จำนวนผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs เพิ่มมากขึ้นต่อเนื่องทุกปี อันเป็นผลมาจากการบริโภคและละเลยการดูแลสุขภาพ เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ได้รณรงค์สร้างค่านิยมลดการรบริโภคหวานซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรค NCDs โดยได้มีการขับเคลื่อนทั้งในระดับนโยบายสาธารณะและการทำงานเชิงรุกระดับพื้นที่ทั่วประเทศ เกิดต้นแบบการลดบริโภคหวานในหลายๆพื้นที่
ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้จัดการโครงการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข รักษาการในตำแหน่งทันตแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านทันตสาธารณสุข) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานได้รณรงค์สร้างความรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคหวานของคนในสังคมต้องมาอย่างต่อเนื่องในทุกโอกาสและช่องทาง ซึ่งประเทศไทยก็ได้รับคำชื่นชมจากนานาประเทศ โดยเฉพาะความกล้าหาญในการจัดการด้านภาษี เพื่อให้คนในประเทศบริโภคหวานน้อยลง
ผู้จัดการโครงการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ย้ำในเรื่องของการบริโภคหวานมากเกินไปว่า ผู้บริโภคต้องตระหนักรู้ว่าการกินหวานมากเกินไปจะเป็นโทษต่อร่างกาย เป็นที่มาของโรคภัยต่างๆ ทั้งโรคอ้วน เบาหวาน ความดัน หรือโรค NCDs มากันครบ โรคพวกพวกนี้ เป็นง่าย แต่ตายยาก ถ้าคนในครอบครัวมีใครเป็น ก็ต้องเสียเวลามาแลสมาชิกในครอบครัวอีก อย่างคนเป็นเบาหวาน ต้องกินยาตลอดชีวิตและต้องระมัดระวังตัวตลอดเวลาเวลา ดังนั้นผลิตภัณฑ์อะไรที่ไม่ดีสุขภาพก็ควรจะลดการบริโภคลง
“เราต้องรู้ก่อนว่ากินหวานแล้วอ้วนเรื่องนี้สำคัญ จากนั้นก็จะนำไปสู่เรื่องของการจัดสิ่งแวดล้อมในบ้าน ต้องไม่มีสิ่งของที่เรียกว่าของหวานอยู่ในตู้เย็น เมื่อเริ่มได้แบบนี้แล้ว ความรู้ที่มีก็จะส่งต่อไปยังชุมชนทำกติการ่วมกัน หรือจัดสิ่งแวดล้อมไม่ให้เอื้อต่อการกินหวาน อย่างในโรงเรียนก็อย่าให้มีน้ำอัดลมและขนมกรุบกรอบขาย เป็นต้น” ทพญ.ปิยะดา กล่าว
เด็กไทยไม่กินหวานจึงให้สำคัญกับการสร้างความรู้แก่ประชาชน โดยทำงานร่วมกับชุมชน โรงเรียนทั่วประเทศอย่างที่อำเภออ่าวลึก จ.กระบี่ เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2553 จนประสบความสำเร็จ สามารถประกาศว่าชาว “อ่าวลึกไร้พุง” และกำลังทำให้ “อ่าวลึกอ่อนหวาน”
ทพญ.บุษบา ภู่วัฒนา หัวหน้ากลุ่มทันตกรรม รพ.อ่าวลึก คนขับเคลื่อนสำคัญของเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานในจังหวัดกระบี่ กล่าวด้วยว่า งานทันตกรรมหากมองแค่เรื่องฟันมันเป็นประเด็นน้อยมาก แต่ถ้าเรามาคิดว่า อะไรบ้างละที่ส่งผลกระทบต่อฟัน ก็จะเป็นเรื่องของการกิน โดยเฉพาะการกินหวาน ซึ่งไม่เพียงแต่ฟันผุ ยังส่งผลให้เกิดโรคอ้วน โรคเบาหวาน อีกด้วย เราจึงรุกขับเคลื่อนอยากจริงจัง และเข้าร่วมทำงานกับเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ด้วยการขับเคลื่อน 3 ภาคส่วน คือ ชุมชน โรงเรียน ครอบครัวรวมไปถึงส่วนราชการหรือท้องถิ่น มีการจัดการให้ความรู้ในสถานศึกษา พัฒนานโยบายสาธารณะ และรณรงค์สร้างกระแสในการสื่อสารสาธารณะ
