กรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำฤดูแล้งช่วงสุดท้าย เดินหน้าช่วยเหลือพื้นที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค พร้อมเตรียมรับมือฤดูน้ำหลาก เร่งกำจัดผักตบชวาและวัชพืช ตามนโยบายรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 15 มี.ค. ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ปัจจุบัน (15 มี.ค.64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 39,995 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 53 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 16,065 ล้าน ลบ.ม. จนถึงขณะนี้ทั้งประเทศมีการใช้น้ำไปแล้ว 12,258 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 65 ของแผนฯ เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 9,845 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 40 ของความจุอ่างฯรวมกัน ปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 3,149 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำไปแล้ว 3,588 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 72 ของแผนฯ ทั้งนี้ ฤดูแล้งยังคงเหลืออีกประมาณ 1 เดือนเศษ ได้กำชับให้ทุกโครงการชลประทาน บริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน เน้นน้ำอุปโภคบริโภคต้องเพียงพอไม่ขาดแคลน รวมทั้งให้สำรวจจุดเสี่ยงขาดแคลนน้ำ พร้อมนำเครื่องจักรเครื่องมือเข้าดำเนินการช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาได้ทันที สำหรับการเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำหลากในช่วงฤดูฝนหน้าที่กำลังจะมาถึงนี้ ได้สั่งการให้ทุกโครงการชลประทานเฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมและสอดคล้องกับสถานการณ์ รวมไปถึงการตรวจสอบอาคารชลประทาน ประตูระบายน้ำต่างๆ ให้มีความพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ และกำหนดเจ้าหน้าที่ประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแจ้งเตือนประชาชน ตลอดจนเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องมือ เข้าไปประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานเร่งกำจัดวัชพืช สิ่งกีดขวางทางน้ำ และเร่งขุดลอกคลองหรือแก้มลิงให้แล้วเสร็จ ตามข้อสั่งการของ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน และตามนโยบายของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งนี้ ยังได้จัดทำและติดตั้งป้ายแสดงชื่อและเบอร์โทรศัพท์ของผู้รับผิดชอบ ในการกำจัดผักตบชวาและวัชพืชไว้ที่อาคารชลประทานหรือทางน้ำชลประทาน ที่มีความเสี่ยงต่อการสะสมของผักตบชวา เพื่อให้ประชาชนที่พบเห็น สามารถแจ้งให้หน่วยงานชลประทานในพื้นที่เข้าไปทำการจัดเก็บได้ตลอดเวลา