คลังจับมือ ส.อ.ท.ผลักดันการรับรองเครื่องหมาย Made in Thailand ผ่านการบังคับใช้กฎกระทรวง กำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563 ที่ให้หน่วยงานรัฐจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่ผลิตในประเทศไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการไทย มั่นใจเกิดเม็ดเงินหมุนเวียนภายในระบบเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลังเปิดเผยว่า รัฐบาลได้เห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมและช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันด้านการตลาดในประเทศได้ จึงได้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในการผลักดันนโยบาย “Made in Thailand” เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน หันมาใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศมากขึ้น โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาอนุมัติกฎกระทรวง กำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานราชการใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศเพิ่มขึ้น ประกาศเป็นกฎกระทรวงที่มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา
โดยความคาดหวังจากกฎกระทรวงฉบับนี้ที่สนับสนุนหน่วยงานให้ภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย (Made in Thailand) คือผู้ประกอบการสามารถเพิ่มยอดขาย และหน่วยงานภาครัฐได้สินค้าที่ผลิตในประเทศไทยตามที่ต้องการ ภาครัฐมั่นใจว่าการสนับสนุนครั้งนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการและห่วงโซ่ SME เข้มแข็งขึ้น จากยอดการซื้อจากภาครัฐ ซึ่งในแต่ละปีหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศจะใช้งบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างกว่า 1.77 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเป็นการยกระดับเสริมศักยภาพการแข่งขันและลดภาระด้านการเงินที่ต้องนำมาหมุนเวียนในธุรกิจ
“ภาครัฐมีความตั้งใจเป็นอย่างมากที่จะผลักดันการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่ผลิตในประเทศ (Made in Thailand) ให้สำเร็จ จึงอยากจะขอเชิญชวนผู้ประกอบการมาร่วมกันขึ้นทะเบียนขอการรับรอง Made in Thailand กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยให้มากที่สุด เพื่อจะได้มีสินค้าให้หน่วยงานภาครัฐได้จัดซื้อจัดจ้างต่อไป”
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง กับการผลักดันการรับรองเครื่องหมาย Made in Thailand โดยการส่งเสริมการจัดจ้างของภาครัฐในครั้งนี้ จะเป็นการกระจายเม็ดเงินสู่ภาคอุตสาหกรรมจำนวนมหาศาล ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมที่จดทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมประมาณ 60,000 โรง รวมทั้งกลุ่ม SME ที่เป็นซัพพลายเชนอีกเป็นจำนวนมาก ตลอดจนเชื่อมโยงไปยังแรงงานอีกกว่า 5 ล้านคน มีโอกาสเพิ่มรายได้ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการนำเม็ดเงินมาหมุนเวียนในธุรกิจ พร้อมฟื้นฟูภาระหนี้สินที่อาจเกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมร่วมสนับสนุนกระตุ้นผู้ประกอบการ SME ให้ยกระดับสินค้าให้ได้มาตรฐาน เพื่อเข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยมีความพร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการในการยกระดับมาตรฐานสินค้าภาคอุตสาหกรรม ก่อนเข้าการรับรอง Made in Thailand กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อสินค้าไทยให้มากขึ้น ซึ่งภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างเพื่อสร้างความยืดหยุ่น โดยลดการพึ่งพิงการนำเข้าสินค้าและหันมาพัฒนาและสร้างความเข้มแข็ง ส่งเสริมการผลิตที่สามารถสร้างสายการผลิตและมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้นภายในประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งใกล้ชิดกับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมจะได้ประชาสัมพันธ์และเชิญชวนผู้ประกอบการให้มาขึ้นทะเบียนขอการรับรอง Made in Thailand รวมถึงร่วมมือกับทั้งกระทรวงการคลังและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในการผลักดันและส่งเสริมสินค้า Made in Thailand สู่การจัดซื้อจัดจ้างในภาคธุรกิจ และส่งเสริมการบริโภคในระยะยาวต่อไป
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากวิกฤติโควิด-19 และการแข่งขันทางการค้าในเวทีโลกที่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการพึ่งพาตลาดส่งออกมากจนเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยได้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้เห็นถึงปัญหาดังกล่าวและต้องการหันกลับมาสร้างความเข้มแข็งให้กับตลาดภายในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาตลาดโลกที่มีความผันผวนสูง รวมทั้งการส่งเสริมให้เพิ่มการใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศ ยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้รากฐานการผลิตของไทยมีความเข็มแข็งตลอดทั้งโซ่การผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ สามารถต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งจะส่งผลให้ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น ทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ และช่วยสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตในระยะยาว
ทั้งนี้จึงได้ริเริ่มโครงการ Made in Thailand ขึ้น เพื่อช่วยสร้างความเข้มแข็ง และสร้างโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าไทยได้มากขึ้น โดยเฉพาะโอกาสในการเข้าถึงระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่มีจำนวนโครงการและมูลค่าค่อนข้างสูงในแต่ละปี รวมไปถึงยังเป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือมากขึ้นจากคู่ค้าและผู้บริโภค การสร้างโอกาสในการขยายการค้าไปยังต่างประเทศที่นิยมสินค้าไทยได้มากขึ้นด้วย
