ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย มีคนอเมริกันจำนวนไม่น้อยที่มักจะคิดว่าตนเองเหนือกว่าชาวโลก หรือคนอื่นๆจนกลายเป็นลัทธิที่เรียกว่า Exceptionalism ทำให้เป็นแรงผลักดันให้สหรัฐฯ ดำเนินนโยบายต่างๆ โดยที่ไม่คำนึงถึงสิทธิหรืออำนาจอธิปไตยของประเทศอื่นๆ และสหรัฐฯก็ไม่จำเป็นต้องยึดถือกฎหมายระหว่างประเทศหากตนเองเป็นฝ่ายที่ฝ่าฝืน ในทางตรงข้ามสหรัฐฯมักจะอ้างกฎหมายระหว่างประเทศเมื่อตนเองเป็นฝ่ายถูกกระทำ ซึ่งในโลกนี้นอกจากสหรัฐฯก็คงมีแค่อิสราเอลอีกประเทศที่เจริญรอยตามได้ แต่ด้วยมิจฉาทิษฐิดังกล่าวของคนอเมริกัน จึงทำให้สหรัฐฯต้องประสบปัญหาอย่างหนักในการต่อสู้กับโรคระบาดโควิด-19 อ้างถึงคำพูดของประธานที่ปรึกษาด้านการแพทย์ของสหรัฐฯ ดร.แอนโธนี เฟาซี (Anthony Fauci) ใจความว่าการระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐฯอาจจะต้องยืดยาวไปอีกเป็นปี เพราะการกลายพันธุ์ของเชื้อโรดที่จะทำให้วัคซีนขาดประสิทธิภาพเพียงพอ หากนำเอาคำพูดของดร.เฟาซี ที่วิเคราะห์และสะท้อนถึงสภาวะโลกก็อาจแบ่งเป็น 2 ขั้วด้วยกันคือ กลุ่มประเทศที่ฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว กับกลุ่มประเทศที่ยังคงต้องต่อสู้กับการระบาดไปอีกอย่างน้อย 1 ปี และประสบปัญหาด้านการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ที่สำคัญการระบาดของโควิด-19 จะมีผลเลวร้ายต่อเศรษฐกิจโลกอย่างไรบ้าง แม้จะมีบางประเทศอาจฟื้นตัว แต่ถ้าอีกหลายประเทศยังคงผจญกับการแพร่ระบาดของเชื้อโรคอยู่ อย่างน้อยก็ไม่อาจจะพึ่งพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เคยเฟื่องฟูก่อนโควิดระบาดได้ แต่กลุ่มประเทศที่ฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดได้อย่างจีน จะเป็นหัวรถจักรสำคัญที่จะลากจูงการฟื้นตัวของกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิค ที่มีหลายประเทศทยอยฟื้นตัวอย่างเวียดนาม สิงคโปร์ เป็นต้น ในขณะที่ยุโรปและสหรัฐฯยังต้องเผชิญกับโรคระบาดและเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการเมืองในประเทศในที่สุด เราจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาเกือบทุกประเทศทำความผิดพลาดอย่างมากในการมุ่งเน้นที่ประสิทธิภาพ แทนการรู้จักที่จะยืดหยุ่นโดยเฉพาะในยามที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันอย่างโรคระบาดเช่นนี้ บางประเทศไปติดยึดอย่างมีความสุขกับกิจกรรมบางประเภทที่ทำรายได้ให้แก่ประเทศอย่างมากมาย เช่น การท่องเที่ยวหรือการส่งออกสินค้าบางประเภท และยึดมั่นกับความเคยชินแบบนี้จนไม่สามารถปรับตัวเองได้ทันต่อวิกฤตกาลที่เกิดขึ้น ดังนั้นการตั้งเป้าหมายหรือยุทธศาสตร์ที่แข็งตัว และเป็นระยะเวลายาวนานโดยผูกติดกับคำว่าประสิทธิภาพ และเป้าหมาย ตลอดจนความมั่นคงที่มีความหมายที่กว้างขวางแต่คลุมเครือ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันเปราะบางอย่างยิ่ง