ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต
“การมองว่าแบบแผนชีวิตกับโอกาสหรือโชคชะตาเป็นสิ่งซึ่งประกอบกันถือเป็นจุดเริ่มต้นของความหมาย แต่หากมองจากคนละมุม มันจะช่วยให้ชีวิตเรามีความหมายที่เต็มบริบูรณ์ยิ่งขึ้น”
นั่นคือสาระสำคัญในประเด็นที่น่าขบคิดของหนังสือในเชิงปรัชญาว่าด้วย “โชคและชะตากรรม” บทเพลงปลาวาฬ... บทประพันธ์ของ ลอเรนส์ แวน เดอ โพสต์ ผลงานแปลของ ธีรยุทธ บุญมี
หนังสือเล่มนี้...ถือเป็นบทสะท้อนที่เน้นย้ำให้มนุษย์ทุกคนได้ตระหนักถึงการไตร่ตรองในชีวิต ณ ทุก ๆ โอกาสที่ดำรงชีวิตอยู่ และไม่ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่วิกฤตหรือคับขันสักเพียงใดก็ตาม โดยส่วนใหญ่มนุษย์ มักจะขาดการเรียนรู้ในเชิงจิตวิญญาณลักษณะนี้ เพราะต่างก็หลงติดยึดกับค่านิยมเก่า ๆ ซึ่งมักจะแสดงถึงว่า ถ้าชีวิตประสบความสำเร็จใดใด นั่นหมายถึงโชค... แต่เมื่อใดก็ตามที่ชีวิตต้องพบกับปมปัญหาที่แก้ไม่ตกก็จะถูกสรุปออกมาว่าทั้งหมดเป็นเพราะชะตากรรม... ความเข้าใจที่กลับกลายเป็นจารีตไปดังกล่าว...ถูก ลอเรนส์ แวน เดอ โพสต์ วิพากษ์ว่า “มนุษย์ควรตระหนักว่าชีวิต ความสำเร็จ ความล้มเหลว โชคหรือชะตากรรม ถึงที่สุดแล้วก็เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่มนุษย์จะเข้าไปกะเกณฑ์เอาตามความต้องการได้”
ลอเรนส์ แวน เดอ โพสต์ ... ได้ให้ข้อชี้แนะว่า “มนุษย์ควรต้อนรับความสำเร็จด้วยความปีติและสำนึกขอบคุณ แต่ขณะเดียวกันมนุษย์ก็ควรต้อนรับความล้มเหลวด้วยมิตรภาพและความเข้าใจ” นั่นคือท่าทีของมนุษย์มีต่อ “อำนาจที่เหนือกว่า” ในมิติแห่งเจตจำนงที่ปรากฏเป็นงานเขียนใน “บทเพลงปลาวาฬ” ของ ลอเรนส์ แวน เดอ โพสต์ นักปรัชญา นักเขียน นักเดินทาง นักสร้างภาพยนตร์สารคดีชาวดัตช์-ฝรั่งเศส ซึ่งผ่านประสบการณ์อย่างโชกโชน ทั้งความยากแค้นและสุขสบายในชีวิต... เคยเป็นพรานล่าสัตว์ เป็นกะลาสีเรือล่าปลาวาฬในมหาสมุทรอินเดีย เป็นทหารทั้งในแอฟริกาตะวันตก และเกาะชวาในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง... เป็นนักข่าว... และมีความสนิทสนมกับเหล่าบรรดานักเขียน และนักวิจารณ์อย่าง ดี เอช ลอว์เรนส์... คาร์ล กุสตาฟ จุง... เวอร์จิเนีย วูลฟ์... หรือเฮอร์เบิร์ท รีด
