หมดกังวลสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานและกล้ามเนื้ออ่อนแรง ด้วยสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาฯ ได้ผลิตนวัตกรรมสุขภาพล้ำยุค นาฬิกาข้อมือตรวจค่าน้ำตาลจากเหงื่อแบบ Real Time แม่นยำ ไม่เจ็บตัว ลดภาระค่าใช้จ่าย ทดแทนการนำเข้าอุปกรณ์จากต่างชาติ จ่อใช้จริงเร็วๆ นี้ ทั้งนี้ คณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยสุดยอดนาฬิกาข้อมือเสริมอุปกรณ์ตรวจระดับปริมาณน้ำตาลกลูโคสและสารแลคเตท ซึ่งเจือปนอยู่ในเหงื่อบนร่างกายคนไข้โรคเบาหวานได้สำเร็จ โดยร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. นวัตกรรมนี้ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์และเภสัช ประจำปี 2564 “รายงานทางการแพทย์ระบุชัดเจนว่าปริมาณน้ำตาลในเหงื่อสัมพันธ์โดยตรงกับปริมาณน้ำตาลในเลือด เราจึงนำผลสรุปที่ได้นี้ไปพัฒนาต่อเป็นนวัตกรรมที่ช่วยบอกระดับน้ำตาลในตัวผู้ป่วยได้รวดเร็วแบบเรียลไทม์ ซึ่งสำคัญมากต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องหมั่นดูแลและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอยู่เสมอ” อาจารย์ ดร.นาฏนัดดา รอดทองคำ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว “นอกจากนี้ นวัตกรรมนี้ยังช่วยลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ คนไข้ไม่ต้องเสียเงินหรือเสียเวลาเดินทางไปโรงพยาบาลซึ่งมีความเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนได้” เบาหวานเป็นโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ จากรายงานของสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยพบว่า ปี 2563 คนไทยป่วยเป็นโรคเบาหวานสูงถึง 5 ล้านคน ที่สำคัญ โรคเบาหวานยังส่งผลกระทบให้ผู้ป่วย มีภาวะ “กล้ามเนื้ออ่อนแรง” อันเกิดจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกันและเส้นประสาทภายใน ปัจจุบัน วิธีการที่ใช้ในการตรวจค่าปริมาณน้ำตาลในร่างกายก็คือการเจาะเลือดจากปลายนิ้วตามมาตรฐาน “ฟาสติง พลาสม่า กลูโคส” (Fasting Plasma Glucose) สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน และ “แลคเตท เทส” (Lactate Test) เพื่อวัดระดับความเข้มข้นของสารแลคเตท ในกรณีผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง วิธีการดังกล่าวผู้ป่วยต้องงดอาหารก่อนล่วงหน้าไม่น้อยกว่าชั่วโมงก่อนเจาะเลือดจากปลายนิ้ว “การรู้ระดับน้ำตาลในเลือดและแลคเตทแบบเรียลไทม์จะช่วยให้ผู้ป่วยดูแลตัวเอง ปรับพฤติกรรม หรือรีบไปพบแพทย์ให้ทันท่วงทีเพื่อรับการรักษาก่อนที่จะเกิดอันตราย เราจึงคิดค้นวิธีการที่รวดเร็วกว่า ได้ผลแม่นยำ และไม่จำเป็นต้องงดอาหารหรือเจาะเลือด” อาจารย์ ดร.นาฏนัดดา กล่าว โครงการความร่วมมือระหว่างจุฬาฯ และ สวทช. ได้วิจัยและพัฒนาวัสดุเส้นด้ายชนิดพิเศษที่ได้รับการดัดแปลงทางชีวเคมีเพื่อให้ดูดซับเหงื่อและไวต่อเอนไซม์กลูโคสและแลคเตทในอุปกรณ์เดียว ผู้ป่วยเบาหวานสามารถรับรู้ค่ากลูโคสและแลดเตทในเลือดได้ตลอดเวลาที่สวมใส่นาฬิกาอัจฉริยะ “เส้นด้ายชนิดพิเศษนี้จะส่งข้อมูลที่ได้ไปยังแผ่นทดสอบซึ่งเสียบไว้ด้านในตัวเรือนนาฬิกาอัจฉริยะ เพื่อเทียบผลวัดค่ากับกราฟสีมาตรฐาน (Calibration Curve) หากปริมาณกลูโคสต่ำ สีก็จะอ่อน ถ้าสูง สีก็จะเข้ม ขณะที่ค่าแลคเตทจะปรากฏสีที่เข้มขึ้นไปอีก” อาจารย์ ดร.นาฏนัดดา อธิบาย ปัจจุบัน คณะนักวิจัยกำลังทดสอบประสิทธิภาพของนาฬิกากับผู้ป่วยเบาหวานและกล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยได้รับความร่วมมือจากคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคเบาหวานและคลินิกผู้สูงวัยสุขภาพดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อทดสอบให้แน่ใจในประสิทธิภาพการใช้งานแล้ว ก็เตรียมพัฒนาสู่การใช้จริงบนข้อมือผู้ป่วยเบาหวานได้อีกไม่นาน คณะวิจัยยังประเมินอีกว่า หากนวัตกรรมนาฬิกาอัจฉริยะได้รับความนิยมแพร่หลายจะช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ราคาสูงจากต่างประเทศได้ด้วย