โดยโรงเรียนเริ่มจากนโยบายหลัก คือ “โรงเรียนปลอดน้ำอัดลมและขนมกรุบกรอบ” สนับสนุนให้ดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำหวาน มีการจัดทำโรงอาหารอ่อนหวาน กิจกรรมยุวทูตอ่อนหวาน ผลิตสื่อเรียนรู้เพื่อลดการทานหวาน เช่น บิงโก 3 สี มีนิทรรศการระหว่างกลุ่มโรงเรียนเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หลังจากดำเนินการมาจนสำเร็จ จึงมาขยายผลไปยังเรื่อง “อาหารปลอดภัยในโรงเรียน” ให้เด็กรู้จักการเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ รณรงค์การบริโภคผักโดยการส่งเสริมการสร้างแหล่งอาหารในโรงเรียน มีการปลูกผักเพื่อนำมาเป็นอาหาร และการนำเอาพืชผัก หรือวัตถุดิบจากชุมชนมาที่โรงเรียน เช่นเดียวกับการส่งต่อเรื่องการบริโภคอาหารปลอดภัยไปยังชุมชน ซึ่งได้ผลตอบรับดีมาก เพราะบางชุมชน เริ่มมีตลาดนัดชุมชน ตลาดสีเขียวบ้างแล้ว
ในส่วนของการขับเคลื่อนระดับชุมชนนั้น มีการจัด “มหกรรมคนอ่าวลึกไร้พุง” มาตั้งแต่ปี 2552 มีกิจกรรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพ งานทันตกรรม และเรื่องอาหาร เช่นเดียวกับการผลิตน้ำดื่มสะอาด เพื่อนำไปจำหน่ายตามสถานที่ต่าง ช่วยรณรงค์ดื่มน้ำเป่าแทนน้ำหวาน ด้วย สโลแกน “เปล่านะ เปล่านะ” มีการขอความร่วมมือร้านกาแฟ/เครื่องดื่ม ให้มีเมนูอ่อนหวานเพื่อสุขภาพ “ร้านกาแฟอ่อนหวาน” “หวานน้อยหรอยได้” ลูกค้าสามารถสั่งเมนูเครื่องดื่มหวานตามระดับได้ และปี 2562 จะเป็นการรณรงค์ “หวานน้อยสั่งได้” ตามแคมเปญของเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ในส่วนระดับนโนบายนั้น
ทาง ทพญ.บุษบา กล่าวอีกว่า ได้มีการรณรงค์อย่างจริงจังในส่วนราชการ ในการส่งเสริมให้มีเมนูเพื่อสุขภาพในการประชุมหน่วยงานราชการ จนนายอำเภออ่าวลึกได้นำไปเป็นนโยบายให้ทุกหน่วยงานราชการจะต้องจัดอาหารว่างสุขภาพ หรือ Healthy Meeting ด้วยค่าพลังงานไม่เกิน 200 แคลอรี่
การสร้างค่านิยมไม่กินหวาน จะได้ผลมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล และหากเริ่มตั้งแต่วัยเยาว์ แน่นอนว่าการรณรงค์จะไม่สูญเปล่าอย่างแน่นอน ซึ่งโรงเรียนถือเป็นสถานศึกษาที่ใกล้ชิดกับนักเรียน และเป็นที่อบรมบ่มเพาะการเรียน และสุขนิสัยได้ ที่ ร.ร.บ้านคลองแรด ต.แหลมสัก อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ เข้าร่วมขับเคลื่อนลดการบริโภคหวานมาตั้งแต่ปี 2552 ด้วยการปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการลดทานหวานให้มากที่สุด ซึ่งใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี จึงจะเริ่มเห็นผล
ส่วนทางด้าน น.ส.อมรรัตน์ นาคทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคลองแรด ต.แหลมสัก อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ เปิดเผยว่า สิ่งแรกที่จัดการคือ โรงอาหารและร้านค้า โดยขอความร่วมมือร้านค้าให้งดจำหน่าย ขนมหวาน ขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลม และให้แม่ครัวปรุงอาหารแบบอ่อนหวาน และมีผลไม้ให้ทานแทนขนม ส่งเสริมการดื่มน้ำเปล่า มีกิจกรรมรณรงค์สร้างจิตสำนึกในการเรียนการสอน และกิจกรรมพิเศษร่วมกับเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานระดับอำเภอ มาอย่างต่อเนื่อง เชิญผู้ปกครองมาให้ความรู้เรื่องพิษภัยของการทานหวานโดยมีวิทยากรฝ่ายสาธารณสุขทั้ง รพ.และ รพ.สต.
ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคลอดแรด เปิดเผยอีกว่า แรกๆ ที่ปรับ เด็กอาจจะรู้สึกแปลกๆ ไปบ้าง เช่น เด็กจะไม่ดื่มนมจืดเลย เพราะติดนมรสหวาน ทางโรงเรียนจึงค่อยๆ ปรับ จากรุ่นต่อรุ่นเด็กจึงคุ้นเคยรสจืด การที่เด็กได้ไม่ทานหวานก็ส่งผลดีต่อตัวเอง เราพบว่าเด็กอ้วนลดน้อยลง เหลือไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี ส่วนฟันผุก็มีอัตราน้อยลง แม้จะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ดีกว่าก่อนมาก
จากนั้นทางโรงเรียนบ้านคลองแรด มีการส่งเสริมเรื่องการบริโภคอาหารปลอดภัยด้วยการให้เด็กทานอาหารที่มีประโยชน์ เด็กทุกคนจึงกินผักเป็น มีการปลูกผักในโรงเรียนไว้บริโภค และส่วนหนึ่งก็นำเอามาจากชุมชน ซึ่งต้องเชื่อมั่นว่า ผัก อาหารทะเล เนื้อสัตว์ ที่มาจากชุมชนนั้นจะต้องสะอาดและปลอดภัย ส่วนที่ ร.ร.วัดสถิตโพธาราม ต.แหลมสัก อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ มีการส่งเสริมให้เด็กรู้จักทานอาหารปลอดภัย ควบคู่กับการรณรงค์ไม่ทานหวานเช่นกัน
นายมิตร คำเลี้ยง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสถิตโพธาราม กล่าวว่า ตามที่เข้าร่วมโครงการลดการบริโภคหวานของเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานก็ต้องมีการประชุมผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษา ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ ซึ่งทุกคนยินยอมที่จะร่วมกันผลักดัน ทางโรงเรียนจึงเริ่มที่ไม่ให้มีแม่ค้าขายอาหารในโรงเรียน ขอความร่วมมือผู้ปกครองสมทบเงินวันละ 10 บาท เพื่อเป็นค่าผลไม้ให้บริการแทนการกินขนม เด็กที่นี่จะได้กินผลไม้ 4 วัน และอีกหนึ่งวันจะเป็นขนมหวานไทยแบบหวานน้อย
ส่วนเมนูอาหารแน่นอว่าต้องไม่หวาน โดยยกเลิกแบบจ้างเหมาที่ทำมาจากที่บ้าน โดยให้มาทำที่โรงเรียน โดยครูเวรจะเป็นคนจัดหาวัตถุดิบให้ ซึ่งบางอย่างก็ได้จากชุมชน ที่จำหน่ายให้ราคาถูกเพื่อช่วยเหลือโรงเรียนและให้ลูกหลานได้กินของดี เช่น อาหารทะเลมีความสด ไม่มีสารฟอร์มาลีน ขอความร่วมมือให้เด็กงดซื้อขนมที่มีขายหน้าโรงเรียน ให้เด็กรู้จักฉลาดเลือกบริโภคว่าสิ่งไหนมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ “ เราเห็นเด็กมีสุขภาพดีขึ้น ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาดีขึ้น เด็กมีความสุข มีรอยยิ้ม ซึ่งก็เป็นผลมาจากสุขภาพที่ดีจากการบริโภคนั่นเอง” ผอ.ร.ร.วัดสถิตโพธาราม เชื่ออย่างนั้น