น.ส.นิภา ลำเจียกเทศ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง กรมบัญชีกลาง กล่าวว่า สำหรับสาระสำคัญของกฎกระทรวงการคลัง กำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563 คือ การกำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่ผลิตในประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของพัสดุที่จะใช้ และในส่วนของงานก่อสร้างกำหนดให้ใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศก่อน โดยต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่า หรือปริมาณเหล็กหรือเหล็กกล้าที่ใช้ในงานก่อสร้างทั้งหมดในครั้งนั้น
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่หน่วยงานรัฐไม่สามารถใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศได้ตามอัตราที่กำหนดได้ ไม่ว่าจะเกิดจากการขาดแคลน หรือผู้ประกอบการไทยไม่สามารถผลิตได้ หรือเหตุผลอื่น ๆ หน่วยงานรัฐเจ้าของโครงการจะต้องได้รับการอนุมัติจากผู้ที่มีอำนาจเหนือขึ้นไป 1 ขั้นก่อน ในส่วนของการจัดจ้างงานก่อสร้าง หากหน่วยงานของรัฐไม่สามารถใช้เหล็กหรือเหล็กกล้าไม่ครบตามข้อกำหนดจำนวน 90% ได้ ให้หน่วยงานรัฐไปจัดซื้อพัสดุชนิดอื่นๆที่ผลิตภายในประเทศให้มีสัดส่วนครบตามที่กำหนด ซึ่งทางกรมบัญชีกลางได้ส่งเวียนแนวปฏิบัติไปยังส่วนราชการทุกหน่วยงานแล้ว ซึ่งหลังจากนี้จะได้ทะยอยออก TOR จัดซื้อจัดจ้างตามขั้นตอนต่อไปของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งขอเชิญชวนผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าในประเทศไทยมาร่วมกันขึ้นทะเบียน Made in Thailand ให้มากๆ
นางพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล ประธานสายงานมาตรฐานอุตสาหกรรม ส.อ.ท.กล่าวว่า ขณะนี้ ส.อ.ท.ได้มีการเตรียมความพร้อมในการรับขึ้นทะเบียนสินค้า Made in Thailand (MiT) โดยได้เริ่มเปิดรับลงทะเบียนตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา ระบบรับรองได้รับคำปรึกษาด้านการดูแลความลับของข้อมูลจากที่ปรึกษาระดับ Big 4 และ ส.อ.ท. ดูแลด้านนี้อย่างมีหลักการ ทั้งด้านระบบและด้านจรรยาบรรณเจ้าหน้าที่ มีการจัดอบรมสัมมนาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการในการลงทะเบียนเพื่อให้ทราบถึงสิทธิประโยชน์ที่จะได้จากโครงการ Made in Thailand (MiT) อย่างต่อเนื่องและยังได้พัฒนาแพลตฟอร์มการลงทะเบียนเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ
โดยการรับรองสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย หรือ Made in Thailand จะใช้แนวทางการคำนวณมูลค่าตามหลักการ ASEAN Content โดยปรับให้ตรงวัตถุประสงค์ของการสนับสนุนสินค้าผลิตในประเทศ ซึ่งต้องมีสัดส่วนมูลค่าวัตถุดิบผลิตในประเทศอย่างน้อย 40% โดยคุณสมบัติของผู้ขอขึ้นทะเบียนสินค้า Made in Thailand จะเป็นผู้ประกอบการไทยหรือต่างประเทศ ที่มีโรงงานผลิตในประเทศไทย มีใบอนุญาตประกอบกิจการ มีการจดทะเบียน มีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรที่ถูกต้องในประเทศไทย และมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด หากสินค้าใดที่ผ่านการรับรองจะได้รับเอกสารรับรองที่ ส.อ.ท. ออกให้แก่ผู้ประกอบการนำ ไปใช้แสดงคุณสมบัติสินค้า Made in Thailand กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และต่อไปในอนาคตจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมบัญชีกลางอย่างเป็นระบบ
สำหรับกลุ่มสินค้า Made in Thailand ที่มีโอกาสเข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ อาทิ วัสดุครุภัณฑ์สำนักงาน,ครุภัณฑ์การศึกษา,จอมอนิเตอร์,เฟอร์นิเจอร์,ชุดยูนิฟอร์ม,อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ,อุปกรณ์ไฟฟ้าและพลังงาน, วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในงานก่อสร้าง อาทิ เหล็ก, ปูนซีเมนต์ รวมถึงจะมุ่งประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลไปยังกลุ่มผู้ค้าส่ง ค้าปลีก (Trader) ที่เข้าร่วมยื่นเสนองานกับภาครัฐให้เข้าใจในกฎกระทรวงฉบับใหม่และการนำสินค้า Made in Thailand ไปเสนอต่อภาครัฐด้วย โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตั้งเป้าปี 2564 จะมีผู้ยื่นขอการรับรอง Made in Thailand ไม่ต่ำกว่า 100,000 รายการสินค้า เป็นโอกาสสำคัญมากในการสร้างหรือเพิ่มยอดขายของผู้ประกอบการกับภาครัฐ ในครั้งนี้
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า โครงการ Made in Thailand จะช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการชาวไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งหากเพิ่มสัดส่วนให้ได้ตามที่กำหนดไว้ร้อยละ 60 ก็จะช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการชาวไทยเพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านล้านบาท และยังช่วยเพิ่มเม็ดเงินให้เกิดการหมุนเวียนภายในระบบเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 และยังทำให้ธุรกิจของคนไทยเข้มแข็งมากขึ้น และมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลกได้ดียิ่งขึ้น เพราะสินค้าที่ได้รับเครื่องหมาย MiT จะต้องผ่านเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้ได้มาตรฐานตามที่กำหนด ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสในการทำตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศเพิ่มขึ้น
โดยในระยะต่อไปสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยยังได้วางแผนการผลักดันสินค้าที่ได้รับการรับรอง Made in Thailand ไปสู่การจัดซื้อในห่วงโซ่การผลิตของภาคอุตสาหกรรม และผลักดันให้ผู้บริโภคหันมาสนใจและบริโภคสินค้า Made in Thailand มากขึ้นด้วย