ในฐานะ...ผู้แปล... “ธีรยุทธ บุญมี” ได้แสดงทัศนะตรงส่วนนี้อย่างเข้าใจและน่ารับฟังว่า “ถ้ามองชีวิตจากแง่มุมนี้ เราจะพบว่านอกจากจะมีสิ่งที่เรียกว่า ชะตากรรม เป็นแบบแผนที่บงการหรือกำหนดเส้นทางของชีวิตไว้แล้ว... ในชีวิตก็ควรมีพื้นที่สำหรับสิ่งที่เรียกว่า โอกาส อุบัติเหตุ หรือความบังเอิญซึ่งเราไม่มีโอกาสหยั่งรู้อยู่ด้วย... อันที่จริงด้านที่เป็นโอกาสหรือความบังเอิญก็มีความสำคัญต่อชีวิตไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าชีวิตในส่วนที่เป็นแบบแผนเป็นเส้นทางที่แจ่มชัด... สองสิ่งนี้เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันอย่างแยกจากกันไม่ได้ มันเป็นองค์ประกอบของสิ่งที่รู้ได้และรับรู้ไม่ได้ของชีวิต... เราไม่อาจมองว่าชีวิตเป็นแบบแผน สำเร็จรูปแบบมนุษย์สมัยใหม่มองกัน เราไม่อาจมองความสำเร็จว่าเป็นสิ่งที่ได้มาจากการจัดการด้วยคติแบบ Management of Success หรือกระทั่ง Management of Life แน่นอนว่ามนุษย์สมัยใหม่ซึ่งยึดมั่นในความเป็นปัจเจกบุคคล ย่อมปรารถนาที่จะกำหนดชีวิตของตนเองในทุก ๆ ด้าน ตั้งแต่อาชีพ ครอบครัวจะมีลูกชายหรือลูกสาว กระทั่งกำหนดความตายหรือการที่จะไม่ตาย
“บทเพลงปลาวาฬ” ... จับประเด็นเอาใจความสำคัญจากหนังสืออัตชีวประวัติของ ลอเรนส์ แวน เดอ โพสต์ ตอน “The Singing Whale” ซึ่งเป็นการกล่าวถึงประวัติในวัยเด็กของเขา ตอนเริ่มอาชีพเป็นลูกเรือล่าปลาวาฬในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นสมัยที่การล่าปลาวาฬยังไม่มีกฎห้ามเช่นในปัจจุบัน... ปรากฏการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับประสบการณ์ตรงส่วนนี้ จึงมักจะปรากฏเป็นเนื้อหาของวรรณกรรมที่แสดงให้เห็น... ความขัดแย้งในเบื้องลึกระหว่างความถูกและผิด... ระหว่างชีวิตที่กระจิริดของมนุษย์กับชีวิตที่ยิ่งใหญ่มหึมาของท้องทะเลอย่างนวนิยายเรื่อง “Moby Dick” หรือนวนิยายที่เขียนโดย ลอเรนส์ แวน เดอ โพสต์ อย่าง “The Hunter and the Whale” ซึ่งเป็นเรื่องราวของลูกเรือหาปลาในท้องทะเลที่กว้างใหญ่... และเนื่องจาก “The Singing Whale” ที่เป็นต้นฉบับดั้งเดิมเป็นอัตชีวประวัติของผู้เขียนต่อเนื่องกับบทอื่น ๆ เหตุนี้หนังสือ “บทเพลงปลาวาฬ” ในฉบับที่เป็นภาษาไทยจึงเป็นส่วนที่ผู้แปลปรับแต่งขึ้นใหม่ โดยตัดตอนเอาบางส่วนจากนวนิยาย “The Hunter and the Whale” ที่กล่าวถึงชีวิตวัยเด็กของ ลอเรนส์ แวน เดอ โพสต์ มาเสริม โดยมุ่งเน้นให้เกิดอรรถรสทั้งในเชิงวรรณกรรมและความคิด... ซึ่งก็ได้ผลอยู่ในระดับที่น่าพอใจ เพราะโดยแท้จริงข้อเขียนและนวนิยายส่วนใหญ่ของ ลอเรนส์ แวน เดอ โพสต์ ... จะค่อนข้างยาวและมีลีลาการเขียนที่ค่อนข้างจะเยิ่นเย้อ... เหตุนี้การเลือกตัดตอนและเข้าสู่ประเด็นของเนื้อหาสาระและความคิดที่เป็นความหมาย และมีความสำคัญเลย จึงน่าสนใจและมีความกระชับต่อการรับรู้ได้มากกว่า...
