มกอช. จัด Workshop Organic ติวความรู้กฎระเบียบสินค้าเกษตรอินทรีย์ สร้างความเข้มแข็งส่งออกสินค้าไทยไป EU พร้อมดันสู่ผู้นำระดับภูมิภาค ด้านการผลิต บริโภค และการค้าสินค้าเกษตรอินทรีย์
เมื่อวันที่ 17 มี.ค. นายครรชิต สุขเสถียร รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เป็นประธานเปิดการสัมมนา “Workshop on the New EU Regulation on Organic Production” ภายใต้โครงการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ ภายใต้โครงการการรวมตัวทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคอาเซียนจากสหภาพยุโรปเพิ่มเติมต่อประเทศไทยในสาขาความช่วยเหลือด้านการค้า (EU ARISE Plus-Thailand) ซึ่ง มกอช. ได้ดำเนินการร่วมกับสหภาพยุโรป โดยศูนย์พาณิชยกรรมระหว่างประเทศ (International Trade Center: ITC) และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ
นายครรชิต สุขเสถียร รองเลขาธิการ มกอช. กล่าวว่า ปี 2560 ไทยมีพื้นที่ผลิตอินทรีย์เกือบ 600,000 ไร่ อยู่ในลำดับที่ 7 ของเอเชีย มีการขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 ต่อปี ส่วนใหญ่เป็นการผลิตข้าวอินทรีย์ พืชไร่ และผักผลไม้ผสมผสาน สามารถสร้างมูลค่าจากการส่งออกได้ปีละกว่า 1,800 ล้านบาท โดยสหภาพยุโรปเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย และเป็นตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์อันดับ 2 ของโลก รัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดให้เกษตรอินทรีย์เป็นหนึ่งในนโยบายหลักของไทย ที่สนับสนุนให้เกษตรกรทำการเกษตรอย่างยั่งยืน “ลด ละ เลิก” การใช้สารเคมี เพื่อลดอันตรายต่อสุขภาพ รักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเป็นช่องทางเพิ่มรายได้ สอดรับกับยุทธศาสตร์ Farm to Fork ภายใต้นโยบาย European Green Deal ของสหภาพยุโรป ที่มุ่งการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน ลดการใช้สารเคมี ตลอดห่วงโซ่อุปทานอาหาร และสนับสนุนการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
ปัจจุบัน มกอช. อยู่ระหว่างทบทวนมาตรฐานเกษตรอินทรีย์เพื่อรองรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตที่เปลี่ยนแปลง บูรณาการภาคเกษตรทั้งระบบ ทั้งพืช สัตว์ ประมง และเพื่อให้มั่นใจว่าการปฏิบัติตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของไทยสอดคล้องตามมาตรฐานสากล และกฎระเบียบของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ในขณะที่สหภาพยุโรปมีการบังคับใช้กฎระเบียบสินค้าเกษตรอินทรีย์ฉบับใหม่ (Regulation EU 2018/848) มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2565 ซึ่งจะมีความชัดเจนและครอบคลุมสินค้าเพิ่มขึ้น ทั้งอาหารอินทรีย์และสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร เช่น เกลือ ไม้ก๊อก น้ำมันหอมระเหย เป็นต้น รวมทั้งมุ่งสนับสนุนให้การผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ของสหภาพยุโรปเติบโตอย่างยั่งยืน รองรับการแข่งขันที่เป็นธรรม ป้องกันการทุจริต และปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง
“การจัดสัมมนาครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้รับทราบมาตรฐาน กฎระเบียบสินค้าเกษตรอินทรีย์ทั้งของไทย อาเซียน และสหภาพยุโรป กฎระเบียบการนำเข้า-ส่งออกผักผลไม้ ตลอดจนได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น โอกาสและอุปสรรค ด้านเกษตรอินทรีย์ทั้งในบริบทของหน่วยงานกำกับดูแล หน่วยรับรอง หน่วยงานด้านการค้า และเกษตรกร/ผู้ประกอบการ ของไทยและสหภาพยุโรป ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์และสามารถนำไปต่อยอดกับการดำเนินงานของทุกท่านได้ และหวังว่า โครงการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันความร่วมมือ และสร้างโอกาสทางการค้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ระหว่างไทยและสหภาพยุโรป รวมทั้งเชื่อมั่นว่า หากทุกภาคส่วนร่วมมือกันผลักดันและส่งเสริมสินค้าเกษตรอินทรีย์ทั้งด้านการตลาดและการผลิต จะทำให้เราสามารถบรรลุวิสัยทัศน์ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 - 2564 คือ ประเทศไทยเป็นผู้นำในระดับภูมิภาค ด้านการผลิต การบริโภค การค้าสินค้า และการบริการเกษตรอินทรีย์ที่มีความยั่งยืน และเป็นที่ยอมรับในระดับสากลในอนาคต”รองเลขาธิการ มกอช. กล่าว