วันที่ 17 มี.ค.64 ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมร่วมรัฐสภา หลังจากที่นายสมชาย แสวงการ ส.ว. เสนอญัตติให้รัฐสภาลงมติไม่เห็นด้วยกับการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสาม เพื่อให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และเพิ่มหมวดใหม่ ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ตกไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีสมาชิกรัฐสภาเสนอความเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ต่อมานายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เสนอญัตติต่อที่ประชุมเพื่อเสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยการปฏิบัติให้ชัดเจน ใน 4 ประเด็น ด้วย ทั้งนี้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ทักท้วงว่า การเสนอญัตติซ้อนญัตติไม่สามารถทำได้ ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา แต่ควรพิจารณาทีละญัตติ ทำให้นายชวน ชี้แจงว่าได้ปรึกษาหารือกับเจ้าหน้าที่แล้วเห็นว่า เป็นญัตติที่เกี่ยวเนื่องทำนองเดียวกัน เมื่อถามญัตติต้องสอบถามทีละญัตติ หากญัตติของนายสมชาย ได้รับความเห็นชอบ ทำให้ญัตติของนายจุรินทร์ไม่มีผล แต่หากญัตติของนายจุรินทร์ได้รับการรับรอง ญัตติของนายสมชาย ต้องค้างไว้ ทั้งนี้การเสนอญัตติดังกล่าวไม่ถือว่าตกไปและทำได้ แต่ไม่แน่ใจว่าจะมีสมาชิกเสนอญัตติอื่นอีกหรือไม่ จึงให้โอกาสแสดงความเห็นและข้อเสนอ และสุดท้ายคือการลงมติเรียงลำดับญัตติที่เสนอก่อน ทำให้นายสมชาย ลุกขึ้นชี้แจงว่า การเสนอญัตติซ้อนไม่ถูกต้อง จึงขอให้ลงมติในญัตติที่ตนเสนอก่อน นายชวน เตรียมที่ลงมติในญัตติที่เสนอ แต่มีส.ส.พรรคพลังประชารัฐ อาทิ นายวีรกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ทักท้วงว่าวาระที่พิจารณาคือการปรึกษาหารือ ยังไม่เข้าระเบียบวาระ ดังนั้นจึงควรฟังความคิดเห็นจากสมาชิกรัฐสภาที่ต้องการเสนอทางออก เพื่อไม่ให้เรื่องดังกล่าวไม่ต้องตกไป ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ คัดค้านการบรรจุญัตติของนายจุรินทร์ เนื่องจากไม่เป็นไปตามข้อบังคับ ที่ต้องทำเป็นหนังสือและมีผู้รับรอง อย่างไรก็ดีนายชวน ชี้แจงด้วยว่า การเริ่มพิจารณานายสมชายได้เสนอญัตติโดยที่รัฐสภายังไม่ทันได้พิจารณา จึงต้องดำเนินการ อย่างไรก็ดีขณะนี้มีข้อเสนอของสมาชิกรัฐสภา ที่ต้องการเสนอทางออก ดังนั้นตนขอให้สมาชิกรัฐสภาอภิปรายต่อไป และในตอนท้ายตนจะสรุปว่าจะดำเนินการเรื่องดังกล่าวอย่างไร ทำให้นพ.ชลน่าน ได้ขอให้นายจุรินทร์ถอนญัตติดังกล่าวเพื่อไม่ให้เป็นปัญหา ทำให้นายชวน ชี้แจงว่า การเสนอญัตติดังกล่าวเป็นอำนาจทำได้ ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้ถกเถียงถึงการเสนอญัตติด้วยวาจาต่อที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งเสนอโดยนายสมชาย แสวงการ ส.ว. ที่ขอให้รัฐสภาลงมติให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ3 นั้นตกไป เพราะมีเนื้อหาขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และ ญัตติของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ที่ขอให้ชะลอการพิจารณาวาระสาม และขอส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยในทางปฏิบัติ ทั้งนี้สมาชิกรัฐสภา ทักท้วงหลังจากที่ได้เห็นรายละเอียดในญัตติของนายสมชาย ที่เขียนด้วยลายมือและเสนอต่อเจ้าหน้าที่ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส. ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญไม่ให้อำนาจรัฐสภาวินิจฉัยว่า ร่างกฎหมาย หรือร่างรัฐธรรมนูญตกไปได้ เพราะหากมีประเด็นต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ดังนั้นญัตติที่เสนอให้ร่างรัฐธรรมนูญต้องตกไปนั้น หากไม่สามารถดำเนินการได้ไม่สามารถรับเป็นญัตติให้รัฐสภาพิจารณาได้ ขณะที่นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย อภิปรายสนับสนุนคำอภิปรายของนายสาทิตย์ พร้อมเสนอความเห็นว่ารัฐสภาไม่มีอำนาจลงมติให้ร่างรัฐธรรมนูญตกไปได้ ตามที่นายสมชาย เสนอและเป็นญัตติที่ไม่ชอบ ทั้งนี้นายชวน กล่าวว่าก่อนการประชุมได้หารือกับฝ่ายกฎหมาย หากมีปัญหาเกี่ยวกับความไม่ชัดเจนว่าประเด็นใดทำได้หรือไม่ นั้น ที่ประชุมรัฐสภาต้องตัดสิน บรรจุวาระด่วนเพื่อลงมติ หากลงมติต้องลงมติ ซึ่งตนเตรียมดำเนินการแล้ว อย่างไรก็ดีได้ให้สมาชิกรัฐสภาที่แสดงสิทธิอภิปรายได้อภิปรายต่อไป