กรมศิลป์เดินหน้าโครงการศึกษาขุดค้นโบราณคดี “กลุ่มเทวสถานปราสาทพนมรุ้งฯ” สู่มรดกโลก นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า จากการที่ “กลุ่มเทวสถานปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ และปราสาทปลายบัด” (Ensemble of Phanom Rung, Muang Tam and Plai Bat Sanctuaries) ได้รับการขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้นมรดกโลก (Tentative List) ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 43 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2562 กรมศิลปากรจึงจัดทำโครงการศึกษาขุดค้นโบราณคดี “กลุ่มเทวสถานปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ และปราสาทปลายบัด” สู่มรดกโลกขึ้น เพื่อดำเนินการศึกษา สำรวจรวบรวมข้อมูลทางโบราณคดี และขุดค้นทางโบราณคดีในบริเวณพื้นที่กลุ่มเทวสถานปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ ปราสาทปลายบัด และแหล่งโบราณคดีในพื้นที่ใกล้เคียง อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวอีกว่า เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง บุรีรัมย์ โดยสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา ได้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี ณ แหล่งโบราณคดีโคกขี้เหล็ก (บ้านบัว) ตำบลจรเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาขุดค้นทางโบราณคดี “กลุ่มเทวสถานปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ และปราสาทปลายบัด” สู่มรดกโลก ประจำปีงบประมาณ 2564 ผลการขุดค้นทางโบราณคดี พบว่าแหล่งโบราณคดีแห่งนี้เป็นแหล่งโลหกรรมสมัยโบราณ พบเตาถลุงโลหะเหล็ก จำนวนทั้งสิ้น 7 เตา เป็นเตาถลุงแบบทางตรง 2 รูปแบบคือ เตาทรงอ่าง (Bowl Furnace) และเตาผนังสูง (Shaft Furnace) มีลักษณะเป็นเตาถลุงสร้างด้วยดินเหนียวปั้นและไม้ขึ้นเป็นโครงสร้างรูปร่างของเตาตามแบบที่ต้องการ จากนั้นใช้ไฟเผาเพื่อให้ดินจับตัวกันแข็ง และใช้น้ำดินฉาบซ้ำเพื่อให้ผิวเตาเรียบ มีการซ่อมแซมเพื่อใช้งานซ้ำต่อเนื่อง โบราณวัตถุที่พบ ได้แก่ ตะกรัน (Slag หรือ ขี้แร่) ชิ้นส่วนลูกรัง ชิ้นส่วนเบ้าดินเผา ชิ้นส่วนท่อดินเผา (Tuyere) ชิ้นส่วนตัวอุด (Stopper) เป็นต้น “ปัจจุบันอยู่ในระหว่างขั้นตอนการวิเคราะห์โบราณวัตถุที่ได้มาจากการขุดค้นทางโบราณคดี สันนิษฐานเบื้องต้นว่าแหล่งโบราณคดีโคกขี้เหล็ก (บ้านบัว) แห่งนี้ คือแหล่งถลุงโลหะ ประเภทเหล็ก ระดับชุมชนหมู่บ้าน มีอายุประมาณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายสมัยเหล็กถึงประมาณพุทธศตวรรษที่ 15” นายประทีป อธิบดีกรมศิลป์ กล่าว ทั้งนี้แหล่งโบราณคดีโคกขี้เหล็ก จึงเป็นอีกหนึ่งแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในการศึกษาพัฒนาการทางเทคโนโลยีและวิถีชีวิตของคนโบราณในแถบพื้นที่เขาพนมรุ้ง เมืองต่ำ และเขาปลายบัด โดยผลจากการศึกษาจะเป็นข้อมูลทางวิชาการประกอบการเรียบเรียงเอกสารฉบับสมบูรณ์ (Nomination Dossier) นำเสนอกลุ่มเทวสถานปราสาทพนมรุ้งฯ มุ่งสู่มรดกโลกต่อไป