วันที่ 18 มี.ค.64 ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ พันตำรวจโท กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พันตำรวจโท ปกรณ์ สุชีวกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะกำกับดูแล และ นายมเหสักข์ พันธ์สง่า ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค กล่าวว่าได้มอบหมายให้ นายชยพล สายทวี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปพ.จชต.) ลงพื้นที่ทำการสืบสวน กรณี การบุกรุกตัดไม้ แผ้วถาง และยึดถือครอบครองป่าและออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฏหมายในพื้นที่อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส ตามเลขสืบสวนที่ 70/2564 กรณีดังกล่าว สืบเนื่องจาก ที่ทำการทางยุทธวิธี สำนักอำนวยการข่าวกรอง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (ทก.ยว. กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ได้เปิดยุทธการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ และได้ประสานข้อมูลกับศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเข้าดำเนินการ จากการตรวจสอบข้อมูลร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร (ทก.ยว.กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เจ้าหน้าที่ป่าไม้ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 13 เจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินจังหวัดนราธิวาส สาขารือเสาะ เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรศรีสาคร พบข้อเท็จจริงว่า ในพื้นที่บริเวณดังกล่าว กรมที่ดินได้มีคำสั่งให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (นส.3ก) เลขที่ 321-370 ,3742399 และ 542-553 ระหว่างรูปถ่ายทางอากาศหมายเลข 5321 IV แผนที่ 161 ตำบลเชิงคีรี อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส จำนวน 88 แปลง รวมเนื้อที่ประมาณ 1,500 ไร่ เนื่องจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (นส.3ก) ดังกล่าวออกตามโครงการเดินสำรวจออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (นส.3ก) ในปีงบในปีงบประมาณ 2537 โดยไม่มีหลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากได้ออกในบริเวณพื้นที่ที่เป็นเขาหรือภูเขาและมีความลาดชันเกินกว่า 35% ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2528 เห็นชอบด้วยนโยบายป่าไม้แห่งชาติ กำหนดพื้นที่ที่มีความลาดชันโดยเฉลี่ย 35% ขึ้นไป ไว้เป็นพื้นที่ป่าไม้โดยไม่อนุญาตให้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน จากกรณีดังกล่าวอาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดินและกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ ซึ่งเข้าข่ายเป็นความผิดทางอาญาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในบัญชีท้ายประกาศพระราชบัญญัติการสอบสวนพิเศษ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และตามประกาศ กคพ. (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ซึ่งจะได้ทำการสืบสวนแสวงหาข้อเท็จจริงและประมวลเรื่องเสนออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อพิจารณาว่ามีเหตุและมีเงื่อนไขที่กรมสอบสวนคดีพิเศษจะรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่