ธีรยุทธ บุญมี แบ่งบทตอนของ “บทเพลงปลาวาฬ” ในฉบับนี้ออกเป็น 3 บท คือ โชค...ล่า...และจุดจบ... แต่ละส่วนล้วนแสดงบทบาทความคิดสำคัญต่อสำนึกแห่งการรับรู้ของมนุษย์ โดยเฉพาะมนุษย์สมัยใหม่ได้อย่างถึงแก่น “โชคไม่ได้เป็นสิ่งเดียวกับระบบคุณธรรม... โชคไม่ได้บอกคุณว่าถ้าคุณทุ่มเททำงานอย่างหนักแล้วจะได้รับผลตอบแทนเต็มที่ โชคยิ่งไม่ใช่กำลังใจหรือโบนัสพิเศษที่ช่วยกระตุ้นส่งเสริมให้ชีวิตก้าวไปในทางดีหรือหยุดยั้งสิ่งที่เลวเอาไว้” ข้อเปรียบเทียบเชิงความคิดดังกล่าวชี้ให้เห็นถึง “โลกแห่งความเข้าใจ” ที่กระจ่างแจ้งทั้งที่เป็นอดีตและปัจจุบัน... โลกแห่งความกระจ่างแจ้งในมิติมุมมองที่ปรากฏผ่านวรรณกรรมสมัยใหม่ของตะวันตก ตลอดจนรากฐานแห่งความคิดของคนตะวันตกยุคใหม่...ที่มีแก่นหลักสำคัญอยู่สองประการ นั่นคือความเป็นปัจเจก (Individual) ของสรรพสิ่งที่จะสามารถทำให้มนุษย์มีศักยภาพในการพัฒนาตนเองสู่ ความสมบูรณ์ (Perfectibility) ที่มีคริสต์ศาสนาเป็นความคิดต้นแบบ... และแก่นความคิดที่มีรากฐานมาจากความเชื่อเรื่องความก้าวหน้า (Progress) ของมนุษยชาติ... ทั้งสองความคิดนั้นส่งผลต่อคนตะวันตก และก่อให้เกิดความเชื่อมั่นในประเด็นที่ว่า “ตัวเองมีเหตุผลหรือความรู้ที่สมบูรณ์ขึ้นไปเรื่อย ๆ มีความเข้าใจโลกธรรมชาติมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ... ซึ่งท้ายที่สุดก็ทำให้เกิด “ลัทธิวิทยาศาสตร์” ขึ้นมา... ขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดความฮึกเหิมในอารยธรรมของตนจนนำไปสู่ “ลัทธิล่าอาณานิคม” ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20” ในอดีตเราฆ่าเพื่อความจำเป็นแห่งชีวิตเท่านั้น มนุษย์คงทุกข์ทุกครั้งที่ฆ่า แต่ความรู้สึกถึงภาวะแห่งหนี้ของความตายหรือความรุนแรงจะถูกปลดเปลื้องไปด้วยความพึงใจขณะที่เรานำอาหารกลับมาคลายความหิวโหยให้กับชีวิตอื่นที่บ้าน... “แกรู้ไหมปลาวาฬก็คือ ช้างป่าแห่งท้องทะเล... ข้าสังหารปลาวาฬมามากกว่าช้างเก้าร้อยสิบเก้าเชือก...แต่...แต่ก็ยังไม่มีจุดสิ้นสุดของการฆ่า...”
