"ภาคประชาชน" ร้องกมธ.กฎหมายฯ จี้สอบกรมราชทัณฑ์ ปมย้ายแกนนำม็อบออกนอกแดนคุมขังยามวิกาล ด้าน "โรม" ซัดเป็นกระบวนการอยุติธรรม
เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ที่รัฐสภา น.ส.ทิพอัปสร แก้วมณี ภาคประชาชน และครอบครัวของแกนนำกลุ่มราษฎรที่ถูกคุมขังทั้ง 11 คน ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตรวจสอบเหตุการณ์ในการควบคุมตัวผู้ต้องขังออกนอกแดนคุมขังในยามวิกาล โดยมีนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะโฆษกกมธ. เป็นผู้รับหนังสือ
น.ส.ทิพอัปสร กล่าวว่า ตามที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่านายอานนท์ นำภา ทนายความและผู้ต้องขังหนึ่งในแกนนำกลุ่มราษฎร ซึ่งได้เป็นจำเลยในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้ยื่นคำแถลงต่อศาลอาญา เมื่อวันที่ 16 มีนาคม มีใจความว่าได้มีการพยายามเคลื่อนย้ายผู้ต้องขังในเรือนจำพิเศษ ซึ่งเป็นผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราวและศาลได้มีหมายขังจำเลยไว้ ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ กรมราชทัณฑ์ในยามวิกาล โดยมีการพยายามใช้กำลังจากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ในปฏิบัติการ โดยพฤติการณ์ในกรณีดังกล่าว คือ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม เวลา 21.30 น. กับ เวลา 23.45 น. และวันที่ 16 มีนาคม เวลา 00.15 น. กับเวลา 02.30 น. ได้มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ชุดหนึ่งพยายามนำตัวนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน และนายภาณุพงษ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง ไปควบคุมตัวนอกแดน มีการนำชุดเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์พร้อมกระบองและบุคคลใส่ชุดสีน้ำเงินที่ไม่ติดป้ายชื่อ ไม่ระบุสังกัดมาเสริมกำลังด้วย อันเป็นการใช้กำลังพลมากผิดปกติ โดยอ้างว่าเป็นการนำตัวไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 ซึ่งภายหลังจากที่นายอานนท์ ได้ยื่นคำแถลงต่อศาลอาญา ปรากฏว่าได้มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไปยังประชาชน และได้รับการยืนยันข้อเท็จจริงจากนายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ว่าได้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวจริง ตามวันเวลาที่ปรากฏในคำแถลงต่อศาลของนายอานนท์
น.ส.ทิพอัปสร กล่าวต่อว่า จึงขอร้องเรียนมายัง กมธ.การกฎหมายฯ ขอให้กรมราชทัณฑ์เปิดภาพจากกล้องวงจรปิดในห้องขังระหว่างเกิดเหตุในคืนดังกล่าว ขอให้ กมธ.ไต่สวนข้อเท็จจริงและเหตุจำเป็นเร่งด่วนในการดำเนินการดังกล่าวที่ขัดต่อกฎหมายและระเบียบของกรมราชทัณฑ์ ขอให้ กมธ. เรียกตัวบุคคลเจ้าหน้าที่ ทั้งผู้บังคับบัญชาการปฏิบัติ เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ที่เข้าเวร และบุคคลที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ในชุดสีน้ำเงินที่ไม่ระบุชื่อและสังกัดที่ปฏิบัติหน้าที่ในคืนดังกล่าว มาทำการซักถามข้อเท็จจริงให้สิ้นสงสัย และขอให้ กมธ. อภิปรายหารือ และจัดทำรายงานข้อเสนอแนะในการทบทวนแนวทางปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยแนวทางปฏิบัติต่อผู้ต้องขังอย่างเหมาะสม เป็นธรรม ในกรณีการเปลี่ยนย้ายแดนคุมขังโดยไม่มีเหตุอันควร สิทธิในการต่อสู้คดีของผู้ต้องขัง ที่ควรได้รับอิสระอย่างเต็มที่ ในการหารือข้อต่อสู้กับทนายความ สิทธิในการต่อสู้คดีของผู้ต้องขัง ที่ควรจะได้อยู่ร่วมในแดนเดียวกันกับผู้ต้องขังในสำนวนคดีเดียวกัน เพื่อให้สามารถปรึกษาข้อต่อสู้ทางคดีได้อย่างเป็นธรรม
ด้านนายรังสิมันต์ กล่าวว่า เบื้องต้นจะรับหนังสือและข้อเรียกร้องไว้ ซึ่งะนำไปหารือกับกมธ.ต่อไป เบื้องต้นจากการพูดคุยกันกับกมธ.บางส่วน โดยกมธ.จะมีการลงพื้นที่ในเรือนจำและนำข้อเรียกร้องไปหารือกับทางเรือนจำว่ามีมาตรฐานอย่างไร ซึ่งตนก็เคยมีประสบการณ์ในการอยู่เรือนจำพอจะทราบมาตรการการควบคุมต่างๆ ยืนยันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ถูกต้อง ไม่ใช่มาตรฐานที่ทำในเรือนจำ และขอยืนยันว่าทั้ง 11 คนที่ถูกฝากขังและไม่ได้รับการประกันตัวมีสิทธิที่จะได้รับการประกันตัว และได้รับการต่อสู้คดีข้างนอก
“การนำไปขังในเรือนจำราวกับต้องการทำให้พวกเขายอมแพ้ โดยใช้กระบวนการยุติธรรมทำลายความยุติธรรมเสียเอง ซึ่งเราไม่สามารถเรียกกระบวนการเหล่านี้ว่ากระบวนการยุติธรรมได้ แต่มันคือกระบวนการอยุติธรรม และยืนยันว่าทั้ง 11 คนที่ต่อสู้เพื่อกระบวนการประชาธิปไตย คิดว่ามันคือกระแสธารที่เมื่อไหลไปแล้วก็ไม่มีใครหยุดยั้งได้ ขอให้กำลังใจกับครอบครัวผู้ถูกคุมขังทั้ง 11 คนและคนที่สูญเสีย คนที่ยังรอคอยคำตอบ”นายรังสิมันต์ กล่าว