“ความมั่นคงทางอาหาร” (food security) กลายเป็นสิ่งที่หลายองค์การและองค์กรระหว่างประเทศ หยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นที่ทั่วโลกต้องกังวล โดยเฉพาะการขาดแคลนอาหารที่แต่เดิมก็เป็นปัญหาใหญ่ของหลายประเทศอยู่แล้ว จนกระทั่งโควิด-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลก จึงเป็นประเด็นที่มาซ้ำเติมปัญหา “ภาวะความไม่มั่นคงทางอาหาร” (food insecurity) ให้ยิ่งรุนแรงขึ้นเป็นทวีคูณ
จากข้อมูลของ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations : FAO) พบว่าในปี 2019 ประชากรโลกกว่า 2 พันล้านคน หรือคิดเป็น 25.9% ของประชากรทั้งโลก ที่ต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะในวิกฤตโควิด-19 แนวโน้มสถานการณ์ก็ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก ด้านองค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) ระบุว่ามีประชากรโลกมากกว่า 135 ล้านคน ที่เข้าสู่ภาวะอดอยากในปี 2019 สอดคล้องกับ องค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ให้ข้อมูลว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนประชากรที่ขาดแคลนอาหารเพิ่มขึ้นเกือบ 60 ล้านคนทั่วโลก ขณะที่ข้อมูลจากโครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ (World Food Program : WFP) ชัดเจนว่าในปี 2020 จะมีผู้คน 265 ล้านคนที่เสี่ยงอดอยากขาดแคลนอาหารยิ่งขึ้นจากภาวะโควิด เว้นเสียแต่นานาชาติจะสามารถจัดการกับโควิดได้อย่างรวดเร็ว ถึงจะพอลดผลกระทบลงได้
เรื่องนี้ ธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูต (ฝ่ายเกษตร) และผู้แทนถาวรไทยประจำ FAO บอกถึงความกังวลของ UN เกี่ยวกับความไม่เพียงพอของอาหารที่อาจจะเกิดเร็วขึ้น โดยบางประเทศเข้าสู่สภาวการณ์ขาดแคลนอาหารแล้ว และในหลายประเทศก็กำลังประสบปัญหาการขนส่งอาหารที่ชะงักงันในช่วงล็อกดาวน์ จากวิกฤตโควิด เป็นภาพสะท้อนถึงจุดอ่อนด้านการผลิตอาหารที่ไม่เพียงพอของหลายประเทศทั่วโลก
หากโควิดเป็นตัวเร่งให้ความมั่นคงทางอาหารของโลกต้องสั่นคลอนแล้ว “ภาวะภัยแล้ง” ก็ถือเป็นต้นเหตุให้อัตราการเกิดปฏิกิริยานี้เร็วขึ้น ซึ่งผลกระทบหนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนคือ ประชาชนเกิดความอดอยากเนื่องจากการขาดน้ำในการอุปโภคบริโภค รวมถึงผลิตผลทางการเกษตรทั้งการเพาะปลูกและการเลี้ยงปศุสัตว์ที่ลดลงจากการที่ไม่มีน้ำหล่อเลี้ยง จนผลผลิตเกษตรปศุสัตว์อาจไม่เพียงพอต่อการบริโภค
สำหรับประเทศไทย สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ หรือ สสน. คาดการณ์ว่าปี 2564 นี้ ไทยจะเผชิญกับวิกฤตภัยแล้งอย่างหนัก จากปริมาณฝนสะสมในปี 2563 ที่ผ่านมา มีค่าน้อยกว่าค่าปกติ 4% ถือเป็นภาวะฝนน้อยกว่าปกติ 2 ปีติดต่อกัน (2562-2563) ทำให้ฤดูแล้งนี้ไทยอาจจะมีน้ำไม่เพียงพอ หากบริหารจัดการน้ำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม จากการที่ประเทศไทยอยู่ในตำแหน่งที่ตั้งที่ดี ด้วยภูมิประเทศที่เหมาะสมและภูมิอากาศเขตร้อน ไทยจึงกลายเป็น อู่ข้าวอู่น้ำ ที่มีความโดดเด่นด้านการผลิตสินค้าเกษตร ประกอบกับอุตสาหกรรมเกษตรต่อเนื่องไปจนถึงการผลิตอาหาร ผู้ประกอบการไทยต่างมุ่งพัฒนาระบบการผลิตให้ทันสมัย ได้มาตรฐานสากล เน้นการผลิตอาหารปลอดภัย ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 13 ของโลก ได้ดุลการค้าในสินค้าเกษตรและอาหารปีละกว่า 6 แสนล้านบาท
และถึงแม้ว่าจะอยู่ในภาวะที่ต้องต่อสู้กับโควิด-19 อย่างหนักตลอดปีที่ผ่านมา แต่ไทยก็ยังสามารถส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์เกษตรสูงขึ้นจากเดิมถึง 30% ถือเป็นการนำรายได้เข้าประเทศในช่วงวิกฤตได้อย่างสวยงาม สอดคล้องกับการคาดการณ์ของสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ว่าการส่งออกของไทยในปี 2564 จะเติบโตระหว่าง 3-4% มีสินค้าที่เป็นปัจจัยบวกที่สำคัญคือ สินค้ากลุ่มอาหารที่จะยังคงมีมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง จากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่กลับมารุนแรงทั่วโลกอีกครั้ง
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของไทย และถือเป็นโอกาสของประเทศ รวมถึงผู้ประกอบการด้านอาหารที่มีศักยภาพและพร้อมเต็มที่ในการบุกตลาด โดยเฉพาะในภาวะที่ทั่วโลกกำลังขาดแคลนอาหาร และกังวลกับวิกฤตความมั่นคงทางอาหารสำหรับประชากรของตนเอง ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิดเช่นนี้ ไทยต้องแสดงบทบาทพระเอกผู้ผลิตอาหารปลอดภัยเพื่อป้อนคนทั้งโลก
โดย : สังวาลย์ สยาม นักวิชาการอิสระ