ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศกฏกระทรวงฉบับใหม่ เกี่ยวกับกิจการการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม เป็นต้นมา โดยกิจการดูแลผู้สูงอายุฯ ทั้งรายเก่าและรายใหม่จะต้องขออนุญาตเปิดกิจการ ส่วนผู้ให้บริการในกิจการดูแลผู้สูงอายุฯ ต้องขึ้นทะเบียนกับกรม สบส. ผ่านเว็บไซต์ www.esta.hss.moph.go.th ทั้งนี้จากข้อมูลทั่วประเทศที่มีกิจการดูแลผู้สูงอายุฯ กว่า 3,000 แห่ง ขณะนี้มีกิจการมายื่นขออนุญาตประกอบกิจการในระบบ จำนวนกว่า 100 แห่ง โดย 90% เป็นกิจการประเภทที่มีการดูแลและประคับประคองผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิงโดยมีการพักค้างคืน ส่วนการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการฯนั้น ขณะนี้มียื่นขอขึ้นทะเบียนฯเข้ามาในระบบกว่า 1,000 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 9 มีนาคม 2564) ซึ่งคาดว่าทั้งประเทศมีผู้ให้บริการฯ 28,000 ราย ล่าสุด 18 มี.ค.64 ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. เผยว่า ผู้ให้บริการในกิจการดูแลผู้สูงอายุฯนั้น จะต้องจบหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุไม่น้อยกว่า 420 ชม. แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มที่จบและมีวุฒิบัตร/ประกาศนียบัตรหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุฯ ไม่น้อยกว่า 420 ชม.ก่อนที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ ต้องรีบขอขึ้นทะเบียนภายในวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 หากพ้นกำหนดจากนี้ ต้องเทียบเคียงหรือไปสมัครเรียนหรืออบรมใหม่จากสถาบันที่ได้รับรองหลักสูตรจากกรม สบส.เท่านั้น 2) ผู้ที่เริ่มเรียนหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุไม่น้อยกว่า 420 ชม. ก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ และได้รับวุฒิหลังวันที่ 27 มกราคม 2564 ให้ยื่นขอขึ้นทะเบียนภายใน 6 มกราคม 2565 และ 3) กลุ่มสุดท้าย คือผู้ที่เริ่มเรียนหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ 420 ชม. หลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ จะสามารถขึ้นทะเบียนได้ก็ต่อเมื่อเรียนจบจากสถาบันที่ได้รับรองหลักสูตรจากกรม สบส.เท่านั้น โดยต้องขึ้นทะเบียนก่อนที่จะปฏิบัติงานด้วย สำหรับผู้ที่ประสงค์จะประกอบอาชีพเป็นพนักงานดูแลผู้สูงอายุฯในกิจการดูแลผู้สูงอายุฯ สามารถขึ้นทะเบียนตามวันที่กฎหมายกำหนดข้างต้น ในส่วนของเจ้าของกิจการดูแลผู้สูงอายุฯนั้น หากเป็นรายเก่าที่เปิดกิจการก่อนที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ให้ยื่นขออนุญาตภายในวันที่ 25 กรกฎาคม 2564 ส่วนรายใหม่ต้องมีใบอนุญาตก่อน จึงจะสามารถเปิดกิจการได้ สอบถามเพิ่มเติมได้ทางสายด่วนกรม สบส. 1426 .