มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รับมอบทุนสนับสนุนการวิจัย 10 ล้านบาทเพื่อปรับปรุงพันธุ์กัญชงที่เหมาะสมกับประเทศไทยและให้ดอกที่มีสาร CBD สูงสุด พร้อมสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านกัญชงและสมุนไพร
เมื่อวันที่ 16 มี.ค. ที่อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานในพิธีรับมอบทุนสนับสนุนการวิจัย เพื่อปรับปรุงสายพันธุ์กัญชงที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย สามารถให้ดอกที่มีปริมาณสาร Cannabinoid : CBD สูงสุด และเพื่อร่วมสนับสนุนโครงการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศกัญชงและสมุนไพร ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม โดยนายชนินทร์ เฮ้งเจริญสุข กรรมการผู้จัดการบริษัท หนองคายเพาเวอร์ดริ๊งก์ (เครื่องดื่มดับเบิ้ลซี) จำกัด บริษัท โกลกรีน เวลเนส กรุ๊ป จำกัด พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร มีความประสงค์มอบทุนสนับสนุนการวิจัย ดังกล่าวจำนวน 10 ล้านบาท ให้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อมอบให้นักวิจัย ประกอบด้วย ศาสตราจารย์ ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิเชษฐ อนุรักษ์อุดม และคณะห้องปฏิบัติการวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ดำเนินการวิจัยตามวัตถุประสงค์ต่อไป ซึ่งนับว่าตอบโจทย์ในด้านการวิจัย การบริการวิชาการแก่ภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการที่ต้องการนำกัญชงไปใช้ในเชิงพาณิชย์ หรือ อุตสาหกรรมทางการแพทย์ โอกาสนี้ ผศ.ดร.นิคม แหลมสัก รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและกิจการเพื่อสังคม รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและกิจการเพื่อสังคม เข้าร่วมในพิธีรับมอบด้วย
ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีความยินดีและขอขอบคุณภาคเอกชนที่มอบทุนสนับสนุนการวิจัย มหาวิทยาลัยพร้อมช่วยเหลือและสนับสนุนการทำงานวิจัยอย่างเต็มที่ด้วยศักยภาพของนักวิจัยมก.ทีมงานนิสิตปริญญาโท-เอก และบุคลากรห้องปฏิบัติการวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
“ผมมีความเชื่อมั่นในงานวิจัย และผลิตภัณฑ์ต่างๆที่เกิดจากกัญชง ประเทศไทยมีนโยบายด้าน BCG อย่างแข็งแรง และการวิจัยเพื่อปรับปรุงสายพันธุ์กัญชงที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย สามารถให้ดอกที่มีปริมาณสาร Cannabinoid : CBD สูงสุด นั้น ได้ตอบโจทย์นโยบาย BCG ของประเทศโดยตรง ผมคิดว่าแบรนด์การเกษตรของประเทศไทยแข็งแรง เป็นที่ยอมรับทั่วโลกโดยเฉพาะในเขตร้อน ประเทศไทยของเรามีชื่อเสียงมากและเราซึ่งเป็นนักวิจัยก็ต้องร่วมมือกันช่วยเหลือและสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมอย่างเต็มที่”
ด้านรศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและกิจการเพื่อสังคม หนึ่งในนักวิจัยห้องปฏิบัติการวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กล่าวว่า สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ กฎกระทรวง เรื่องการขออนุญาตและการอนุญาต ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษ ในประเภท 5 เฉพาะกัญชง พ.ศ.2563 โดยให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ตามภารกิจของหน่วยงานรัฐ ใช้ประโยชน์จากเส้นใยตามประเพณี วัฒนธรรม วิถีชีวิต และใช้ในครอบครัวเท่านั้น ปลูกได้ครอบครัวละไม่เกิน 1 ไร่ และเพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ หรืออุตสาหกรรม ทางการแพทย์ การศึกษา วิเคราะห์ วิจัย หรือปรับปรุงพันธุ์ เพื่อประโยชน์ในการผลิตเมล็ดพันธุ์รับรอง ซึ่งเป็นการปลดล็อกกัญชงในวงกว้าง โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2564 แล้วนั้น
และด้วยเหตุที่ประเทศไทยมีพันธุ์กัญชงที่ได้รับรองพันธุ์ เพียงแค่ 4 สายพันธุ์คือ RPF1-4 และใน 4 สายพันธุ์นี้ ยังไม่มีสายพันธุ์ใดที่เหมาะสมที่จะปลูกเพื่อนำดอกกัญชง ไปผลิตสารสำคัญเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของนักวิจัยปรับปรุงพันธุ์ที่จะต้องหาทางปรับปรุงพันธุ์ด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้ได้พันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย สามารถให้ดอกที่มีปริมาณสาร Cannabinoid : CBD สูงสุด