ด้วยไม่ได้เตรียมการที่จะปรับตัวหากมีสถานการณ์ที่ผิดความคาดหมาย ตัวอย่างเช่น ความล้มเหลวของสหราชอาณาจักรในการรับมือกับปัญหาโรคโควิดแพร่ระบาด ด้วยการที่ปราศจากระบบในการเตรียมตัวรับปัญหาที่เกิดอย่างกระทันหัน ทำให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินโดยที่เงินจากภาษีอากรมิได้ถูกใช้อย่างมีประโยชน์ ดังตัวอย่างที่ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ได้ให้คำแนะนำกับรัฐบาลอังกฤษว่าประชาชนต้องใช้หน้ากากประมาณ 1,000 ล้านชิ้น แต่ฝ่ายการเมืองเห็นว่ามากเกินไป จึงปรับลดลงมาเป็น 50 ล้านชิ้น ดังนั้นเมื่อเกิดการระบาดปรากฏว่าเกิดการขาดแคลนหน้ากากในขณะที่สหราชอาณาจักรเตรียมเพิ่มหัวรบนิวเคลียร์ เรื่องนี้หากมาเทียบกับไทย เมื่อก่อนเกิดการแพร่ระบาดกระทรวงพาณิชย์ได้ควบคุมราคาหน้ากากชิ้นละ 2.50 บาท แต่พอเกิดการระบาดหน้ากากก็หายไปจากตลาด แต่มาโผล่ในตลาดมืดด้วยราคาที่แพงขึ้นไม่น้อยกว่า 5 เท่า แสดงว่ากลไกตลาดของไทยทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่รัฐบาลขาดความยืดหยุ่นที่จะแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที กลับมาดูที่สหราชอาณาจักรพบว่าขาดระบบการรักษาพยาบาลที่ปรับตัวได้ทันเหตุการณ์ ทำให้โรงพยาบาล 99% ว่างเปล่า แต่มาใช้หนักมากในโรงพยาบาลที่เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดเพียง 1% ทำให้สหราชอาณาจักรต้องเผชิญกับวิกฤติทางเศรษฐกิจอย่างหนักจากโรคระบาด ซึ่งในระดับนานาชาติก็ไม่อาจจะเข้าไปช่วยอะไรได้ เพราะยุโรปก็กำลังมีปัญหาของตนเองหนักเช่นกัน สำหรับสหรัฐฯ โดยปกติมักจะเป็นผู้ที่จะออกไปให้ความช่วยเหลือประเทศอื่น ไม่ว่าจะมีเงื่อนไขอะไรหรือไม่ หรือาจเป็นการรุกรานก็ตาม แต่พอเกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 สหรัฐฯกลับอยู่ในสภาพที่เกือบจะช่วยตัวเองไม่ได้ ทั้งนี้เพราะคนอเมริกันมีความเชื่อฝังใจในความเป็นอิสรชน มีความคิดเห็นและเชื่อมันในความคิดของตนเอง และยึดมั่นในเสรีภาพส่วนบุคคล จนยากที่รัฐบาลกลางหรือรัฐบาลท้องถิ่นจะออกนโยบายมาควบคุมบังคับพฤติกรรมต่างๆของประชาชน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด แม้แต่การจะให้ใส่หน้ากากในที่สาธารณะ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโควิด นี่มันคือนิสัยเฉพาะตัวของคนอเมริกัน โดยที่ไม่เกี่ยวอะไรกับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย เพราะหากเราจะไปติดตามการดำเนินการของรัฐบาลนิวซีแลนด์ ภายใต้การนำของนายกจาซินดา เราก็จะเห็นว่านิวซีแลนด์ที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และคนนิวซีแลนด์ก็รักอิสรเสรีภาพเช่นกัน แต่เขาดูแลการแพร่ระบาดของโควิดได้ดี จนยอมเสียสิทธิบางอย่างลงไปในช่วงวิกฤติ ซึ่งสหรัฐฯควรจะไปศึกษาจากนิวซีแลนด์ เรื่องนี้ถ้าไปดูเหตุการณ์ในเมียนมา เราจะพบว่าชาวเมียนมาไม่ได้กลัวตาย ไม่ได้กลัวการแพร่ระบาดของโควิด