ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล การเมืองเป็นเรื่องสนุก ทำให้มีหน้ามีตา และรู้สึกมีเกียรติสูงส่ง คณะกรรมาธิการที่ผมเป็นกรรมาธิการและเลขานุการมีชื่อว่า คณะกรรมาธิการติดตามงบประมาณ ตรวจรายงานการประชุม และรับเรื่องราวร้องทุกข์ ที่มีชื่อยาวขนาดนี้ก็อาจจะเป็นด้วยเป็นรัฐสภาในภาวะพิเศษ(สภานิติบัญญัติแห่งชาติคือสภาที่ตั้งขึ้นโดยคณะรัฐประหาร มีจำนวนสมาชิกระหว่าง 200 - 250 คน) มีจำนวนสมาชิกน้อยกว่ารัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง จึงต้องรวมคณะกรรมาธิการบางคณะเข้ามารวมกัน อย่างคณะที่ผมทำงานอยู่นี้ ดังนั้นจึงต้องทำงานค่อนข้างหนัก เพราะได้รวมหน้าที่หลัก ๆ ของรัฐสภามาไว้ถึง 3 เรื่อง คือ หนึ่ง การตรวจสอบควบคุมการทำงานของรัฐบาลผ่านระบบงบประมาณ สอง การควบคุมดูแลการทำงานของสมาชิกรัฐสภาด้วยกัน ด้วยการจัดทำบันทึกและข้อมูลที่ได้จากการประชุมรัฐสภา และสาม การช่วยเหลือประชาชนและการอำนวยความยุติธรรม ด้วยการตรวจสอบเรื่องราวร้องเรียนต่าง ๆ ท่านนรินทร์ดูจะมีความเชี่ยวชาญในการ “ชงเรื่อง” หรือนำเสนอเรื่องต่าง ๆ เข้าสู่การประชุมอยู่เป็นประจำ หลังจากเปิดประชุมรัฐสภาได้ไม่กี่วันก็มีการประชุมคณะกรรมาธิการ ท่านนรินทร์ได้รับการแนะนำตัวว่าเป็นที่ปรึกษาท่านประธานคณะกรรมาธิการ ภายหลังการประชุมท่านนรินทร์ได้มาคุยกับผมว่ายินดีให้ความช่วยเหลือในทุก ๆ เรื่อง ซึ่งผมก็ยินดีโดยไม่รู้ว่านี่คือการเชิญชวนให้เขาเข้ามายุ่มย่ามกับการทำงานของผม แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าหนักใจ เพราะสิ่งที่เขาเสนอให้คณะกรรมาธิการทำ ก็เป็นหน้าที่ที่ต้องทำเป็นประจำอยู่แล้ว คือการไปตรวจเยี่ยมหน่วยงานต่าง ๆ ที่เราต้องทำงานด้วย เป็นต้นว่า สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงมหาดไทย โดยท่านนรินทร์จะมาขอรายชื่อบุคคลที่จะต้องไปพูดคุยและข้อมูลต่าง ๆ โดยบอกว่าจะเอาไป “บรีฟ” หรือสรุปให้ท่านประธานคณะกรรมาธิการฟัง ซึ่งท่านนรินทร์มักจะอ้างว่ารู้จักกับผู้บริหารคนโน้นคนนั้นเป็นอย่างดี แต่ผมก็ไม่เคยใช้บริการความช่วยเหลือจากเขามากนัก เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของรัฐสภามีความสามารถดีอยู่แล้ว ทั้งยังดูจะมีความเชี่ยวชาญหรือรู้เรื่องขั้นตอนและกฎระเบียบต่าง ๆ ดีกว่าท่านนรินทร์เป็นอย่างมากด้วย คณะกรรมาธิการชุดนี้แบ่งออกเป็น 3 อนุกรรมาธิการ เพื่อช่วยให้การทำงานของคณะกรรมาธิการมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้แก่ คณะอนุกรรมาธิการติดตามงบประมาณ คณะอนุกรรมาธิการตวจรายงานการประชุม และคณะอนุกรรมาธิการรับเรื่องราวร้องทุกข์ โดยผมต้องรับหน้าที่เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการรับเรื่องราวร้องทุกข์อีกตำแหนึ่งด้วย คณะอนุกรรมาธิการ(ต่อไปจะเรียกสั้น ๆ ว่า “คณะอนุฯ”)ชุดนี้มีหน้าที่สำคัญคือต้องช่วยเหลือประชาชนในทุก ๆ ปัญหา ซึ่งสาระของ “ความช่วยเหลือ” นี้กินความกว้างขวางมาก ตั้งแต่ต้องทำให้ชาวบ้านสบายใจด้วยการรับเรื่องราวที่เขาเดือดร้อนมาไว้พิจารณา (แปลว่าคณะอนุฯไม่มีสิทธิที่จะปฏิเสธเรื่องที่ชาวบ้านร้องทุกข์มา แม้แต่เรื่องที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับกิจการงานของรัฐสภา เช่น เรื่องผัว ๆ เมีย ๆ หรือเรื่องหนี้สินส่วนตัว) จากนั้นก็ต้องดำเนินการสอบสวนหรือตรวจสอบ ที่จะต้องทำอย่างรวดเร็วและรายงานให้ผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะผู้ร้องนั้นอยู่เป็นระยะ (เพราะถ้าเงียบไปหรือแจ้งความคืบหน้าช้าไป คณะอนุฯก็จะถูกร้องเรียนเสียเอง) ที่สุดหากผลการตรวจสอบเป็นอย่างไรก็จะต้องรีบจัดการกับการแก้ไขในขั้นตอนต่อไป เช่น ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปแก้ไขหรือให้ความช่วยเหลือ ซึ่งการทำงานทั้งหมดนั้นจะต้องรายงานให้คณะกรรมาธิการคณะใหญ่ได้ทราบทุกสัปดาห์ เพราะจะต้องมีการประชุมคณะกรรมาธิการในทุกสัปดาห์ ดีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐสภามีความเชี่ยวชาญและมีระบบงานที่ดี ทำให้ปัญหาในเรื่องของการจัดทำรายงานและการประสานงานในการประชุมนั้นไม่ใช้เรื่องหนักหนาแต่อย่างใด การตรวจสอบเรื่องราวร้องทุกข์บางทีก็ต้องทำแบบเชิงรุก คือแม้จะไม่มีผู้ร้องเรียนมา แต่ถ้ามีข่าวสารหรือเรื่องความเดือดร้อนต่าง ๆ เกิดขึ้น ก็จะต้องรีบออกไปตรวจสอบ เพื่อไม่ให้มีใครมาบอกว่ารัฐสภานี้เป็นทองไม่รู้ร้อน หรือมีความรู้สึกช้า เช่น ครั้งหนึ่งมีข่าวว่าที่จังหวัดตราดมีการสร้างสุขาที่เกาะช้าง โดยใช้เงินลงทุนมหาศาลแต่ใช้การไม่ได้ ซึ่งสื่อมวลชนเรียกกรณีนี้ว่า “ส้วมทองคำ” พอคณะกรรมาธิการได้ทราบเรื่องก็มอบหมายให้คณะอนุฯรับเรื่องราวร้องทุกข์ที่ผมเป็นประธานออกไปตรวจสอบ ซึ่งผมก็กำหนดรายชื่อผู้ร่วมคณะเดินทางตามจำนวนปกติราว 7 - 8 คน ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐสภา 2 คนรวมอยู่ด้วยแล้ว แต่พอเอาเข้าจริง ๆ ก็มีผู้เสนอตัวจะร่วมไปในทริปด้วยอีกเท่าตัว ผมจึงเสนอให้คณะกรรมาธิการพิจารณา เนื่องจากเกินอำนาจของผม คณะกรรมาธิการแก้ปัญหาด้วยการมอบหมายให้มีคณะอนุฯติดตามงบประมาณไปทำงานร่วมด้วยอีกคณะหนึ่ง เพราะมีเรื่องของการใช้งบประมาณแผ่นดินเข้ามาเกี่ยวข้อง ปัญหาคนล้นงานจึงได้หมดไป ซึ่งผมมาทราบภายหลังว่าเป็นด้วยท่านนรินทร์นั่นเอง ที่เสนอให้มีการเพิ่มคนและเพิ่มงานนั้น ความจริงเรื่อง “ส้วมทองคำ” เป็นเรื่องที่องค์การมหาชนแห่งหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ (ชื่อองค์การค่อนข้างยาว คือ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน) ซึ่งจากการลงพื้นที่ตรวจสอบก็พบพิรุธหลายอย่าง แบบที่เรียกว่า “เกินความจำเป็น” ซึ่งต่อมาในการพิจารณางบประมาณประจำปี สภาได้ใช้ข้อมูลจากการสอบสวนนี้ตัดลดงบประมาณขององค์กรพิเศษเหล่านี้ ซึ่งมีในลักษณะที่ซ้ำซ้อนและใช้งบประมาณเกินตัว (เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่ดูแลบริษัทไทยแลนด์อีลีทการ์ด โดยให้อภิสิทธิ์หลายอย่างแก่นักท่องเที่ยวในระดับมหาเศรษฐี แต่ไม่เคยสร้างผลกำไรอะไรเลย) อย่างกรณีส้วมทองคำก็ทำงานซ้ำซ้อนกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด และขาดการประสานงานกับประชาชนในท้องถิ่น คณะกรรมาธิการได้ส่งผลการตรวจสอบให้รัฐบาล ที่สุดโครงการนี้ก็ถูกระงับไป วันหนึ่งท่านนรินทร์โทรศัพท์มาหาผมแล้วบอกว่าอยากจะให้พบกับ “ผู้ใหญ่” คนหนึ่ง ครั้นผมไปพบตามนัดก็คือนายทหารคนหนึ่งที่เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วยกัน นายพลคนนี้พูดกับผมว่าเขาเสียใจที่รายงานการสอบสวนของคณะอนุกรรมาธิการที่ผมเป็นประธาน ได้รายงาน “ไม่ครบถ้วน” ในการตรวจสอบองค์การมหาชนที่สร้างปัญหาดังกล่าว แล้วพูดในทำนองตักเตือนว่า ผมยังมีอนาคตอีกไกล ทำอะไรก็ให้ปรึกษาหารือกันบ้าง จะได้ไม่ไปทำร้ายหรือสร้างปัญหาให้กับใคร ๆ พอออกมาจากห้องผมก็ถามท่านนรินทร์ว่า นี่มันเรื่องอะไรกัน จะมาล็อบบี้เอาอะไรหรือ ท่านนรินทร์ไม่ตอบ แต่บอกแค่ว่า “ขอโทษ เข้าใจผิด” เขานึกว่านายทหารคนนี้จะพูดถึงเรื่องอื่น ไม่ใช่เรื่องที่ผมไปตรวจสอบโครงการขององค์การดังกล่าว บทเรียนหนึ่งที่ผมได้จากการทำงานในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่มีท่านนรินทร์เป็นคนให้บทเรียนนี้ก็คือ “จงทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย ไม่มีใครอยากเห็นเราเด่นเกิน” การเมืองที่ว่าสนุกก็คือการเรียนรู้ถึงเล่ห์กลต่าง ๆ เหล่านี้นี่เอง