ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมสัตว์น้ำชายฝั่งสงขลา เตือนเกษตรกรที่เลี้ยงปลาในกระชังในช่วงหน้าร้อน เสี่ยงปลาตายยกกระชัง เหตุจากการขาดออกซิเจนในน้ำ แนะควรลดความหนาแน่นของปลาในกระชัง ลดปริมาณอาหารปลาให้น้อยลง รวมทั้งกำจัดสาหร่ายในกระชังเพื่อให้น้ำมีการไหลหมุนเวียน จะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องปลาตายได้
นายมาวิทย์ อัศวอารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมสัตว์น้ำชายฝั่งสงขลา เตือนเกษตรกรที่เลี้ยงปลาในกระชังช่วงหน้าร้อน ว่า สำหรับการเลี้ยงปลาหน้าร้อนในกระชัง ลักษณะทั่วไปหน้าร้อนอุณหภูมิจะสูงขึ้น ระดับน้ำจะต่ำกว่าปรกติ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ต้องทำก็คือ ระมัดระวังระดับน้ำในกระชัง เนื่องจากเป็นปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่เราควบคุมไม่ได้ อาจจะต้องควบคุมเรื่องสัตว์น้ำ โดยลดจำนวนความหนาแน่นของปลาที่อยู่ในกระชัง ถ้ามีขนาดที่จับขายได้ให้รีบจับขายเสียก่อน จะได้ลดความหนาแน่น และเรื่องอาหารระมัดระวังในการให้อาหารอย่าให้อาหารเหลือมากเกินไป โดยเฉพาะอาหารสด เพราะอุณหภูมิหน้าร้อนจะทำให้อาหารเน่าเสียได้ง่าย ถ้าหลีกเลี่ยงได้ก็ควรหลีกเลี่ยงเพราะจะเน่าเสียได้ง่ายกว่าอาหารสำเร็จรูป
ส่วนเรื่องความสะอาดของกระชัง หน้าร้อนสาหร่ายพืชน้ำอาจจะโตได้เร็วขึ้นมันก็จะแย่งใช้อากาศในแหล่งน้ำ และมีผลต่อการใช้ออกซิเจนของปลาในกระชัง อาจทำให้เกิดปลาตายได้อีก ดังนั้น ถ้ากระชังอุดตันก็ให้ทำความสะอาดกระชัง เพื่อให้น้ำไหลผ่านกระชังได้สะดวก ส่วนเรื่องโรคมันมีทุกฤดูกาลแต่มันก็สลับสับเปลี่ยนไป สิ่งที่ทำได้ต้องเฝ้าระวังสังเกตอาการถ้าปลามีอาการผิดปรกติแล้ว ให้เอาตัวที่ผิดปรกติส่งตรวจดูว่า มีพาราไซด์หรือโรคที่จะเกิดขึ้นบ้างไหม หลังจากนั้นก็จะต้องช่วยป้องกันโดยช่วยเสริมวิตามินซีในอาหารเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันของปลาซึ่งหากเกษตรกรที่เลี้ยงปลากะพงขาวในกระชังถือปฏิบัติได้ตามนี้ ก็จะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องปลาตายได้
ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมสัตว์น้ำชายฝั่งสงขลา กล่าวเพิ่มเติมว่า สรุปแนวทางในการเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชังในช่วงหน้าร้อน เรื่องเกี่ยวกับการทำความสะอาดกระชัง จำกัดปริมาณการให้อาหาร ไม่จำเป็นต้องให้เยอะหรือให้ทุกวัน อาจจะต้องให้วันเว้นวัน รวมทั้งความสดของอาหาร ก็จะเป็นแนวทางที่จะช่วยป้องกันในเรื่องของโรคที่จะเกิดขึ้นกับปลาที่เราเลี้ยง สุดท้ายก็คือเรื่องความหนาแน่นของปลาที่เราเลี้ยง อย่าเลี้ยงปลาแน่นเกินไปและทยอยจับขึ้นมาขาย