ไม่ใช่เรื่องเกินคาด ที่ร่างรัฐธรรมนูญ จะถูกคว่ำ อย่างไม่เป็นท่า เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ร่างขึ้นมาอย่างแยบยล และเต็มไปด้วยองค์กรอิสระที่ คสช. ตั้งไว้
โดยเฉพาะสมาชิกวุฒิสภา 250 คนที่ เป็นทหารมากกว่าครึ่ง แถมทั้งเป็นเพื่อนร่วมรุ่น เครือญาติพี่น้องของ 3 ป. “ป้อม-ป๊อก-ประยุทธ์”
บรรดาสมาชิกวุฒิสภา จึงชักแถวกันไม่ประสงค์จะลงคะแนน และงดออกเสียงกันอย่างพร้อมเพรียง ทั้ง ส.ว.สายทหาร และสายพลเรือน โดยจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ
เพราะเป้าประสงค์ของคสช. คณะรัฐประหารที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไว้คือ ต้องคงสมาชิกวุฒิสภาทั้ง 250 คนเอาไว้ให้ครบ 5 ปี เพื่อที่จะช่วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้า คสช. เพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยที่ 2 ต่อไป หลังการเลือกตั้งในสมัยหน้า
เพราะรู้กันดีว่า พล.อ.ประยุทธ์นำการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ไม่ใช่แค่เพื่ออยู่ 5 ปีตอนเป็นนายกฯคสช. แต่คือต้องการอยู่ให้นานที่สุด เท่าที่จะทำได้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงถูกออกแบบมาเพื่อการนี้
จึงไม่แปลกที่พรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทยจะมีจุดยืนในการสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญ รวมถึงการตั้งสสร.ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เพราะทั้ง 2 พรรครู้ดีว่า ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเอื้อให้ พล.อ.ประยุทธ์ และทายาท คสช. อยู่ในอำนาจยาวนาน และปิดโอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย จะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และเป็นนายกรัฐมนตรี
ทั้ง 2 พรรคจึงแสดงบทบาทในสภาในการสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถึงขั้นที่ พรรคภูมิใจไทยวอล์กเอาต์ ออกจากที่ประชุมรัฐสภา ก่อนแถลงว่าถูกหักหลัง
แน่นอนว่า ย่อมหมายถึง พรรคพลังประชารัฐ ภายใต้การนำของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่ 3ป.แห่งคสช. ผู้ที่มีส่วนสำคัญในการตั้งสมาชิกวุฒิสภาทั้ง 250 คน ขึ้นมา
แต่พล.อ.ประวิตร ยืนยันว่าไม่ใช่การหักหลัง เพราะเป็นการฟรีโหวตพร้อมยืนยัน จุดยืนของพรรคพลังประชารัฐ และรัฐบาลคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ท่ามกลางการจับตามองว่าพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย จะถอนตัวออกจากพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่
เพราะหากเป็นเช่นนั้นโอกาสที่จะยุบสภาก็เป็นไปได้สูง แต่คอการเมืองส่วนใหญ่เชื่อว่า พรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย จะยังคงอดทนในการร่วมรัฐบาลต่อไป
โดยแยกส่วนระหว่างสส.ที่ทำงานในสภา กับบทบาท การเป็นรัฐมนตรี และเป็นรัฐบาล ออกจากกัน
แม้พล.อ.ประวิตร จะระบุว่าไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมรัฐบาล เพราะจุดยืนของพรรคพลังประชารัฐ และรัฐบาล คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่ทว่า ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐได้โหวต คว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้
จึงเป็นที่มาของการที่พรรคภูมิใจไทยระบุว่าโดนพรรคพลังประชารัฐหักหลัง และทำให้ทุกอย่างต้องกลับไปนับ 1 ใหม่ เสียเวลา ที่ได้พิจารณาร่างแก้ไขธรรมนูญฉบับนี้
เพราะในสถานการณ์เช่นนี้พรรคการเมืองต่างๆ อาจจะยังไม่พร้อมสำหรับการยุบสภา และการเลือกตั้งใหม่
ที่สำคัญจะยังคงเป็นการเลือกตั้งในกติกาเดิมคือ รัฐธรรมนูญฉบับเดิม ที่ยังมี 250 ส.ว. ที่พร้อมจะสนับสนุนให้พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี อีกสมัย
เพราะตราบใดที่ยังคงใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ โอกาสที่ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่ทุกวันนี้เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข หรือ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่นั่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์จะได้ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ยิ่งห่างไกลออกไป
โดยเฉพาะ อนุทิน นั้นถูกจับตามอง ว่าเป็นแคนดิเดตนายกฯ ที่มีโอกาส เป็นนายกฯสูง หาก พล.อ.ประยุทธ์ ถอย ซึ่งอนุทิน เองก็รู้ดีว่า วันนั้นยากที่จะมาถึง
พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ถอยง่ายๆ เพราะต้องอยู่ไปให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ เพื่อที่สกัดกั้นฝ่ายตรงข้าม เช่น ระบอบทักษิณ และ สายธนาธร เข้ามาคุมอำนาจรัฐบาล
โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือการปกป้องสถาบันกษัตริย์ จากขบวนการล้มเจ้า ที่จะยิ่งทำให้เป็นเหตุผลที่จะอยู่ไปจนกว่าจะอยู่ไม่ได้
เพราะในเวลานี้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นสัญลักษณ์ ของนายทหารเก่าที่มีความจงรักภักดี ก็จะได้รับฉันทานุมัติ ให้เป็นผู้นำประเทศต่อไป เพื่อต่อสู้กับ ขบวนการล้มล้างสถาบัน
นี่อาจเป็น อีกเหตุผลหนึ่ง ที่ พล.อ.ประยุทธ์ สร้างลิฟต์ ที่ตึกไทยคู่ฟ้า เพราะจะเป็นนายกฯ ไปยัน เดินขึ้นบันได ไม่ไหว เลยนั่นเอง