการวาระแรก และเสียงเห็นชอบวาระ 3 ที่ใช้เสียง 3 ใน 5 โดยตัดเสียงส.ว. 1 ใน 3 และเสียงพรรคฝ่ายค้านร้อยละ 20 ออก ซึ่งการลงมติใน วาระ 3 ทำให้เห็นแล้วว่าเสียงของส.ว.ที่เห็นชอบ 2 เสียง ไม่มีทางจะให้รัฐธรรมนูญจะแก้ไขได้ นอกจากนั้นยังมีประเด็นที่ควรเสนอแก้ไข เช่น สิทธิของประชาชน การกระจายยอำนาจ การเลือกตั้ง ที่ต้องแก้ไขวิธีนับคะแนนและระบบไพรมารี่โหวต แต่ต้องไม่แตะหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์
เมื่อถามถีงการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ประเด็นใหญ่ คือ ยุบส.ว., ปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ และเลิกยุทธศาสตร์ชาติ นายนิกร กล่าวว่า ประชาชนสามารถเคลื่อนได้ แต่ไม่ทราบว่าประชาชนจะจริงจังแค่ไหน เพราะ 3 ประเด็นน่าจะแก้ไขยาก เพราะเท่ากับล้มศาลรัฐธรรมนูญ อีกทั้งต้องนำไปทำประชามติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256(8)