เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 18 มีนาคม 2564 ที่ห้องประชุมเตชะเสน 1 สำนักงานชลประทานที่ 3 นายประยูร อินสกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมชี้แจงกำกับการดำเนินงานตามนโยบายและโครงการสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ภาคเหนือตอนล่าง 9 จังหวัด (ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร นครสวรรค์ พิจิตร อุทัยธานี) โดยมีนายเกรียงไกร ภาคพิเศษ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 นายชำนาญ ชูเที่ยง ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิษณุโลก นายปิยภัทร สายเมฆ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานอุตรดิตถ์ นายณฐพล ชุ่มสวัสดิ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาผาจุก ตลอดจนผู้บริหารกรมชลประทาน และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ฯ เข้าร่วมให้การต้อนรับและให้ข้อมูลในครั้งนี้ สำนักงานชลประทานที่ 3 โดยนายชลเทพ ทาตรี ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา ได้ร่วมรายงานสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน (17 มี.ค. 64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 39,772 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 52 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 15,842 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 9,787 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 39 ของความจุอ่างฯรวมกัน ปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 3,091 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากปีที่ผ่านมาปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์น้อย กรมชลประทาน จึงได้บริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยกำหนดให้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคสำคัญอันดับ1 น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ ผลักดันน้ำเค็ม ตลอดจนรักษาเสถียรภาพคันคลอง ไม้ยืนต้น ในลำดับถัดไป ทำให้ไม่สามารถสนับสนุนการทำนารอบ 2 (นอกแผน) ปี 64 ได้ ทั้งนี้ เหลือเวลาอีกประมาณ 1 เดือนเศษ ก่อนจะเข้าสู่ฤดูฝน กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด อย่างประณีตและเต็มศักยภาพ โดยเน้นน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคต้องเพียงพอ ตามนโยบายของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หากประชาชนหรือหน่วยงานใดต้องการความช่วยเหลือ สามารถร้องขอไปยังโครงการชลประทาน หรือโทร 1460 สายด่วนกรมชลประทาน ได้ตลอดเวลา.