กรมชลประทาน เดินหน้าเพิ่มพื้นที่ชลประทานและพัฒนาแหล่งน้ำ หวังแก้ปัญหาภัยแล้ง/น้ำท่วมซ้ำซากอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 16 มี.ค. ที่ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ (สว.) รัฐสภา ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เข้าร่วมประชุมกับคณะอนุกรรมาธิการติดตามมติของวุฒิสภา เพื่อติดตามความคืบหน้าผลการดำเนินงานตามกระทู้ถามของสมาชิกวุฒิสภา เกี่ยวกับนโยบายการแก้ไขปัญหาภัยแล้งซ้ำซากอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างเป็นระบบและการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทานว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ชลประทานประมาณ 34.76 ล้านไร่ เก็บกักน้ำได้ทั้งประเทศกว่า 82,700 ล้าน ลบ.ม. โดยได้วางแผนพัฒนาพื้นที่ชลประทานและเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำภายใต้ยุทธศาสตร์กรมชลประทาน 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้มากกว่า 17.94 ล้านไร่ รวมทั้งการเพิ่มปริมาณการเก็บกักน้ำได้เพิ่มอีกกว่า 13,200 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งในปี 2564 มีแผนการเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 0.2695 ล้านไร่ ปริมาณน้ำเก็บกักเพิ่ม 96.88 ล้าน ลบ.ม. สำหรับสถานการณ์น้ำ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเก็บกักทั้งประเทศ 40,168 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 52 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 16,126 ล้าน ลบ.ม. ทั้งประเทศมีการใช้น้ำไปแล้ว 12,374 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 65 ของแผนฯ ส่วนในพื้นที่ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำเก็บกักรวมกัน 9,816 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 39 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 3,120 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำไปแล้ว 3,622 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 72 ของแผนฯ ในส่วนของการควบคุมค่าความเค็มในลุ่มน้ำเจ้าพระยา กรมชลประทานได้ร่วมมือกับการประปานครหลวง ดำเนินงานปฏิบัติการ Water Hammer Operation เป็นการเพิ่มปริมาณน้ำจืด เพื่อนำมาใช้ผลักดันและเจือจางค่าความเค็มบริเวณสถานีสูบน้ำสำแล โดยกำหนดให้หยุดสูบเป็นเวลา 2 ชั่วโมง ในช่วงเวลาน้ำลง เพื่อจะได้มีปริมาณน้ำจืดที่มากพอสำหรับผลักดันลิ่มความเค็มให้เคลื่อนตัวออกไปไกลจากสถานีสูบน้ำสำแล ประกอบกับการปิด-เปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ และการสูบน้ำ ซึ่งได้ดำเนินการตามช่วงเวลาที่เหมาะสมตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เนื่องจากมีปริมาณน้ำจืดน้อย การที่จะนำมาดันน้ำเค็มตลอดเวลา อาจมีไม่เพียงพอจึงต้องใช้กระบวนการดังกล่าวร่วมด้วย การควบคุมค่าความเค็ม ระดับความเค็ม หรือปัจจัยต่างๆ ในการผลิตน้ำประปา ในแต่ละพื้นที่จะไม่เท่ากันเนื่องจากบางพื้นที่อาจมีแหล่งน้ำจืดมาช่วยเจือจางที่แตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องควบคุมค่าความเค็ม ของแต่ละพื้นที่ตามเกณฑ์ที่กำหนดอย่างเข้มงวด กรมชลประทาน ได้เตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ ประจำในพื้นที่ชลประทานต่างๆ ทั่วประเทศ รวม 5,939 หน่วย ตามข้อสั่งการของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ที่พร้อมจะเข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ในทันที อีกทั้งได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขและบรรเทาวิกฤติภัยแล้ง เพื่อความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการน้ำในแต่ละพื้นที่ โดยมุ่งหวังให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอทั่วถึงและเป็นธรรม