บทเพลงปลาวาฬ... และเจตจำนงของ ลอเรนส์ แวน เดอ โพสต์ นับเป็นพลังที่สอดประสานกันในเชิงประสบการณ์ ประสบการณ์ที่นำไปสู่...การขบคิดและแปลความในสำนึกด้านจิตวิญญาณ... โดยพื้นฐานแห่งความเอื้ออาทรและเข้าใจ... โดยส่วนตัว... ผมรู้สึกประทับใจผลงานของ ลอเรนส์ แวน เดอ โพสต์ ผ่านภาพยนตร์เรื่อง “Merry Christmas Mr. Lawrence” เมื่อร่วม 40 ปีที่แล้ว... ภาพยนตร์ที่สร้างจากนวนิยายเรื่อง “The Seed and the Power” ซึ่งเป็นประสบการณ์ในช่วงที่เขาต้องตกเป็นนักโทษในค่ายกักกันนรกอันดิบเถื่อนของญี่ปุ่นในหมู่เกาะชวา ซึ่งแม้เขาจะได้รับความเจ็บแค้นจากการกระทำของญี่ปุ่น...เป็นความเข้าใจในมิติแห่งความเข้าใจในด้าน “ชะตากรรม...” ปรากฏการณ์ตรงส่วนนี้ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม โดยผู้กำกับ “นากิชา โอชิมา” และนำแสดงโดย “เดวิด โบวี่” แม้โชคชะตาจะเป็นสิ่งที่อยู่พ้นคำอธิบาย แต่ถ้าเรามีโอกาสย้อนกลับไปดูภาพรวมทั้งหมดจากต้นถึงปลาย เราอาจมองเห็นมันถักประสานกันเป็นแบบแผนที่ค่อนข้างชัดเจนจนทำให้เราอดเสียใจกับความคิดที่คับแคบและจำกัดของเราไม่ได้ ความคิดที่มักฟูมฟายไปกับโชคร้ายหรือโชคดีในช่วงของขณะนั้นมากเกินไป
นี่คือหนังสือ...ที่สามารถทำให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงการไตร่ตรองในชีวิต หนังสือที่สามารถให้ได้ทั้งการกระตุ้นจิตสำนึก (Encourage) และสามารถให้ความซาบซึ้งใจ (Appreciate) ... ด้วยเนื้อหาสาระเพียง 79 หน้า...แต่ประเด็นทั้งหมดของการนำเสนอทั้งในส่วนของผู้เขียน...และในกระบวนการสร้างสรรค์ของผู้แปล... ล้วนเป็นคุณค่าของการรับรู้ในการพัฒนาด้านจิตวิญญาณ (Spiritual Development) ...ได้อย่างดียิ่ง... นับแต่การค้นพบจากการบันทึกเสียงที่บ่งชี้ได้ว่า...ปลาวาฬมีความสามารถในการสื่อสารกันในท้องทะเลลึก...เป็นบทเพลงที่อ่อนโยนละเอียดอ่อน...ไม่ว่าจะสื่อออกมาผ่านสำนึกทั้งในด้านความเจ็บปวดจากฉมวกเหล็กที่ทะลุผ่านเข้าไปในเนื้อหรือความร่าเริงเบิกบานจากวิถีแห่งธรรมชาติ... ทั้งชะตากรรมและโชควาสนาล้วนเป็นบทสะท้อนที่สื่อสารมาถึงมนุษย์ ณ วันนี้...ที่จะต้องมีความเข้าใจในโครงสร้างของชีวิต โดยเฉพาะในประเด็นของความคิดให้กระจ่างมากขึ้น...เพื่อจะได้ไปถึงจุดจบอันสมบูรณ์ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า “มนุษย์เรา...ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่หรือสุจริตเพียงใด ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปเปลี่ยนแปลงดุลของชะตากรรมไปในทางใดทางหนึ่ง ถ้ามนุษย์ทำเช่นนั้น ชะตากรรมจะตอบโต้กับมนุษย์อย่างรุนแรง”
เหตุนี้...แม้ว่าสิ่งบางสิ่ง...อุบัติการณ์บางอุบัติการณ์อย่าง “อุบัติเหตุ” จะถูกมองจากบุคคลอื่นว่าเป็นองค์ประกอบเพียงน้อยนิดของชีวิต แต่ในหมู่ของพวกนักล่าปลาวาฬ...พวกเขากลับสำนึกอยู่เสมอว่า... มันเป็นสิ่งเดียวที่จะทำให้กระบวนการชีวิตได้มาถึงจุดจบอันสมบูรณ์...ด้วยความลึกซึ้งในการสื่อสารและด้วยความเข้าใจในดุลยภาพที่บริสุทธิ์ของโลกนี้และชีวิตอันแท้จริง