แต่เขามองเห็นว่าเผด็จการนั้นเป็นภัยต่อส่วนรวมมากกว่า ชาวเมียนมาจึงออกมาต่อต้านอย่างไม่กลัวตาย กลับไปพิจารณาถึงสภาพการณ์ในสหรัฐฯ ด้วยความที่คนอเมริกันเชื่อถือกันว่าตนเองเป็นคนพิเศษ ดังนั้นการจะเข้าไปช่วยเหลือสหรัฐฯในขณะที่ลำบากและเผชิญวิกฤติโรคระบาดจึงเป็นเรื่องยาก เช่น การรวมกลุ่มแพทย์-พยาบาล จากทั่วโลก รวมทั้งจีนเข้าไปช่วยเหลือให้โรคมันทุเลาลง หรือจะจ้างแพทย์จากที่อื่นเช่น แพทย์จากจีนที่ควบคุมการระบาดได้แล้วเข้าไปช่วยงานในโรงพยาบาลที่ขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนาม ดังนั้นความร่วมมือระหว่างประเทศจะเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมในการปกป้องรักษาการแพร่กระจายของโควิด-19 และมันจะส่งผลให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของโลกเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น แต่ความรู้สึกแบบปัจเจกชนทำให้ความร่วมมืดเหล่านี้เกิดได้ยาก เพราะขาดการมีจิตสำนึกต่อส่วนรวมของสังคม ของประเทศ และของโลก ความรู้สึกแบบปัจเจกชนทำให้เกิดหายนะต่อส่วนรวมเพราะไม่อาจจะร่วมมือกันได้เพื่อปกป้องโลก ไม่ว่าจะเป็นภัยจากโรคระบาดหรือภาวะโลกร้อน ที่ธรรมชาติได้ส่งสัญญาณเตือนมาครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ปัจเจกชนก็ยังไม่สำนึกถึงภัยพิบัติที่ใกล้ตัวเข้ามาทุกขณะ ความรู้สึกร่วมในฐานะเพื่อนร่วมโลกแบบที่เรียกว่า “มนุษย์ทั้งผองที่น้องกัน” จึงจะเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขวิกฤติโลก ไม่ว่าคนในประเทศเหล่านั้นจะอยู่ในระบอบการปกครองแบบใด ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องสร้างความรู้สึกรับรู้ร่วมกันของชาวโลก ที่รวมเอาคนทุกชาติ ทุกภาษาเข้าด้วยกัน ซึ่งคนอเมริกันยังขาดอยู่มาก จึงเห็นได้ว่าการแพร่ระบาดของโควิดนั้นเป็นแรงกระตุ้นให้ชาวโลกได้มีจิตสำนักถึงภัยพิบัติที่เกิดร่วมกันในโลก และมองเห็นได้อย่างชัดเจน มากกว่าภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก ซึ่งเราจำเป็นต้องตระเตรียมทรัพยากรเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ในอนาคตอันใกล้ ที่สำคัญนอกจากทรัพยากร ก็คือ จิตสำนึกต่อส่วนรวม ไม่ว่าจะเป็นสังคมหรือประเทศ หรือโลก ลดความเห็นแก่ตัวกอบโกยเพื่อสร้างความมั่งคั่ง เสพสุข รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละ เพราะหากยังเห็นแก่ตัวอยู่แบบนี้ เมื่อภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดขึ้น เงินทองเหล่านั้นก็จะไร้ค่า แค่เอาชีวิตรอดก็แย่แล้ว ที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง ก็คือยามใดที่ “คนพิเศษ” รู้สึกว่าตนเองอ่อนด้อย ถอยคุณค่าเขาก็จะต้องอวดอำนาจเพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ด้วยการเข้าร่วมสงคราม หรือก่อสงคราม เช่น สงครามโลกครั้งที่ 2 สงครามเวียตนาม สงครามบุกถล่มอิรัก คราวนี้จะเป็นที่ไหนอีก รอดูแล้วกันอีกไม่นานหรอก