ม.เกษตรฯ พบแมลงชีปะขาว "เข็ม" Procerobaetis totuspinosus ชนิดใหม่ของโลก ที่ลำธารแม่สา และแม่น้ำแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ และเป็นชนิดแรกที่พบในแผ่นดินใหญ่ที่ไม่ใช่เกาะ
เมื่อวันที่ 17 มี.ค. รองศาสตราจารย์ ดร. บุญเสฐียร บุญสูง ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า คณะนักวิจัยด้านสัตววิทยา ได้แก่ นางสาวชนาพร สุทธินันท์ นิสิตทุนเรียนดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ระดับปริญญาเอก ศึกษาวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับความหลากหลายของตัวอ่อนแมลงชีปะขาววงศ์ Baetidae ซึ่งตนเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลัก Dr.Jean-Luc Gattolliat เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ร่วม และ Dr. Thomas Kaltenbach สังกัด Museum of Zoology (MZL) เมืองโลซาน สมาพันธรัฐสวิส เป็นผู้ร่วมวิจัย ได้ร่วมกันค้นพบตัวอ่อนแมลงชีปะขาวชนิดใหม่ของโลก
แมลงชีปะขาวเข็ม Procerobaetis totuspinosus ที่ลำธารแม่สา อำเภอแม่ริมและแม่น้ำแม่แจ่ม อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ โดยงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (BDC-PG4-161004) และโครงการทุนเรียนดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย
Procerobaetis totuspinosus มีชื่อสามัญว่า แมลงชีปะขาวเข็ม เนื่องจากลำตัวยาวเรียวและมีขนาดเล็ก ชื่อวิทยาศาสตร์ Procerobaetis totuspinosus Suttinun, Kaltenbach & Boonsoong, 2021 โดยตั้งชื่อตามลักษณะการพบหนามรูปร่างสามเหลี่ยมด้านบนของปล้องท้องที่ 6 ถึง 9 จัดอยู่ในสกุล Procerobaetis Kaltenbach & Gattolliat, 2020 (วงศ์ Baetidae) ซึ่งสกุลนี้ถูกค้นพบครั้งแรกในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อปีที่ผ่านมา ทั่วโลกพบเพียง 3 ชนิดเท่านั้น คือ พบที่เกาะสุมาตรา (อินโดนีเซีย) 2 ชนิด และหมู่เกาะฟิลิปปินส์ 1 ชนิด
แมลงชีปะขาวเข็มที่พบในประเทศไทยครั้งนี้เป็นชนิดที่ 4 ของสกุล Procerobaetis และเป็นชนิดแรกที่พบในแผ่นดินใหญ่ที่ไม่ใช่เกาะ (mainland) เช่น ไทย เวียดนาม พม่า ลาว จีน เป็นต้น มีลักษณะเด่นที่แตกต่างจากชนิดอื่น คือ การพบหนามรูปร่างสามเหลี่ยมด้านบนของปล้องท้องที่ 6 ถึง 9 มีลักษณะคล้ายกับชนิด P.freitagi ได้แก่ รูปร่างเหงือก ลักษณะหนามที่พบบนขา นอกจากนี้เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลชีวโมเลกุลด้วยยีน COI เทียบกับชนิดอื่นพบว่ามีค่าระยะห่างทางพันธุกรรมระหว่างชนิด (interspecific genetic distance) สูงถึงร้อยละ 20-23 ซึ่งช่วยยืนยันว่าเป็นชนิดใหม่
รองศาสตราจารย์ ดร.บุญเสฐียร บุญสูง กล่าวเพิ่มเติมด้านความหลากหลายและการอนุรักษ์แมลงชีปะขาว ว่า การค้นพบตัวอ่อนแมลงชีปะขาวชนิดใหม่ของโลกครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย ตัวอ่อนพบอาศัยอยู่ในลำธารต้นน้ำที่มีคุณภาพดีจนถึงดีมาก แมลงชีปะขาวเข็มชนิดใหม่มีขนาดค่อนข้างเล็ก พบในลำธารต้นน้ำ และแม่น้ำในพื้นที่สูง เป็นอาหารสำคัญของสัตว์น้ำอื่นๆ มีบทบาทในสายใยอาหารและระบบนิเวศ
แมลงชีปะขาวในเขตร้อนบางชนิดมีวงชีวิตเพียง 3 สัปดาห์เท่านั้น ส่วนใหญ่หนึ่งปีมีหลายรุ่น และเจริญเติบโตไม่พร้อมกัน ซึ่งรายละเอียดวงชีวิตของแมลงชีปะขาวจำเป็นต้องมีการศึกษาในอนาคต แมลงชีปะขาวบางกลุ่มอาจสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนได้ เช่น เมื่อปี พ.ศ. 2560 แมลงชีปะขาวขุดโพรง (Anagenesia minor) บินขึ้นมาเล่นแสงไฟพร้อมกันจำนวนมากริมแม่น้ำโขง ในพื้นที่จังหวัดนครพนมและมุกดาหาร ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ใช้ถนน และผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชัง เป็ด ไก่ พากันเก็บซากแมลงชีปะขาวไปเป็นส่วนผสมของอาหารเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ยังมีรายงานตัวอ่อนแมลงชีปะขาวขุดรู (Languidipes taprobanes) กัดสายไฟบริเวณบ่อน้ำพุอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย แต่ยังไม่เกิดความเสียหายมากนัก ในต่างประเทศยังมีรายงานการกัดเรือและพลาสติกคลุมก้นบ่อของเกษตรกรอีกด้วย จะเห็นว่าแมลงชีปะขาวแต่ละกลุ่มมีบทบาทเอื้อในระบบนิเวศที่แตกต่างกัน การอนุรักษ์แหล่งน้ำและพื้นที่ป่าจะช่วยคงความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศมีความเกื้อหนุนกัน
เอกสารอ้างอิง
Suttinun C, Kaltenbach T, Gattolliat J-L, Boonsoong B (2021) A new species and first record of the genus Procerobaetis Kaltenbach & Gattolliat, 2020 (Ephemeroptera, Baetidae) from Thailand. ZooKeys 1023: 13-28.
https://doi.org/10.3897/zookeys.1023.61081