กรมประมง สนองนโยบาย ก.เกษตรฯ ลุยสานต่อ “โครงการธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วม” หลังปั้นแหล่งผลิตสัตว์น้ำสร้างรายได้เลี้ยงชุมชนจนประสบความสำเร็จในหลายพื้นที่ ตั้งเป้าเร่งพัฒนาแหล่งน้ำแห่งใหม่ปี 2564 อีก 20 แห่ง เพื่อกระจายความยั่งยืนสู่ชุมชน จัด Kick Off เปิดตัวโครงการ “แหล่งน้ำหนองพัง” จังหวัดนครพนม 18 มีนาคม 2564 นี้ เมื่อวันที่ 18 มี.ค. นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดโครงการธนาคารสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วมหนองพัง จังหวัดนครพนมว่า “โครงการธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วม” เป็นโครงการตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ดำเนินการ โดยกรมประมงเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง สามารถบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชนให้เป็นแหล่งผลิตสัตว์น้ำ เพื่อสร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจฐานรากเลี้ยงชุมชนได้อย่างยั่งยืน โดยใช้แหล่งน้ำของชุมชนเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการ ภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชนและการบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ในการสนับสนุนงบประมาณและข้อมูลทางวิชาการ ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ ปี 2560 จากการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 4 ปี ที่ผ่านมา กรมประมงได้มุ่งผลักดันโครงการฯ ดังกล่าว จนประสบผลสำเร็จเห็นผลเชิงประจักษ์ทั้งผลสำเร็จทางด้านสังคม เกิดแหล่งเรียนรู้ด้านการประมงชุมชนต้นแบบ เกิดความรัก ความสามัคคีกันในชุมชน ชุมชนมีทักษะทางด้านการประมงชุมชน อีกทั้งยังส่งผลสำเร็จทางเศรษฐกิจ มีผลผลิตสัตว์น้ำ สร้างรายได้และลดรายจ่ายครัวเรือน ทำให้ชุมเข้มแข็ง เกิดการพัฒนาอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ทำให้กรมประมงได้รับรางวัลเลิศรัฐ 3 ปีซ้อน ซึ่งเป็นรางวัลแห่งเกียรติยศที่มอบให้หน่วยงานที่ได้มุ่งมั่นปฏิบัติราชการจนประสบความสำเร็จมีความเป็นเลิศ ในสาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมเป็นการทํางานรวมกับประชาชนในลักษณะหุนสวนความรวมมือ ได้แก่ โครงการธนาคารฯ บ้านซับสมบูรณ์ จังหวัดบุรีรัมย์ ธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำหนองก่าน-สุขสำราญ จังหวัดหนองบัวลำภู และ ธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำฯ หนองอีเริง จังหวัดชัยภูมิ ปัจจุบันกรมประมงได้ดำเนินโครงการฯ รวมทั้งหมด 100 แห่ง โดยในปี 2564 ได้มีการขยายพื้นที่โครงการฯ แห่งใหม่ เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการพื้นที่แหล่งน้ำในชุมชนให้เกิดรายได้ สร้างประโยชน์แก่ชุมชนสูงสุดและเกิดความยั่งยืน อีกจำนวน 20 แห่ง สำหรับแหล่งน้ำชุมชนหนองพัง ซึ่งตั้งอยู่ หมู่ที่ 2 ตำบลพิมาน อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม เป็นแหล่งน้ำแห่งใหม่ที่กรมประมงคัดเลือกเข้าร่วมโครงการธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วม เพื่อดำเนินการในปีงบประมาณ 2564 มีพื้นที่ขนาด 60 ไร่ เดิมแหล่งน้ำแห่งนี้มีการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร และไม่ได้มีการบริหารจัดการแหล่งน้ำให้มีการใช้ประโยชน์จากศักยภาพของแหล่งน้ำอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะด้านการประมงในแหล่งน้ำชุมชนแห่งนี้ กรมประมงโดยสำนักงานประมงจังหวัดนครพนม และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดนครพนม จึงได้ผลักดันแหล่งน้ำหนองพังเข้าร่วมโครงการธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วม พร้อมส่งเสริมสนับสนุนให้มีการบริหารจัดการแหล่งน้ำในชุมชนเพื่อเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำจืดให้เป็นอาหารโปรตีนสำหรับการบริโภคและสร้างรายได้ให้ครัวเรือน ซึ่งได้เริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา โดยชุมชนได้มีการทำประชาคมหมู่บ้าน เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการแหล่งน้ำ พร้อมออกกฎกติกาในการบริหารจัดการและการจัดสรรรายได้ที่เกิดขึ้นจากโครงการ เช่น เพื่อใช้ในพัฒนาชุมชนด้านต่างๆ เช่น สาธารณูปโภคในหมู่บ้าน วัด โรงเรียน จัดสรรไว้เพื่อการบริหารแหล่งน้ำ เช่น ซื้อพันธุ์ปลาปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ เป็นต้น มีการจัดตั้งกองทุนโครงการฯ ปัจจุบันมีสมาชิกเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนแล้วกว่า 50 คน มีผู้ถือหุ้นรวมจำนวน 210 หุ้นๆ ละ 100 บาท รวมเป็นเงิน 21,000 บาท และคาดว่าจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตรอบแรกได้ในช่วงเดือนมีนาคม 2565 สร้างรายได้ให้ชุมชนไม่ต่ำกว่า 150,000 บาท พร้อมปันผลคืนแก่สมาชิกไม่ต่ำกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ โดยในโอกาสที่เปิดตัว Kick Off โครงการธนาคารสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วม “แหล่งน้ำหนองพัง” พื้นที่จังหวัดนครพนม ในครั้งนี้ กรมประมงยังได้มีการมอบเงินอุดหนุน เพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการฯของชุมชนบ้านหนองพัง เป็นจำนวนเงิน 175,000 บาท พร้อมปล่อยพันธุ์ปลานิลจำนวน 30,000 ตัว ปลาตะเพียนจำนวน 30,000 ตัว ในกระชังอนุบาลลูกปลาเพื่ออนุบาลลูกปลาจำหน่ายเป็นรายได้เข้ากองทุนโครงการธนาคารฯ และยังมีการสนับสนุนพันธุ์ปลาอีกจำนวน 40,000 ตัว ได้แก่ ปลานิล ปลาตะเพียนขาว ปลาสร้อยขาว และปลายี่สกไทย ปล่อยลงในแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำด้วย อย่างไรก็ตาม กรมประมงพร้อมที่จะขับเคลื่อนแหล่งน้ำใหม่ในพื้นที่อื่นๆ ให้เร่งดำเนินการตามเป้าหมายที่วางไว้ เพื่อกระจายความยั่งยืนสู่ชุมชนโดยเร็วที่สุด และพร้อมที่จะสนับสนุนติดตามการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดแห่งละไม่เกิน 4 ปี ในระหว่างปีงบประมาณ 2564–2567 หลังจากนั้น จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาด้านวิชาการและการประเมินผลการดำเนินของโครงการฯ ต่อไป รองอธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า การดำเนินโครงการธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วมนี้ เชื่อว่าจะทำให้ชุมชนมีผลผลิตสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นเพียงพอต่อการบริโภค สามารถลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้ในครัวเรือนได้เป็นอย่างดี และท้ายที่สุดคือ ชุมชนในพื้นที่โครงการฯ มีความรู้ความสามารถในด้านการบริหารจัดการแหล่งน้ำสามารถเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป